xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 1 ปี ไฟไหม้ วิน โพรเสส ... หลุมดำปัญหากากอุตสาหกรรม EP.1 “ไม่มีเงิน” หลุมดำที่กระทรวงอุตฯ ยังหาทางออกไม่เจอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ตอนนี้ผมก็มานั่งอยู่ตรงจุดที่ไฟไหม้คนเดียว กำลังคิดว่า เรายังจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกหรือ จะต้องถ่ายวิดีโอมั้ย ลงคลิปมั้ย ... ต้องทำยังไงมันถึงจะจบ”

สนิท มณีศรี ชาวชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นแกนนำต่อต้าน โรงงาน วิน โพรเสส มาตั้งแต่เริ่มพบการลักลอบขนย้ายกากอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ใช้เวลาในวันที่ 22 เมษายน 2568 ด้วยการไปนั่งครุ่นคิดอยู่คนเดียว ในจุดเดียวกันกับที่เขาเป็นคนแรกที่เข้าไปถ่ายคลิปจุดที่ไฟเริ่มไหม้โรงงานแห่งนี้เมื่อวันเดียวกันของปี 2567

*******






โรงงานวิน โพรเสส ซึ่งถูกมองว่าเป็นโรงงานรีไซเคิล (แต่ไม่ได้เป็นโรงงานประเภทใดเลย) ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554 โดยไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ถูกชาวบ้านจับได้ว่านำกากของเสียอันตรายมาแอบฝังกลบในโรงงานเมื่อปี 2557 แต่แม้จะทำความผิดร้ายแรง วิน โพรเสส กลับได้ใบอนุญาต 2 ใบ ตั้งเป็นโรงงานบดอัดกระดาษ และโรงงานหลอมโลหะเมื่อปี 2560 อย่างไม่น่าเชื่อ

หลังจากนั้น โรงงานแห่งนี้ซึ่งในภายหลังถูกพบว่าไม่มีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียว ก็ไม่เคยประกอบกิจการตามใบอนุญาตแม้แต่น้อย โดยสิ่งที่ชาวหนองพะวาพบ คือ มีรถบรรทุกขนกากของเสียอันตรายเข้ามาในโรงงานอย่างต่อเนื่อง จนพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สวนยางพารา 36 ไร่ ที่อยู่ติดกับโรงงานยืนต้นตาย และในที่สุดก็พบว่า “วิน โพรเสส” ไม่ได้เปิดโรงงานเพื่อประกอบกิจการ แต่ใช้สถานะความเป็นโรงงานปิดบังกิจกรรมที่แท้จริง นั่นคือ ใช้เป็นสถานที่ “ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย”

เมื่อความจริงปรากฎผ่านสื่อสารมวลชน โรงงานปิดตัวเองลง ชาวหนองพะวาร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกันฟ้องร้องจนชนะคดี ... แต่ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพก็ไม่เกิดขึ้น เพราะโรงงานอ้างว่า ไม่มีเงินในการกำจัดของเสียและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จนกระทั่งเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อ 22 เมษายน 2567 ... ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 13 ปีก่อน ยังไม่ลดลง และกลับรุนแรงขึ้นไปอีก ทั้งที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ต่อสู้จนเป็นผู้ชนะทั้งในทางกฎหมายและในทางความชอบธรรมทางสังคมแล้ว

และแม้ว่า ในวันนี้ นายโอภาส บุญจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทวืน โพรเสส จถูกดำเนินคดีอาญาและเสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ ... แต่ชาวหนองพะวา ก็มีหนึ่งสิ่งที่พวกเขายังไม่เคยได้รับ นั่นคือ “ความยุติธรรม”

******






“ต้องยอมรับว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังไฟไหม้ เราเพิ่งมาเห็นความพยายามแก้ปัญหาผลกระทบจากวิน โพรเสส อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมครับ แต่เราก็ยังตกอยู่ในวังวนปัญหาเดิมๆ คือ รัฐช่วยชาวบ้านไม่ได้เต็มที่ เพียงเพราะ ไม่มีเงิน”

ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมากที่สุดคนหนึ่ง สนิท ยอมรับว่า การที่นายเอกนัฏสามารถดำเนินการให้เกิดการขนย้ายกองอลูมิเนียมดอสจำนวนมหาศาลออกไปจาก วิน โพรเสส ได้ โดยใช้เงินเพียง 4.9 ล้านบาท ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญที่ช่วยทำให้ชาวหนองพะวามีความหวังขึ้นมาบ้าง

“เรารับรู้มาด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังพยายามขอเงินจากรัฐบาลอีกประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อมาจัดการกับ “ถังสารเคมี” ทั้งถังขนาด 200 และ 1,000 ลิตร ซึ่งอยู่ในสภาพที่เสี่ยงจะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีเพิ่ม ... แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ก็จะบอกว่า ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมยังต้องรอเงินอยู่เช่นนี้ อาจจะไม่ทันการณ์”

“ช่วงนี้อากาศมันร้อนมากครับ แล้วบางวันก็มีฝนตกตก ในขณะที่สภาพถังแทบทุกชิ้นมีร่องรอยปริ แตก บุบ เบี้ยว บางถังมีรอยรั่วแล้วด้วยซ้ำ เพราะเกือบทั้งหมดถูกนำมาทิ้งนานแล้ว วางไว้กลางแจ้งมาตลอด แถมได้รับผลกระทบจากไฟไหม้มาด้วย ... ชาวบ้านเราก็กังวลว่า ถ้ามีฝนตกมาในช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้ จะเกิดปฏิกริยาที่ทำให้สารเคมีในถังเหล่านี้รั่วไหลออกมาซ้ำเติมสถานการณ์อีก”

“เราจึงมองว่า การขนย้ายถังสารเคมีที่เห็นวางอยู่บนดินออกไปก่อน เป็นเรื่องด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรหาทางทำทันที ไม่ใช่มัวแต่รองบประมาณที่ไม่รู้ว่าได้เมื่อไหร่”
สนิทย้ำ






นอกจากความหวังว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยการขนย้ายกากของเสียอันตรายในวิน โพรเสส ออกไปจากหนองพะวาเสียที ... ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบและเป็นคนที่ต่อสู้กับโรงงานแห่งนี้มาตลอด สนิท มณีศรี ยังมีอีกหนึ่งความหวัง คือ เขาต้องการให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขา ไปส่งผลกระทบกับ “โครงสร้างของปัญหา” เพื่อไม่ให้ไปเกิดขึ้นที่อื่นได้อีก และหนึ่งในสิ่งที่เขาหวังจะเห็นก็คือ การดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น .... เพราะนี่เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบให้ชาวบ้านและประเทศต้องแบกรับอย่างรุนแรงมาก แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบเลยแม้แต่คนเดียว

“ตึก สตง.ถล่ม ยังมีความพยายามสอบสวนประเด็นการทุจริตเลย ... วิน โพรเสส สร้างความเสียหายร้ายแรงไม่แพ้กัน และทุกกระบวนการที่โรงงานทำก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ ทำไมไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐบ้างเลย”

“หลักฐานและพฤติกรรมหลายอย่างมันชัดเจนนะครับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้ดำเนินการกับโรงงานอย่างจริงจัง ... ผมก็หวังให้หน่วยงานต้นสังกัด ลงโทษเจ้าหน้าที่ของตัวเองด้วย”
สนิท บอกสิ่งที่เขาอยากเห็น และเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรองบประมาณ

(โปรดติดตามใน EP.2)






กำลังโหลดความคิดเห็น