คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ Wacom และ Canon จัดอบรมหลักสูตร “Advance Character Design” คอร์สระยะสั้น ยกระดับทักษะการออกแบบตัวละครสู่ความเป็นมืออาชีพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแอนิเมชัน อาร์ตทอย และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมสร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างอาชีพให้ผู้เรียนต่อยอดสู่ระดับสากล ด้วยการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์จริง โดยมีอาจารย์สุธินี เตชะโชควิวัฒน์ นักออกแบบ ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก University of the Arts London เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Wacom Lab ชั้น 4 Makerspace มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
สำหรับหลักสูตร Advance Character Design เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากหลักสูตร Basic Character Design ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในการจัดทั้ง 3 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการออกแบบตัวละครให้มีความลึกซึ้ง กระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์และมีชีวิตชีวา โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวาดภาพ แต่ยังครอบคลุมถึงการทำความเข้าใจบุคลิก อารมณ์ และการแสดงออกของตัวละคร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยหลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาที่สำคัญ เช่น การออกแบบตัวละครในทุกมุมมอง เพื่อให้เห็นตัวละครในทุกด้าน, การแสดงออกทางอารมณ์และสีหน้า เพื่อให้ตัวละครสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การสร้างบุคลิกภาพและการโพสท่าทางของตัวละคร เพื่อให้ตัวละครมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, การนำตัวละครไปใช้ในงานต่างๆ เช่น มาสคอต แอนิเมชัน งานดีไซน์ และคอมิก
อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า หลักสูตร Basic ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิธีการสร้างตัวละครจากความคิดและข้อความ โดยใช้คำถามเป็นแนวทางในการสร้างตัวละคร แต่ในหลักสูตร Advance นี้จะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ตัวละครมีชีวิตชีวา ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจตัวละครอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ ทั้งในด้านบุคลิกภาพ สีหน้า อารมณ์ และมุมมองต่างๆ เพื่อให้สามารถนำตัวละครไปต่อยอด และพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้
อาจารย์กิรติอธิบายว่า หลักสูตรนี้ไม่ได้เน้นเพียงแค่การวาดภาพ แต่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยผู้เรียนจะต้องเรียนรู้วิธีการคิดผ่านข้อมูลทั้งหมด เพื่อสร้างสรรค์ตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง กระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างงานออกแบบตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกซึ่งเป็นสิ่งสำคัญก่อนการวาด เพื่อให้ตัวละครมีที่มาที่ไป
“เราเน้นการนำความรู้ไปใช้ในอุตสาหกรรมจริง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบมาสคอต แอนิเมชัน กราฟิก หรือแม้กระทั่งการสร้างแบรนด์ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบตัวละครสำหรับงานต่างๆ เช่น การ์ตูน อาร์ตทอย หรือแม้กระทั่ง VTuber โดยสามารถนำตัวละครที่สร้างขึ้นไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น ทำสินค้าที่ระลึกหรือขายงานศิลปะ หลักสูตรนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถรับบรีฟจากลูกค้าได้ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีน้องนักเรียนนำการเรียนในหลักสูตรนี้ไปทำงานจริงกับลูกค้าต่างชาติ และได้รับการชื่นชมว่างานเร็วขึ้นและพัฒนาขึ้น”
ด้าน อาจารย์สุธินี เตชะโชควิวัฒน์ กล่าวเสริมถึง ความสำคัญของพื้นฐานการออกแบบคาแรกเตอร์ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ เช่น แอนิเมชันและอาร์ตทอย การออกแบบคาแรกเตอร์ที่ดีควรจะคิดให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของงาน การมีพื้นฐานการออกแบบที่ดีจะช่วยลดข้อบกพร่องของตัวละคร และทำให้สามารถนำไปต่อยอดได้มากขึ้น ส่วนการออกแบบตัวละครที่ดีจะช่วยสร้างการรับรู้และดึงคนเข้าสู่แบรนด์ได้มากขึ้น เช่น หมีเนย ซึ่งใช้รูปทรงกลมและสีพาสเทลเพื่อสื่อถึงความอ่อนโยนและความเป็นมิตร
อาจารย์สุธินียังเน้นย้ำว่า “การสร้างคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ” เพราะเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถสร้างได้ การมีสไตล์ที่เป็นของตัวเองจะทำให้งานของเราโดดเด่นและเป็นที่ต้องการในตลาด โดยไม่ควรลอกเลียนแบบงานของคนอื่น แต่ควรใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของตนเอง การออกแบบคาแรกเตอร์ที่ดีควรจะเริ่มจากการคิดอย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อให้ได้คาแรกเตอร์ที่แข็งแรงและสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต โดยทักษะเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการสร้างงาน illustration หรือ animation ได้ และการมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานได้
ส่วน นางสาวศิริรารัตน์ พรหมพิบูลย์ หรือน้องเบสท์ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี ระดับชั้น ปวส. ผู้เข้าร่วมหลักสูตร กล่าวถึงประสบการณ์การเรียนในคอร์สนี้ว่า ช่วยให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าการทำ Character Design ไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบตัวละครเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำความเข้าใจตัวละครในทุกมิติ โดยต้องคำนึงถึงลักษณะของตัวละครในมุมมองต่างๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง รวมถึงการแสดงสีหน้าท่าทางที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ นอกจากนี้ คอร์สนี้ยังสอนเทคนิคการใช้โปรแกรมต่างๆ ที่จำเป็นในการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้เธอสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างผลงานของตนเองได้
“หลังจากเรียนคอร์สนี้แล้ว งานพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเรื่องของการแสดงสีหน้าของตัวละคร ก่อนหน้านี้หนูเวลาสีหน้าเศร้าก็ยังทำได้ไม่สุด หรือการยิ้มที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่การ์ตูนต่างจากความเป็นจริงตรงที่ต้อง ‘เกินจริง’ เพื่อสื่ออารมณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากคอร์สนี้ช่วยให้เข้าใจ และสามารถสื่ออารมณ์ของตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น มีความสมจริง”
น้องเบสท์ยังได้กล่าวถึงการต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากคอร์สนี้ว่า ลูกค้าชาวต่างชาติสังเกตเห็นว่างานของตนพัฒนาขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น และยังได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย โดยลูกค้าเหล่านั้นจะเก็บผลงานในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล บางครั้งก็ต้องการแค่ภาพด้านเดียว แต่บางครั้งก็ต้องการภาพตัวละครในหลายมุม ซึ่งผลงานเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น แอนิเมชัน อาร์ตทอย หรือแม้กระทั่งการสร้างเป็นคาแรกเตอร์สำหรับ VTuber หรือนำไปใช้สร้างสรรค์ประกอบในคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เธอยังบอกอีกว่า เธอจะนำผลงานที่ได้ไปใช้เป็นพอร์ตโฟลิโอในการสมัครเรียนต่อและขอชิงทุนเพื่อการศึกษาในระดับปริญญาตรี
อาจารย์กิรติยังได้กล่าวเสริมถึงก้าวต่อไปของหลักสูตรว่า จะเป็นการต่อยอดจากคอร์ส Advance โดยจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างเรื่องราว storytelling และการสื่อสารกับแบรนด์ ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับเอเยนซีที่ดูแลภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อนำความรู้ด้านกราฟิกและ Character Design ไปใช้ในการพัฒนาผลงานออกแบบจริง นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีแผนที่จะเพิ่มทักษะด้านเทคนิคการวาดภาพ โดยจะเน้นการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การลงสี การเลือกคู่สี เพื่อให้ภาพดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น
“จากความสนใจจากหลายสถาบัน ทำให้มีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ไปเปิดสอน รวมถึงบริษัทต่างๆ เช่น SPVI (ผู้ดูแล Apple) ที่สนใจเข้าร่วมและต่อยอดหลักสูตรร่วมกัน โดยเฉพาะ SPVI ที่มีเครือข่ายการสอนผ่าน iPad ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้หลักสูตรสามารถเข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้น โดยมีการวางแผนที่จะเปิดคอร์สร่วมกับ SPVI ในช่วงเปิดเทอม 1 ของปีการศึกษา 2568 สำหรับนักเรียนมัธยม ส่วนทางWacom จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ ก็ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในคอร์สที่จะเปิดในเดือนมีนาคม 2568 นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป้าหมายของเราที่อัปสกิลนักศิลปกรรมให้มีความหลากหลาย และเฉพาะทางมากขึ้น โดยจัดคอร์สระยะสั้นที่เน้นประเด็นที่สำคัญและสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนในปัจจุบันต้องการ”