xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหววิทยาสำหรับกรุงเทพฯ EP.2 : ไม่มีใครรู้แผ่นดินไหวล่วงหน้า แต่มีคนแจ้งเตือนได้ภายใน 15 วินาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ


อ่านประกอบ : แผ่นดินไหววิทยาสำหรับกรุงเทพฯ EP.1 : กทม.ยังมีข้อมูลไม่พอกำหนดมาตรฐานสร้างอาคารรับแผ่นดินไหว 

“SMS เตือนการเกิดแผ่นดินไหว จะมากี่โมง”

นั่นคือประเด็นสำคัญที่หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ถูกวิพากษ์อย่างมาก จากการเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ในเมียนมา แต่ส่งแรงสั่นสะเทือนจนรู้สึกได้ไปทั่วในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ประชาชนจำนวนมาก ต้องอพยพลงมาจากอาคารสูง ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในสภาพพื้นดินค่อนข้างอ่อน จนเกิดความโกลาหลไปทั่วทั้งเมือง เพราะประชาชนไม่ได้รับข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวโดยตรง และไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวในขั้นต่อไปอย่างไร

ผ่านมา 2 – 3 วัน การถกเถียงต่อการส่งข้อมูลแจ้งเตือนแผ่นดินไหวให้ประชาชน กลายเป็นเป็นประเด็นว่า หน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบกันแน่ ใครมีหน้าที่สรุปข้อความที่จะส่ง มีข้อติดขัดทางเทคนิคในการส่งอย่างไรบ้าง ... ไปจนถึงการที่ นายกรัฐมนตรี ถึงกับประกาศว่า เป็นคนผิดเอง เพราะไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องส่งข้อความว่าอะไร

********

“เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่สามารถคาดการณ์หรือทำนายล่วงหน้าได้”

“แต่ในหลายประเทศ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว เขาสามารถแจ้งข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลาง ไปยังพื้นที่ที่กำลังจะได้รับผลกระทบทราบข้อมูล ก่อนที่แรงสั่นสะเทือนจะเดินทางมาถึงได้ครับ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 15 วินาที หลังเกิดแผ่นดินไหว”

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา ให้ข้อมูลที่สำคัญมากต่อแนวทางการแจ้งเตือนประชาชนจากการเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเขายืนยันว่า แม้จะยังไม่มีใครสามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ในเทคโนโลยีของโลกยุคปัจจุบัน มีหลายประเทศที่สามารถแจ้งเตือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวไปแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ หรือพื้นที่ถัดไปจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว

“เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น มันจะมีคลื่นที่เกิดขึ้นอยู่ 2 ประเภทครับ ... “คลื่นขนาดเล็ก” เป็นคลื่นที่เดินทางได้เร็วกว่า แต่จะยังไม่สร้างผลกระทบใดๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีสถานีตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวอยู่เป็นจำนวนมาก เขาก็จะตรวจจับเจอคลื่นขนาดเล็กได้ก่อน ภายในเวลาประมาณ 5 วินาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกประมาณ 5 วินาทีเพื่อประมวลผลว่า “คลื่นขนาดใหญ่” ที่เดินทางได้ช้ากว่า จะมีความรุนแรงขนาดไหน ... และจะใช้อีก 5 วินาทีเท่านั้น เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังเมืองที่อยู่ถัดไปหรือเมืองสำคัญต่างๆ ให้เตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น”

“ยกตัวอย่าง เช่น เกิดแผ่นดินไหวในทะเลใกล้กับประเทศญี่ปุ่น และจะมีแรงสั่นสะเทือนส่งไปถึงกรุงโตเกียว เมื่อสถานีตรวจวัดจับคลื่นขนาดเล็กได้ เขาจะประมวลผลขนาดและแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่จะเกิดกับกรุงโตเกียว และส่งข้อความแจ้งเตือนไปที่คนที่อาศัยอยู่ในโตเกียวภายใน 15 วินาที เมื่อได้รับข้อความเตือนแล้ว กิจกรรมที่มีความเสี่ยงทุกอย่างก็จะถูกหยุดลงชั่วคราว เช่น รถไฟชินกันเซนหยุดวิ่ง คนเข้าไปหลบในที่ปลอดภัย และรอจนกว่าคลื่นแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่นั้นจะผ่านไป” ดร.ไพบูลย์ ยกตัวอย่าง ซึ่งใช้อยู่จริงๆ ในประเทศญี่ปุ่น

ระบบนี้มีชื่อเรียกว่า Earthquake Early Warning System เป็นระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อนคลื่นใหญ่จะมาถึง ซึ่งแม้จะไม่สามารถแจ้งเตือนในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ก็ช่วยลดความสูญเสียให้พื้นที่อื่นๆ ได้ และประเทศไทย ก็อยู่ในข่ายของการเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลต่อเนื่องจากแผ่นดินไหวที่อยู่ไกลเช่นกัน

แม้นักแผ่นดินไหววิทยา จะยืนยันว่า Earthquake Early Warning System เป็นระบบที่ทำได้จริงและมีตัวอย่างที่สามารถเรียนรู้ได้จากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เม็กซิโก แคนาดา และตุรกี แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ทันทีในประเทศไทย เพราะไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ในจำนวนที่มากพอ รวมทั้งยังมีสถานีตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวน้อยเกินไป

“ถ้าจะพูดเรื่องระบบการเตือนภัยหลังเกิดแผ่นดินไหวให้เร็ว อันดับแรกเลย ประเทศไทยจะต้องเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวอีกเป็นจำนวนมากก่อน จึงจะเพียงพอต่อการตรวจจับเจอคลื่นขนาดเล็กหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ และยังควรต้องตั้งสถานีเพิ่มในจุดที่เรามีรอยเลื่อนซึ่งเสี่ยงจะเกิดแผ่นดินไหวไว้ในทุกจุดด้วย”

“อันดับที่สอง เราต้องทั้งระดมและสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในการอ่านและแปลผลคลื่นแผ่นดินไหวได้ รวมทั้งต้องลงทุนกับการนำ AI มาช่วยในระบบนี้ด้วย เพราะในปัจจุบัน เรายังมีคนที่มีองค์ความรู้ในเรื่องแผ่นดินไหวน้อยเกินไป ... ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการจะพัฒนาระบบเตือนภัย ก็ควรระดมเรียกตัวผู้เชี่ยวชาญในไทยมาหารือร่วมกัน และคนเหล่านี้ก็มีช่องทางประสานกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศอยู่แล้วครับ”

หลังประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่มัณฑะเลย์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นอย่างมากในกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นเพียงผลกระทบที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนมาจากประเทศอื่นก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นว่า มีหลายจุดที่ประเทศไทยยังไม่พร้อมต่อการรับมือจากเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากขาดเครื่องมือในการเก็บข้อมูล จึงไม่สามารถมีแนวปฏิบัติที่จะส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปให้ประชาชนได้เลย แต่ในทางกลับกัน ดร.ไพบูลย์ มองว่า การได้เห็นปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น น่าจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลเปิดรับที่จะแสวงหาองค์ความรู้และลงทุนกับการรับมือแผ่นดินไหวมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น