xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหววิทยาสำหรับกรุงเทพฯ EP.1 : กทม.ยังมีข้อมูลไม่พอกำหนดมาตรฐานสร้างอาคารรับแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ไพบูลย์ นวลนิล
รายงานพิเศษ

เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เมืองมัณฑะเลย์ สหภาพเมียนมา เมื่อ 28 มี.ค. 2568 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งในทางกายภาพและในทางจิตใจมาถึง “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวถึงกว่า 1,100 กิโลเมตร นั่นเป็นเพราะเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมาอย่างน่ากลัว และมีคอนโดมีเนียมสูงหลายแห่งใน กทม. เกิดความเสียหายเป็นรอยร้าว รอยคอนกรีตแตกจนเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยหากจะอยู่อาศัยต่อไป และแน่นอนว่า กำลังจะส่งผลระยะยาวต่อธุรกิจคอนโดมีเนียมใน กทม. ด้วย

**********


“ก่อนจะไปเรื่องอื่น ขอตั้งข้อสังเกตก่อนว่า อาคารของ สตง. ที่ถล่มลงมา เป็นเพียงอาคารเดียวที่ถล่มใน กทม. จึงมีความ “ไม่ปกติ” แตกต่างจากอาคารอื่นอย่างแน่นอน เพราะอาคารอื่นที่ได้รับความเสียหายหายจากแรงสั่นสะเทือน แม้จะมีรอยแตกร้าว แต่ก็ไม่ถึงกับโครงสร้างเสียหาย ... ดังนั้น อาคาร สตง. ที่ถล่ม จึงต้องยกไปคุยกันในประเด็นวิศวกรรมการก่อสร้างมากกว่าเรื่องแผ่นดินไหวครับ จึงไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึงนี้”

“เราจะเห็นว่า คอนโดมีเนียมบางแห่งก็มีรอยแตกร้าวมาก ดูน่ากลัว และมักจะอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่บางแห่งที่อยู่ในอีกจุดหนึ่งก็ไม่มีความเสียหายเช่นเดียวกับคอนโดฯ อื่นในจุดนั้น นั่นเป็นเพราะแต่ละพื้นที่ต่างได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่เหมือนกันครับ”

“เกิดเผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เมียนมา ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ประเทศไทยจึงสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้เกือบทั่วประเทศ แต่การจะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้แค่ไหน หรือจะมีผลกระทบแค่ไหน ก็จะมีปัจจัยอื่นร่วมอยู่ด้วยครับ เช่น สภาพทางธรณีวิทยาของพื้นดินในแต่ละจุด .... ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ถ้าเราหาคำตอบนี้ได้ เราจะก็รับมือมันได้ครับ”

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการที่จบการศึกษาด้านแผ่นดินไหววิทยาโดยตรงหนึ่งเดียวของไทย อธิบายถึงผลกระทบของอาคารสูงที่ได้รับจากแผ่นดินไหวที่อาจจะมีผลต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากแผ่นดินไหว และความแข็งหรืออ่อนของพื้นดินในระหว่างที่ได้รับแรงสั่นสะเทือน

สิ่งที่ ดร.ไพบูลย์ กล่าวถึง คือ “แรงสั่นสะเทือน” ซึ่งต่างจาก “ขนาด” ของแผ่นดินไหว

นักแผ่นดินไหววิทยา อธิบายเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์คราวนี้ มีขนาด 7.7 MW ตามมาตรฐานสากลที่ USGS รายงาน .... ซึ่งคำว่า “ขนาด” หมายถึง แผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ... ส่วนคำว่า “แรงสั่นสะเทือน” คือ “การสั่นไหวของพื้นดินเมื่อได้รับคลื่นจากแผ่นดินไหว” ซึ่งแต่ละจุดจะรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวอย่างไร จะมีปัจจัยที่ไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งความใกล้หรือไกลจากจุดศูนย์กลาง และสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่

“อธิบายตามหลักวิชาการง่ายๆ ได้ว่า ถ้าอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าอยู่ไกล และจุดที่ดินอ่อนก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าจุดที่ดินแข็ง ... ถ้าดูจากผลกระทบต่ออาคารสูงที่เกิดขึ้นใน กทม. ซึ่งอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาก เราก็อาจจะพอบอกได้ว่า พื้นที่ที่อาคารสูงได้รับความเสียหายมากเช่น แถวสุขุมวิท เป็นจุดที่ดินอ่อนกว่า ... แต่น่าเสียดายว่า ใน กทม. เรายังมีสถานีตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไม่มากพอที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำมาใช้กำหนดเป็นมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีกว่าเดิม”

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำอธิบายของนักแผ่นดินไหววิทยา ก็คือ กทม. ยังไม่มีข้อมูล “แรงสั่นสะเทือนที่ต่างกัน” ของสภาพพื้นที่ที่ต่างกัน

“ในพื้นที่รอบ กทม.เรามีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอยู่ 5 สถานีครับ เป็นของกรมโยธาธิการ 2 สถานี อยู่ที่แถบพระราม 9 และถนนพระราม 6 เป็นของกรมอุตุนิยมวิทยา 2 สถานี ที่ปทุมธานี และท่าอากาศยานดอนเมือง อีก 1 สถานี อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ซึ่งยังถือว่ามีน้อยเกินไปที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ ... ผมคิดว่า พื้นที่ 50 เขตของ กทม. ควรจะมีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือนอย่างน้อยเขตละ 1 สถานี หรือควรจะมี 2 สถานีด้วย เพราะข้อมูลแรงสั่นสะเทือนที่แม่นยำ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการวางมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่จำเป็นต้องมีสำหรับเมืองใหญ่”

ดร.ไพบูลย์ ย้ำว่า การที่ภาครัฐมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงกฎหมายใหม่ที่ปรับมาตรฐานขึ้นไปอีกในปี 2564 ย่อมหมายความว่า หน่วยงานรัฐเอง ก็จะต้องมีข้อมูลว่า พื้นที่แต่ละจุดมีความสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากหรือน้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ กทม. จะยังไม่ได้ข้อมูลนี้จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่ผ่านมา เพราะมีสถานีตรวจวัดไม่มากพอ ... แต่เมื่อเราเห็นแล้วว่า อาคารสูงในแต่ละเขต ได้รับผลกระทบต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็อาจจะทำให้เราควรลงทุนกับการตั้งสถานีตรวจวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของ กทม. ในฐานะเมืองที่สำคัญของประเทศ

“ตอนนี้ เรายังไม่รู้ด้วยว่า ข้อบังคับที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดให้เป็นค่ามาตรฐานในการออกแบบการก่อสร้างอาคารสูงใน กทม. มีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ... เพราะเราไม่รู้ว่า อาคารแต่ละแห่ง กำลังจะก่อสร้างบนพื้นดินที่รับแรงสั่นสะเทือนได้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง การใช้มาตรฐานเดียวกันมาออกแบบในสภาพทางธรณีวิทยาที่ต่างกัน จึงไม่ใช่ค่าที่ถูกต้อง ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างอาคารสูงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามข้อกฎหมายในพื้นที่ กทม.ที่ผ่านมา เราจึงกำหนดค่ามาจากแบบจำลองเท่านั้น”


“การติดตั้งสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน 1 จุด ใช้เงินประมาณ 2 ล้านบาทครับ กทม. มี 50 เขต ตั้งเขตละ 1 สถานี ก็ใช้งบแค่ 100 ล้านบาท แต่มันจะทำให้ กทม. ได้ข้อมูลสภาพทางธรณีวิทยาของทุกพื้นที่อย่างแม่นยำ และจะทำให้ฝ่ายโยธาธิการ สามารถกำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารสูงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวของแต่ละจุดได้แบบละเอียด ซึ่งจะทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า อาคารสูงทั้งหมดใน กทม.จะปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหวจากระยะไกล ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุนในระยะยาวของ กทม. อย่างแน่นอน”

ดร.ไพบูลย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่น ลงทุนติดตั้งสถานีตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนมากถึง 3,000 จุด ทำให้มีข้อมูลที่ระบุได้แทบทุกตารางเมตรว่า จุดไหนมีสภาพทางธรณีวิทยาอย่างไร ควรจะออกแบบก่อสร้างอาคารอย่างไร

ดร.ไพบูลย์ แจ้งด้วยว่า ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนไว้มี่คอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งแถบถนนสุขุมวิทตั้งแต่ 1-2 ปี ที่ผ่านมา จึงจะเดินทางมาเก็บข้อมูลการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนในบริเวณถนนสุขุมวิทนำไปวิเคราะห์ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะทำให้ทราบได้ว่า สภาพทางธรณีวิทยาในบริเวณนั้นเป็นอย่างไรจึงมีอาคารร้าวหลายแห่ง

ส่วนประเด็น “การแจ้งเตือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวอย่างทันท่วงที” นักแผ่นดินไหววิทยาคนนี้ ยืนยันว่า .... มีรูปแบบการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว และทำให้ลดการสูญเสียได้อย่างมากในหลายประเทศ ติดตามใน ... แผ่นดินไหววิทยาสำหรับกรุงเทพฯ EP.2
กำลังโหลดความคิดเห็น