xs
xsm
sm
md
lg

เสิร์ฟ "บิ๊กดาต้า-เอไอ" สู่แพลตฟอร์มขับเคลื่อนภูเก็ต กับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (บีดีไอ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) นำ 3 แพลตฟอร์มขับเคลื่อนพัฒนาเมืองภูเก็ต ใช้บิ๊กดาต้าและเอไอขับเคลื่อนทั้งการท่องเที่ยว สังคม ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มุ่งสู่เมืองต้นแบบด้านความยั่งยืน นำร่องย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นกลางทางคาร์บอน

รายงาน

ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากถึง 95% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450,000 ล้านบาทต่อปี นำส่งรายได้เข้าแผ่นดินจำนวนมาก รวมทั้งยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ เช่น งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ หรือไทยแลนด์เบียนนาเล่ ในปี 2568 และการประชุมสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ในปี 2569 ซึ่งล้วนแล้วสร้างรายได้ให้ประเทศทั้งสิ้น

ถึงกระนั้น เงินภาษีกลับคืนสู่จังหวัดน้อยมาก ทำให้งบประมาณพัฒนาจังหวัดหรือท้องถิ่น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งยังประสบปัญหาการจราจรติดขัด การจัดการมลภาวะ ฯลฯ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชนในการใช้ ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า (Big Data) ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนในทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ

โดยมี สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือบีดีไอ หน่วยงานในกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พัฒนาสามแพลตฟอร์ม ได้แก่ แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link) และ แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (City Data Platform) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตอย่างมีทิศทาง และประยุกต์ใช้แก่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ


นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ภาครัฐและเอกชนเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ สิ่งที่กังวลคือการรับรู้ของส่วนราชการ เพราะจังหวัดภูเก็ตภาคเอกชนนำหน้า ส่วนราชการสนับสนุน โดยมีบีดีไอส่งเสริมข้อมูลแก่ภาครัฐและเอกชน ตนเห็นว่าข้อมูลขนาดใหญ่ส่วนราชการอยากเข้าถึง แต่หลายส่วนยังไม่รู้จักบีดีไอ จึงเสนอให้จัดอบรมแก่ส่วนราชการ เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต้องอาศัยข้อมูลที่วิเคราะห์อย่างถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่เป็นบิ๊กดาต้าของบีดีไอ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับจังหวัดภูเก็ต แต่ทำอย่างไรที่ส่วนราชการต่างๆ และภาคเอกชนเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ได้ คิดว่าความใกล้ชิด การติดต่อประสานงาน และการจัดกิจกรรมร่วมกัน จะทำให้ได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัด ซึ่งบีดีไอจะเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญที่จะนำบิ๊กดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่จังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยต่อไป


รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า บีดีไอ เป็นหน่วยงานที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนสายเทคโนโลยี 80% ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล (Data-Driven Nation) ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์ (Analysis) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) วิศวกรระบบคลาวด์ (Cloud Engineer) วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineer) และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) เป็นต้น โดยมีบุคลากรประมาณ 150 คน

สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีจุดเด่นคือ ภาครัฐและภาคเอกชนเข้มแข็ง บีดีไอจึงได้ลงมาช่วยเหลือและมีส่วนร่วม โดยเริ่มจากเรื่องการท่องเที่ยว แพลตฟอร์ม Travel Link เชื่อมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้ดูสถิติเป็นรายวัน เพื่อสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ลึกขึ้น ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมสถิติได้ในภาพรวม ต่อด้วยเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม แพลตฟอร์ม Envi Link ร่วมกับเมืองเก่าภูเก็ต รวบรวมข้อมูลเพื่อคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ และ City Data Platform เป็นการบูรณาการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล โดยดึงข้อมูลจากส่วนกลาง เพื่อให้แต่ละเมืองสามารถเรียกดูข้อมูลและวางแผนงานได้


หนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างซึ่งแพลตฟอร์ม Envi Link นำมาใช้ คือ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยบีดีไอได้ทำงานร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต และชาวชุมชน เพื่อนำร่องให้เป็น พื้นที่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 โดยตั้งเป้าลดปริมาณคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ของพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม ที่ส่งผลต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ แล้วนำเสนอผ่านแดชบอร์ด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นแนวโน้ม ทิศทางการเปลี่ยนแปลง และวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมต่อไป

โดยการเก็บข้อมูลการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์จะใช้กล้อง CCTV และพัฒนาโมเดลจำแนกประเภทยานพาหนะก่อนประมาณการปริมาณเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะ ส่วนการเก็บข้อมูลเพื่อประมาณการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว จะใช้กล้อง CCTV ร่วมกับเทคโนโลยี AI นับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักควบคุมมลพิษด้านค่าน้ำเสีย และข้อมูลขยะจากเทศบาลนครภูเก็ต


ทั้งนี้ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่ทำงานร่วมกับบีดีไอผ่านแพลตฟอร์ม Envi Link ได้สนับสนุนถุงแยกขยะจำนวน 4 สี เพื่อให้ชาวชุมชนได้แยกขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร และไขมันจากบ่อดักไขมัน นำไปเข้าเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ ที่มูลนิธิฯ จัดซื้อและติดตั้งขึ้น โดยมีความสามารถในการจัดการขยะได้ 500 กิโลกรัมต่อวัน กลายเป็นก๊าซชีวภาพแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 33.75 กิโลวัตต์ และน้ำหมักใช้ทางการเกษตรวันละ 500 ลิตร ลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่จะนำเข้าสู่เตาเผาขยะของเทศบาลฯ ทำให้เตาเผามีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) ประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์ฟรี Smart Bus EV สาย Dragon Line รอบเมืองเก่าภูเก็ต ที่ให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว เดินทางจากจุดจอดรถไปยังรอบเมืองภูเก็ต ให้บริการทุก 15 นาที เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ โดยใช้กล้อง CCTV ร่วมกับเทคโนโลยี AI และข้อมูล GPS มาใช้ประมาณการผู้โดยสาร เพื่อเสนอแนะการวางตำแหน่งจุดจอดรถ และตารางเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


รศ.ดร.ธีรณีกล่าวว่า แม้ในที่สุดทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันบูรณาการข้อมูล แต่สิ่งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้คนเราเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ว่าระบบเอไอไม่ได้มาแทนที่คน แต่จะช่วยให้คนทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น ทำอย่างไรให้คนอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทำอย่างไรให้คิดว่า ไอทีไม่ใช่ภาระ แต่ไอทีเป็นตัวช่วย เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันในระยะยาวเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และสามารถเปลี่ยนผ่านในการทำเรื่องเอไอและเรื่องข้อมูลได้ดีในอนาคต.

อ่านประกอบ

- BDI ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชนภูเก็ต ชู 3 แพลตฟอร์มพัฒนาเมือง 

- โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน 
กำลังโหลดความคิดเห็น