xs
xsm
sm
md
lg

ผศ. ดร.เอกราช DPU เปิดหลักสูตร ป.โท-ป.เอก "โภชนาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์" ดับที่เหตุแห่งโรค! เพราะการรักษาที่ดี ไม่ใช่แค่รักษาโรค แต่คือการรักษาสุขภาพ และป้องกันโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่ข้อมูลสุขภาพมีอยู่เต็มไปหมดราวกับซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดยักษ์ ทุกคนต่างกลายเป็นกูรูสุขภาพที่พร้อมแชร์เคล็ดลับและโฆษณาสรรพคุณที่จะช่วยยืด Healthspan หรือ "ช่วงชีวิตที่แข็งแรง" ได้จริง ดังนั้น “ความท้าทาย” ของการมีสุขภาพที่ดีในวันนี้ จึงไม่ขึ้นอยู่กับแค่สิ่งที่เรากิน แต่คือการรู้จัก “เลือกและกลั่นกรอง” ข้อมูลต่างๆ

และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแยกแยะความถูกต้อง และนำมาปรับใช้ได้จริง—คนแบบ "ผศ. ดร.เอกราช บำรุงพืชน์" หรือที่คนในวงการสุขภาพเรียกกันว่า "อาจารย์เอกราช ...เก่งทุกทาง" จากทักษะรอบด้านที่ครอบคลุมทั้งโภชนาการ งานวิจัย และการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปี อาจารย์เอกราชยังเป็นวิทยากรที่แปลแนวคิดสุขภาพซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง ซึ่งทำให้ชื่อเขากลายเป็นแหล่งอ้างอิงคนสำคัญที่ปรากฏในทุกแพลตฟอร์ม และได้รับความไว้วางใจจากองค์กรด้านสุขภาพและผู้ประกอบการกว่า 14 แห่งในการให้คำแนะนำปรึกษา

วันนี้ “ผศ.ดร.เอกราช” นอกจากเปิดหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก สาขาใหม่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ภายใต้ชื่อ “โภชนศาสตร์บูรณาการเชิงสมุทัยเวชศาสตร์” ในวิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ หรือ CIMw ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ต้นเหตุของโรคและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างยั่งยืนในชีวิตจริง หลักสูตรดังกล่าวยังเน้นการฝึกทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมสุขภาพและสังคมในอนาคตได้


จากเด็กเกรด 2 กว่าสู่เวทีวิจัยระดับโลก

"ผมไม่ได้เก่งทุกทางหรอกครับ" ผศ.ดร.เอกราช กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง แม้ชื่อเสียงของเขาจะทำให้ใครมองว่าเป็นนักโภชนาการระดับแถวหน้าของประเทศ แต่เขาปฏิเสธว่าเป็นเพียงแค่ความฉลาดกว้างและรู้ลึกในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง และเกิดขึ้นจากการมุ่งมั่น ทุ่มเทและเพียรพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของเขาเท่านั้น

โดยเส้นทางของอาจารย์เอกราช เริ่มต้นจากรั้วคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากสาขาอาหารและโภชนาการ ก่อนคว้าทุนเรียนต่อปริญญาเอกด้านโภชนาการเชิงทดลองและชีวเคมีโภชนาการ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และด้วยโอกาสพิเศษที่ได้รับทุนจากรัฐ ไปศึกษาวิจัยที่ Ohio State University และ University of North Carolina กว่า 2 ปีนี้ ทำให้เขาได้ศึกษาลงลึกถึงระดับโมเลกุลในองค์ความรู้ด้านโภชนาการ และเสริมสร้างรากฐานความเชี่ยวชาญให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“เหมือนกับแซนด์วิชโปรแกรม” เขา ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ ระหว่าง Nutrition กับ Anti-aging ทั้ง 2 ศาสตร์ที่สามารถเกื้อหนุนกันได้อย่างลงตัว และกลายจุดเริ่มต้นของการนำโภชนาการมาประยุกต์ใช้ในเชิงชะลอวัย หรือที่เรียกว่า Anti-aging Nutrition คนแรกๆ ของเมืองไทย หลังจากจบการศึกษา

อาจารย์เอกราช เล่าต่อว่า ในยุคนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่เขาก็เดินหน้าศึกษาวิจัย ค้นคว้า และบูรณาการองค์ความรู้เหล่านี้เข้าด้วยกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัยและแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เช่น ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ, ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย และ ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์

อย่างไรก็ตามเส้นทางวิชาการของ “อาจารย์เอกราช” ยังดำเนินมาอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นานกว่า 10 ปี และยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลักสูตร ป.โทวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพที่ DPU มาตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จนสุดท้ายได้ร่วมวางรากฐานหลักสูตรโภชนศาสตร์บูรณาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์ ซึ่งหากนับระยะเวลาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผลิตบัณฑิตคุณภาพรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนถึงปัจจุบันรุ่นที่ 14 แล้ว

ท่ามกลางรางวัลมากมายที่อาจารย์เอกราชได้รับ อาทิ รางวัลผลงานยอดเยี่ยมจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, รางวัลบุคลากรดีเด่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รางวัลนักวิจัยดีเด่น ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และล่าสุดกับ Health Influencer จากรางวัลชีวจิต Awards ในปี 2022


บุกเบิกศาสตร์ใหม่ ปฏิวัติแนวคิด ไม่ใช่แค่รักษาโรค

ผศ.ดร.เอกราช ย้ำว่า การดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบันไม่ควรหยุดเพียงการรักษาเมื่อป่วย แต่ควรมุ่งเน้นการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นเหตุ ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา อาจารย์จึงได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่ ป.โท-ป.เอก สาขา “โภชนศาสตร์บูรณาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์” ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการโภชนศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยแนวคิดที่ว่าการเข้าใจรากเหง้าหรือต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน

โดยแนวทางสำคัญของหลักสูตรนี้ คือการนำแนวคิด Functional Medicine หรือ สมุทัยเวชศาสตร์ มาวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการกิน ไลฟ์สไตล์ และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยไม่เพียงมุ่งเน้นการรักษาโรคที่ปลายเหตุ แต่สอนให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อป้องกันที่ต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สมุทัยเวชศาสตร์ คือการมองหาต้นเหตุของปัญหา แล้วจัดการอย่างยั่งยืน” อาจารย์เอกราชอธิบาย พร้อมเน้นว่า โรคเรื้อรังหลายชนิดมีความเกี่ยวข้องกับโภชนาการโดยตรง หลักสูตรนี้จึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้ แต่ยังเป็นการบูรณาการศาสตร์สุขภาพแบบองค์รวม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

สุขภาพที่ดีคือความมั่งคั่งที่แท้จริง

สุขภาพที่ดีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล แต่ยังส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ "หมอที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง โรงพยาบาลที่ดีที่สุดคือห้องครัวของเรา และยาที่ดีที่สุดคืออาหารที่เรากิน" ผศ. ดร.เอกรราช ระบุ พร้อมเน้นว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเลือกบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม คือกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี

หนึ่งในแนวทางสำคัญของ “การดูแลสุขภาพแบบบูรณาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์” คือ หลักการ “6 อ.” ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ ได้แก่ 1.อาหาร – เลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเหมาะสม 2.อารมณ์ – การดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ 3.อากาศ – หลีกเลี่ยงมลพิษ ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ 4.ออกกำลังกาย – เพิ่มความแข็งแรงและลดความเสี่ยงจากโรค 5.เอนหลังหลับนอน - การพักผ่อนอย่างมีคุณภาพและเพียงพอเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และ 6.โอบอ้อมอารี – การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม

นอกจากนี้ หลักสูตรยังครอบคลุมองค์ความรู้ในมิติทันสมัย เช่น โภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals), โภชนาการฟังก์ชั่นตามช่วงวัย, และ โภชนาการกับโรคเรื้อรัง ซึ่งมุ่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม โดยการเรียนการสอนจะช่วยผู้เรียนแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างตรงจุดถึงต้นตอของปัญหาอย่างบูรณาการ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์สูงสุด

“สุขภาพที่ดี คือความมั่งคั่งที่แท้จริง เพราะการป่วยไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แต่ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งเวชภัณฑ์และยารักษาโรค ของประเทศมหาศาล หากสามารถลดอัตราการป่วยด้วยโภชนาการและไลฟ์สไตล์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน”


ติดอาวุธทางความคิด เรียนจริงใช้ได้จริง

จุดเด่นของหลักสูตรที่ DPU ของ ผศ.ดร.เอกราช คือ การเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่ท่องจำ นักศึกษาจะได้ศึกษาแบบรู้ลึก รู้จริง จากผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ใน โภชนาการสมัยใหม่ อาทิเช่น โภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition) ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน อาหารแห่งอนาคต รวมถึงการใช้ AI และ Big Data ในการออกแบบแผนโภชนาการที่แม่นยำ

อีกทั้งยังเป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ โดยหลักสูตรนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผู้ที่ต้องการเชี่ยวชาญด้านโภชนาการเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ ผู้ที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรม เป็นผู้ประกอบการด้านสุขภาพ เช่น ธุรกิจอาหารเสริม อาหารฟังก์ชัน อาหารสุขภาพต่างๆ และ Wellness Industry ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญเพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ไป "บูรณาการเข้ากับธุรกิจของเขา" ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต, ผู้จำหน่าย หรือที่ปรึกษา ผศ. ดร.เอกราช ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมที่จะเป็นตัวกลางสร้าง Connection ในคลาสเรียน เพื่อให้เกิดไอเดียและธุรกิจใหม่ๆ หรือนำไปต่อยอดจากธุรกิจที่ทำอยู่

เปิดโอกาสทางธุรกิจในตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ 8 หมื่นล้าน แก่ผู้เรียน

"ทุกวันนี้อุตสาหกรรมสุขภาพโตขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่ขาดคือคนที่มีความรู้ลึก ทันสมัยในองค์ความรู้ และสามารถนำไปใช้ได้จริง" ผศ. ดร.เอกราช กล่าว

หลักสูตรโภชนศาสตร์บูรณาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์ของ DPU นี้จึงไม่ได้ตอบโจทย์แค่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังเหมาะกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้ที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมสุขภาพ ตั้งแต่การพัฒนาอาหารฟังก์ชั่น ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ พร้อมนวัตกรรมล้ำๆ

ศาสตร์ที่ไม่ตาย และไม่มีใครแย่งเราไปได้

แม้ปัจจุบัน ผศ. ดร.เอกราช จะเป็นอาจารย์ นักวิจัย และที่ปรึกษาด้านโภชนาการให้กับหลายองค์กร แต่เขายังมองว่าความรู้เป็นสิ่งที่ต้องส่งต่อ...ยิ่งให้ ยิ่งได้

“ตอนเด็ก ๆ ผมไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมมายืนตรงจุดนี้ได้คือ ความรู้ ผมเชื่อว่าความรู้คือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด อย่างที่โบราณว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน (ล้าน)....มิจฉาชีพอาจขโมยเงิน คุณไปได้ แต่ไม่มีใครขโมยความรู้ของคุณไปได้”

โดยเฉพาะความรู้ด้านโภชนาการเป็น “สมบัติที่ไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปได้” และเป็นศาสตร์ที่จะไม่มีวันตาย เพราะอาหาร คือ หนึ่งในปัจจัย 4 การมีความรู้ในด้านนี้จึงเป็นการ “ลงทุนเพื่ออนาคต” ที่แท้จริง ทั้งในด้านสุขภาพและโอกาสทางธุรกิจ

"อุปสรรคที่ขัดขวางความรู้แจ้งของเราในวันพรุ่งนี้ คือความลังเลของเราในวันนี้" ผศ.ดร.เอกราช กล่าวทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่ลังเลในการตัดสินใจเรียนหลักสูตรนี้

และนี่คือหัวใจของหลักสูตร ป.โท-ป.เอก สาขาโภชนศาสตร์บูรณาการในเชิงสมุทัยเวชศาสตร์ที่ DPU ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้ แต่เรียนเพื่อลงมือทำ และเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณได้จริง !


กำลังโหลดความคิดเห็น