ผลตรวจเหล็กเส้นจากซากตึก สตง.28 ท่อน ออกแล้ว พบได้มาตรฐาน 26 ท่อน ไม่ได้มาตรฐาน 2 ท่อน แต่ยังไม่เปิดเผยเป็นของบริษัทใดบ้าง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบขั้นต่อไป และยังไม่ปรักปรำบริษัทใด แต่ทั้งหมดที่เก็บไปตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อ “ซินเคอหยวน” จากจีน 18 ท่อน ที่เหลือเป็นของ TATA และ TYS
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เมื่อเวลาประมาณ 18.45 น. นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังร่วมกับ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้แถลงผลการนำตัวอย่างเหล็กเส้นจำนวน 28 ท่อน ที่เก็บจากซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่พังถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.จากเหตุแผ่นดินไหว มาตรวจสอบคุณภาพที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่
หลังจากใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเศษในการตรวจสอบเหล็กทุกท่อนพบว่ามีทั้งเป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยได้มาตรฐาน 26 ท่อน ไม่ได้มาตรฐาน 2 ท่อน เนื่องจากรองรับแรงได้น้อยกว่ามาตรฐาน แต่ขอไม่ระบุว่าเป็นไซส์ไหน ไม่เช่นนั้นการสืบค้นต่อไปจะยากลำบากขึ้นในการเข้าพื้นที่เพื่อนำเหล็กออกมา เหมือนตอนที่เข้าเอาเหล็กเมื่อวาน หลังจากนี้จะเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมในพื้นที่ต่อไป
สำหรับการตรวจสอบคุณภาพเหล็กครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญ รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการวิศวกรรมโยธา และประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ นายณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมตรวจสอบ
สำหรับตัวอย่างเหล็กที่ส่งเข้ามาตรวจยังสถาบันเหล็กและเหล็กกล่าแห่งประเทศไทย มีจำนวนทั้งหมด 7 ประเภท จำนวน 28 เส้น ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวอย่างเหล็ก
1. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY
2. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY
3. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น ยี่ห้อ SKY
4. เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
5. เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น แบ่งเป็นยี่ห้อ SKY 2 เส้น TATA 4 เส้น TYS 1 เส้น
6. เหล็กเส้นกลม SR24 ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
7. ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น
โดยเป็นเหล็กจาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่าผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการตรวจสอบแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ แล้วตัดเป็นท่อนยาว 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตีให้แบน แล้วนำไปวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีในเหล็ก ส่วนที่สอง เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาวและชั่งน้ำหนัก แล้วนำไปคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่าเป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหล็กเส้นที่นำมาตรวจสอบทั้ง 28 เส้นนั้น เป็นยี่ห้อของ ซินเคอหยวน ถึง 18 เส้น ซึ่งโรงงานซินเคอหยวน ที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นั้นเคยถูกสั่งปิด 30 วัน หลังจากเกิดเหตุระเบิดจากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ในโรงงานเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 และถูกปรับเงิน 50,000 บาท
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2567 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของซินเคอหยวนใน จ.ระยอง ที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 และกำหนดเสร็จ 2569 ได้เกิดอุบัติเหตุปั้นจั่นหอสูงถล่มลงมาทับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่างเสียชีวิต 7 ราย และยังมีการเรียกร้องสิทธิการจ่ายเงินเยียวยาจากการเสียชีวิตดังกล่าว