xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เปิดโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล และเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 หนุนภูเก็ตเจ้าภาพประชุมท่องเที่ยวโลก


วันนี้ (24 พ.ย.) นายสรวงศ์ เทียนทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” อย่างเป็นทางการ ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาศ นายกเทศบาลนครภูเก็ต รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมากชน) นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ส.ส.จังหวัดภูเก็ต พร้อมผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้นำองค์กรเอกชนเข้าร่วม


สำหรับโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ริเริ่มโดยมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และได้รับการขับเคลื่อนร่วมกันจากเทศบาลนครภูเก็ต สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 พร้อมสร้างแบบอย่างด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนให้พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ


โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality2030” ได้ริเริ่มเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การพัฒนาระบบขนส่งคาร์บอนต่ำ และการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม


นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ปัจจุบันย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการเติบโตของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการฟื้นตัวที่ดีมาก และดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่การเติบโตเศรษฐกิจของภูเก็ตจะกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าคือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงแนวโน้มแรงกดดันจากนานาประเทศที่เริ่มตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จะมีความเข้มข้นเรื่อยๆ ภูเก็ตจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังตามมา”


ขณะที่นายสาโรจน์ อังคณาพิลาศ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า “เทศบาลนครภูเก็ตยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของภูเก็ตในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ก้าวทันกับกระแสโลก และยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้เทศบาลนครได้ปรับรูปแบบการจัดการขยะในพื้นที่ย่านเมืองเก่า และจะประสานงานกับทางมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย


ด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการออกแบบพื้นที่นำร่อง เพื่อนำมาศึกษาหาข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหาวิธีการในการลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 30% ใน 3 ปี และ 50% ในปี 2573 ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีระบบอัจฉริยะในการนับจำนวนยานพาหนะรอบย่านเมืองเก่า เพื่อสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักควบคุมมลพิษด้านค่าน้ำเสีย และข้อมูลขยะจากเทศบาลนครภูเก็ต


ทำให้ผู้บริหารเมืองจะมองเห็นปริมาณขยะ ปริมาณคน และปริมาณยานพาหนะแบบ Real Time เพื่อการจัดการต่อไป รวมถึงมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้จัดซื่อเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ และติดตั้งในเขตย่านเมืองเก่า ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณชยะอินทรีย์ที่นำไปฝังกลบลงได้อย่างน้อยวันละ 400 กิโลกรัม”


รศ.ดร ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “BDI ได้เข้ามาสนับสนุนการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Envi Link ซึ่งสามารถแสดงผลข้อมูลทั้งในเชิงการรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยในโครงการนี้ BDI ได้สนับสนุนทั้งอุปกรณ์คือ กล้องวงจรปิดและระบบการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ และการวิเคราะห์แนวโน้มของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในย่ายเมืองเก่า”

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีเปิดว่า “รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพและรับผิดชอบ ซึ่งเรียกกันว่า Responsible Tourism โดยให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จในปี 2593 ดังนั้น การนำสองยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลมาปฏิบัติในพื้นที่นำร่องย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเมืองท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ทั้งแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และหมุดหมายของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และแนวทางที่ภูเก็ตได้ดำเนินการจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้พื้นที่อื่นๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อทำให้ย่านเมืองเก่าภูเก็ต กลายเป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้บรรลุผลได้ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน”


โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ประกอบได้ด้วย การบริหารจัดการขยะจากชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้สนับสนุนถุงแยกขยะจำนวน 4 สีคือ สีฟ้า สำหรับขยะที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการกำจัดโดยเตาเผาขยะ สีเขียวคือ ขยะอินทรีย์ ที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดด้วยเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ สีเหลืองสำหรับขยะที่สามารถนำไปแปรรูปได้ และสีชมพูคือ ไขมันในถังดักไขมัน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่เพื่อการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป โดยเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการวางแนวทางในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 









กำลังโหลดความคิดเห็น