xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 1 ปี ไฟไหม้ วิน โพรเสส ... หลุมดำปัญหากากอุตสาหกรรม EP.2 หลุมดำความเสียหาย 1.7 พันล้าน “ไม่มี จนท.รัฐ” ผิด แม้แต่คนเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

อ่านประกอบ EP 1 “ไม่มีเงิน” หลุมดำที่กระทรวงอุตฯ ยังหาทางออกไม่เจอ

“ตึก สตง.ถล่ม ยังมีความพยายามสอบสวนประเด็นการทุจริตเลย ... วิน โพรเสส สร้างความเสียหายร้ายแรงไม่แพ้กัน และทุกกระบวนการที่โรงงานทำก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ ทำไมไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐบ้างเลย”

1,700 ล้านบาท คือ มูลค่าความเสียหายที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยและฟื้นฟูให้กับสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานในคดีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องร้อง และนั่นเป็นจำนวนเงินที่ “สนิท มณีศรี ชาวชุมชนหนองพะวา” ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายของโรงงานแห่งนี้ มองว่า เป็นความเสียหาที่ควรต้องมีผู้รับผิดชอบมากกว่า วิน โพรเสส ... เพราะมีข้อมูลและหลักฐานที่พิสูจน์ได้มากมายว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” มีพฤติกรรมที่น่าจะเข้าข่าย “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” จนทำให้ความเสียหายจากโรงงานลุกลามบานปลาย

ตัวอย่างที่ 1 ... วันที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง ไปเข้าแจ้งความ วิน โพรเสส ฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ... เกิดขึ้นหลังจากเรื่องนี้กลายเป็นข่าวในสื่อมวลชน ทั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนประเด็นเดียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว 6 เดือน ... เจ้าหน้าที่อ้างว่า ต้องรอโรงงานนำใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายมาแสดง ทั้งที่เขาสามารถไปตรวจสอบมันทีได้ในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงาน

ภาพเมื่อปี 2563

ภาพเมื่อปี 2563

ภาพเมื่อปี 2563
ตัวอย่างที่ 2 ... ทุกครั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากโรงงาน เมื่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง เข้าไปตรวจสอบโรงงาน จะออกมาพร้อมคำสั่งว่า “ได้สั่งให้โรงงาน ปิด ปรับปรุงชั่วคราว” ไปแล้ว แต่ผลกระทบก็ยังอยู่ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปในโรงงานบ้าง จึงรู้ว่า วิน โพรเสส ไม่มีเครื่องจักรในโรงงานแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่การลักลอบนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้ง ... จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า คำสั่ง “ปิด ปรับปรุง” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ... คือ สั่งให้โรงงานปรับปรุงอะไร ?? ... และวิธีการที่โรงงานจะปฏิบัติได้ตามคำสั่งนี้ ต้องทำอย่างไร ??

ตัวอย่างที่ 3 ... ในระบบตรวจสอบการขนย้ายของเสียอันตรายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะมีขั้นตอนที่รัดกุมเพื่อให้แน่ใจว่า ของเสียอันตรายถูกนำออกจากโรงงานต้นทางไปถึงโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสียอย่างครบถ้วนแน่นอน โดยรถขนส่งทุกคันจะต้องเป็นรถที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานฯ ติดตั้ง GPS ระบุตำแหน่งของรถ ไม่สามารถออกนอกเส้นทางได้ ไม่สามารถจอดแวะระหว่างทางได้ และตำแหน่งของรถทุกคันจะไปแสดงอยู่บนจอขนาดใหญ่ที่กรมโรงงานฯ ... แต่ที่ วิน โพรเสส มีรถบรรทุกของบริษัทต่างๆ ของกากของเสียอันตรายเข้ามาเกือบทุกวัน นำของลงจอดทิ้งเป็นเวลานาน เมื่อสื่อมวลชนมาสอบถามว่าทำไมถึงทำได้ อุตสาหกรรม จ.ระยอง กลับอธิบายเพียงว่า เป็นการมาจอดพักระหว่างทาง

ภาพเมื่อปี 2563

ภาพเมื่อปี 2563
นั่นเป็นตัวอย่างที่ สนิท มณีศรี เห็นว่า น่าจะชัดเจนเพียงพอที่หน่วยงานต้นสังกัด คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ควรจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน “อุตสาหกรรม จ.ระยอง” ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ... ใช่หรือไม่ ... เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า พฤติกรรมเช่นนี้ เข้าข่าย “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” หรือ “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ... แต่แม้จะเกิดความเสียหายมากมาย กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกสอบสวนเลย

“แม้กระทั่งช่วงที่มีคำสัง อายัดของไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า โรงงานถูกสั่งลงโทษแล้วและมีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายของเสียเหล่านั้นโดยเด็ดขาดไปแล้ว ... ชาวบ้านก็ยังเห็นว่า ของมันถูกเคลื่อนย้ายอยู่เรื่อยๆ และพอเข้าที่ประชุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมก็รายงานปริมาณของในโรงงานไม่เคยตรงกันเลยสักครั้ง ... แบบนี้เรียกว่าอายัดได้ยังไง”






สนิท ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมในโรงงานวิน โพรเสส ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางและในท้องถิ่นอยู่ในที่ประชุมด้วย

“เราเห็นว่าในระหว่างที่ของถูกอายัดอยู่ กลับยังมีรถขนของวิ่งเข้าวิ่งออกที่โรงงาน ชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจกลัวจะมีความพยายามแอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย ... ผมก็พูดในที่ประชุมเลยว่าทำไมหน่วยงานรัฐไม่ขอให้โรงงานแสดงบัญชีการนำเข้า-นำออก ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เพื่อจะได้รู้ว่า มีของอะไรบ้างอยู่ในโรงงานในปริมาณเท่าใดบ้าง ... ปรากฎว่า คนของโรงงานพูดขึ้นมาว่า ไม่สามารถแสดงบัญชีการขนย้ายได้ เพราะมีของเสียเยอะมาก ... ผมก็ถามจี้ว่า มีของเสียเท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่หน่วยงานควรจะรู้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ... แต่นี่ไม่รู้ และอายัดของโดยไม่จัดทำบัญชีของเสียขึ้นใหม่ด้วย ... โรงงานตอบมาแบบนี้ ก็ยังไม่ทำอะไร”

“เมื่อเป็นแบบนี้ จะไม่ให้ชาวบ้านอย่างคิดว่าเจ้าหน้ารัฐช่วยเหลือโรงงานได้อย่างไร ... เราก็อยากพิสูจน์ว่าจริงมั้ย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ควรเปิดให้เกิดกระบวนการสอบสวนอย่างจริงจังเสียที”
สนิท ยื่นข้อเสนอ






สำหรับสนิท และแกนนำชาวชุมชนหนองพะวาอีกหลายคนที่ยืนหยัดต่อสู้กับโรงงาน วิน โพรเสส มามากกว่า 10 ปี ต่างมีความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปในการต่อสู้ของพวกเขามี 2 แนวทาง คือ การสู้เพื่อทำให้ชาวหนองพะวาได้กลับมาใช้ชีวิตปกติที่ไม่มีการปนเปื้อนของกากอุตสาหกรรมให้ได้ ... และสู้เพื่อทำให้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญ เป็นต้นแบบที่จะไม่ไปเกิดกับพื้นที่อื่นต่อไป

“เราคุยกันบ่อยๆ ว่า เราไม่ต้องการให้มีที่อื่นต้องมาได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมเหมือนบ้านเรา ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราจะช่วยทำ หรือพูดเพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกันการเกิดซ้ำ หรือสนับสนุนการต่อสู้ของพื้นที่อื่นได้ เราก็ยินดีจะทำทันทีครับ”

“แน่นอนว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เราเชื่อว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้กับที่อื่นได้ คือ เราต้องชี้ให้เห็นว่า ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นกับหนองพะวา ... ไม่ได้เกิดจากโรงงานแย่ๆ ที่ไม่รับผิดชอบเท่านั้น ... แต่มันยังเกิดจากการอนุญาตแย่ๆ การกำกับดูแลแย่ๆ ด้วย และรัฐเองก็ควรทำให้เกิดความกระจ่างด้วยว่า เรื่องแย่ๆ ที่เป็นหลุมดำใหญ่ขนาดนี้ ... เป็นเพียงความบกพร่อง หรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์กันแน่”

“พอเจ้าของโรงงานเสียชีวิตไปแล้ว ... มันก็ไม่ใช่ว่าจะโยนความผิดทุกอย่างไปที่เขาหมดเลย ... ความผิดของคนที่ปล่อยให้เขาทำผิดได้ ก็ควรจะถูกตีแผ่ออกมาด้วยมิใช่หรือ ... อย่าว่าแต่จะเอาผิดเลย แค่ความพยายามที่จะสืบสวนหาความจริง ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยครับ” สนิท ทิ้งท้าย

นอกจากจำนวนเงิน 1.7 พันล้านบาท ที่กรมควบคุมมลพิษชนะคดีแล้ว ยังมีจำนวนเงินอีก 20.8 ล้านบาท ที่ชาวหนองพะวา 15 คน ชนะคดีต่อ วิน โพรเสส แต่ก็ยังไม่มีใครได้เงินจากคดีเหล่านี้แม้แต่บาทเดียว เพราะโรงงานอ้างว่าไม่มีเงิน ... ส่วนการนำของเสียอันตรายในโรงงานออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ถูกประเมินไว้ว่าจะต้องใช้เงินมหาศาล โดยกระทรงอุตสาหกรรมเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีไปตั้งแต่ประมาณ 1 ปีที่แล้ว เป็นเงินถึง 397 ล้านบาท แต่ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “ไม่มีเงิน” คือ หลุมดำสำคัญในการแก้ปัญหานี้

และเมื่อถามว่า ในกระบวนการการต่อสู้กับ วิน โพรเสส ได้นำข้อสังเกตเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ ... คำตอบก็คือ “ไม่ได้ทำ” ... เพราะเหตุผลที่เป็นอีกหนึ่ง “หลุมดำ” 

ติดตามใน ... ครบรอบ 1 ปี ไฟไหม้ วิน โพรเสส หลุมดำปัญหากากอุตสาหกรรม EP.3






กำลังโหลดความคิดเห็น