xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งรักษาทุกที่ผู้ป่วยพุ่ง 830% โรงเรียนแพทย์แบกไม่ไหว จี้ สปสช.จ่ายเงินให้ครบด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น สะท้อนภาพโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ Cancer Anywhere ทำผู้ป่วยแห่ใช้บริการพุ่ง 830% แทบแบกไม่ไหว แถม สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำมาก บางเคสไม่จ่ายเลย รับภาระด้านการเงินไม่ไหวมาแล้ว 3 ปี จี้กลับไปเป็นระบบเดิม เพราะโรงพยาบาลจังหวัด ศูนย์มะเร็งก็รักษาได้ และควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ครบด้วย

วันนี้ (15 ธ.ค.) จากกรณีที่โรงพยาบาลรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ประกาศให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต้องมีหนังสือส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิของตนทุกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตามโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) โดยรับผิดชอบเฉพาะค่ายาเคมีบําบัด และฮอร์โมนที่ใช้รักษามะเร็ง รังสีที่ใช้รักษามะเร็ง และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยาที่ใช้เท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงยาอื่นๆ เช่น ยาความดัน ยาแก้คลื่นไส้ ยาระบาย และไม่รับผิดชอบค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจเลือด

อ่านประกอบ : "ศิริราช-รามา-จุฬาฯ-ภูมิพล" แจ้งผู้ป่วยมะเร็งบัตรทอง ต้องใช้ใบส่งตัวจากต้นสังกัดเท่านั้น 

เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ของ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ทําไมโรงพยาบาลสังกัดคณะแพทย์จึงต้องการให้มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ" ดังนี้

1. จํานวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ Cancer Anywhere เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนส่งผลเสียต่อระบบการบริการผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน ทุกสิทธิการรักษา และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย

2. สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเรียกเก็บต่ำมากๆ และมีจํานวนหนึ่งที่ไม่จ่ายเลย ทําให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระด้านการเงินไม่ไหว เป็นแบบนี้มา 3 ปี ไม่มีการแก้ไข เคยสัญญาว่าจะจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทําตามสัญญา

3. จำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาจํานวนมาก ส่งผลกระทบต่อการฝึกอบรมแพทย์ประจําบ้าน แพทย์ต่อยอด และนักศึกษาแพทย์

4. ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานการรักษาที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากเกินกําลังในการให้บริการ

5. จํานวนผู้ป่วย Cancer Anywhere ของ รพ.ศรีนครินทร์ ปี 2564 ที่เริ่มโครงการมีเพียง 3,617 ครั้ง ปี 2565 เพิ่มเป็น 16,514 ครั้ง ปี 2566 เพิ่มเป็น 25,896 ครั้ง และปีล่าสุด 2567 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 30,241 ครั้ง หรือเทียบเท่าเป็น 830% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เริ่มโครงการ

สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขควรเลิกนโยบายนี้ กลับไปเป็นระบบเดิม เพราะส่วนใหญ่ของผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลจังหวัด ศูนย์มะเร็งก็รักษาได้ ถ้าเกินศักยภาพของโรงพยาบาลจังหวัด หรือศูนย์มะเร็ง จึงส่งต่อมารักษาที่โรงเรียนแพทย์ และ สปสช.ควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ครบด้วย

เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ระบุอีกว่า "ประชาชนโปรดเข้าใจ และเห็นใจโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ เราพยายามทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว แต่ในขณะนี้เกินความสามารถในการแบกรับภาวะจำนวนผู้ป่วยที่มีมากเกินกำลังของแพทย์ พยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่เอกซเรย์แล้วครับ ร่วมกับ สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบไม่เป็นธรรม"

ด้านชาวเน็ตต่างออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น

- รัฐบาลจัดโปรฯ การรักษาเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่จัดเงินให้ทางโรงพยาบาลเขาด้วย หรือลองไปดูซิ สปสช.บริหารเงินยังไง โรงพยาบาลรัฐและเอกชนจึงเรียงหน้ากระดานออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันแบบนี้

- รมต.หายไปไหน สปสช.ก็แบะๆๆ ทำตามนายสั่งทั้งที่หมอทั้งนั้นที่นั่งอยู่ในนั้น จะให้สวัสดิการประชาชนเป็นประชานิยมโดยไม่ควักเงินจ่ายคืออะไร

- กองทุนการรักษาพยาบาลแบบที่ไม่มีการวางแผนการเงินทั้งรายรับ รายจ่าย จากงบประมาณแผ่นดินล่วงหน้า เช่น การวางแผนจัดเก็บภาษีเฉพาะ การร่วมจ่าย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในกองทุนเพิ่มขึ้น มีแต่ประเทศไทย ประเทศเดียวในโลก ที่รักษาฟรี โดยไปขูดรีด ลดการจ่ายเงินจากผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ให้บริการขาดทุนย่อยยับ เหตุผลคือ ประชานิยม สงสารประเทศไทย

- สนับสนุนอาจารย์ แต่โรงพยาบาลที่จะส่งต่อ ก็น่าจะไม่มีเงินจ่ายคืนโรงเรียนแพทย์เหมือนกันแล้วครับ

- ถูกใช้เป็นเครื่องมือหาผลงานเพิ่มงานเอาหน้าแล้วก็ทอดทิ้งวนไป ภาระเก่าและใหม่พอกพูน

- สปสช.ถังแตกครับ ง่ายๆ แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.ยอมรับความจริงนี้ไม่ได้

- สปสช.ทำตัวไม่เป็นคู่ค้าที่ดี เอาเปรียบคู่สัญญา ทำตัวเหมือนเจ้านายเอาเปรียบลูกน้อง แต่ปลายปีมา สปสช.ประกาศผลประกอบการดีเยี่ยม เพราะไปเอาเปรียบโรงพยาบาลต่างๆ อย่าว่าแต่โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยครับ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็แย่ตามๆ กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น