xs
xsm
sm
md
lg

"ศิริราช-รามาฯ-จุฬาฯ-ภูมิพล" แจ้งผู้ป่วยมะเร็งบัตรทองต้องใช้ใบส่งตัวจากต้นสังกัดเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงพยาบาลใหญ่ ศิริราช รามาธิบดี จุฬาฯ ภูมิพล ประกาศผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคต้องมีเอกสารส่งตัวจากต้นสังกัดเท่านั้น เริ่ม 1 ม.ค. 68 สะพัด สปสช.ปรับเงื่อนไขจ่ายเฉพาะค่าผ่าตัด ฉายแสง คีโมเท่านั้น

วันนี้ (15 ธ.ค.) โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศถึงผู้ใช้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบุว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป การมารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยโรคมะเร็ง สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องมีเอกสารส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนกับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น หากมีข้อสงสัย สอบถามงานสิทธิประกันสุขภาพ โทร. 0-2419-7234 และ 0-2419-7235

ด้านคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศถึงผู้รับบริการโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 สปสช.ได้ปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน Cancer Anywhere (มะเร็งรักษาได้ทุกที่) เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต้องมีหนังสือส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิของตนทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยสิทธิประโยชน์ผู้รับบริการ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โทร. 0-2200-4016 และอาคารหลัก (อาคาร 1) โทร. 0-2201-1362 ถึง 63

ส่วนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศถึงผู้ใช้บริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 สปสช.ได้ปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน Cancer Anywhere (มะเร็งรักษาได้ทุกที่) เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ต้องมีหนังสือส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิของตนทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ อาคาร ภปร. ชั้น 1 โทร. 0-2256-5478

ขณะที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ประกาศว่า ผู้ป่วยมะเร็งต้องมีหนังสือส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิ (โมเดล) จากหน่วยบริการประจํา (โมเดลอื่นๆ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป โครงการ CA ANYWHERE ของ สปสช.รับผิดชอบเฉพาะค่ายาเคมีบําบัด และฮอร์โมนที่ใช้รักษามะเร็ง รังสีที่ใช้รักษามะเร็ง และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยาที่ใช้เท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงยาอื่นๆ เช่น ยาความดัน ยาแก้คลื่นไส้ ยาระบาย เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยในการรับยา ขอให้นําใบส่งตัวมาด้วยทุกครั้ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป








รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ประกาศที่ออกมาคาดว่าสืบเนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยประชาชนผู้รับบริการยื่นบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อแสดงตัวตนใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการทุกครั้ง ส่วนโรงพยาบาลปลายทางสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากส่วนกลางได้เลย จากเดิมต้องใช้ใบส่งตัวและโรงพยาบาลต้นสังกัดของบัตรทองจะตามไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลภายหลัง ผลก็คือผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่ไปใช้บริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวนมาก ซึ่งได้ทำการรักษาและเรียกเก็บเงินไปยัง สปสช.ตามปกติ

แต่เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากจึงทำให้มีการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวนมากเช่นกัน สปสช.จึงได้ปรับเงื่อนไข โดยจ่ายให้เฉพาะค่าผ่าตัดมะเร็ง ค่าฉายแสงโรคมะเร็ง ค่าเคมีบำบัดเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน หรือโรคผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจเลือด ฯลฯ ไม่รับผิดชอบ โรงพยาบาลดังกล่าวจึงต้องประกาศว่า ต่อไปผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการต้นสังกัดเท่านั้น เพื่อให้หน่วยบริการต้นสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ประกาศว่าได้ตัดสินใจหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-REFER จากทุกคลินิกที่ส่งต่อโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ว่าจะมีใบส่งตัวหรือไม่มีใบส่งตัว ตั้งแต่เช้าวันที่ 13 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป เนื่องจาก สปสช.ติดค้างค่าแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วยกรณี OP REFER ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันอีกเป็นจำนวนมากกว่า 30 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ค้างชำระกรณี OP REFER ที่คลินิกคู่สัญญาของ สปสช.ส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มากกว่า 44 ล้านบาท หรือประมาณ 50 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน

แต่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่ามีงบประมาณสำหรับจ่ายให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แต่เงินจำนวน 13.2 ล้านบาท เป็นหนี้ค้างชำระจากคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ถูก สปสช.ยกเลิกสัญญา อยู่ระหว่างการดำเนินการทางคดี ส่วนเงินจากการส่งต่อผู้ป่วยกรณี OP-REFER จากคลินิก อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยนอกในพื้นที่ กทม. เนื่องจากคลินิกเอกชนได้ร้องขอตรวจสอบข้อมูลการจ่าย ซึ่งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) กรุงเทพมหานคร มีมติให้ สปสช.ชะลอการจ่ายจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ จึงไม่สามารถจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อได้ โดย สปสช.ได้ประสานโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อรักษาต่อไป ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น