ฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) อัปสกิลบุคลากรทางการศึกษาสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ ดึงนักจิตวิทยาติวเข้มหัวข้อ "การให้การปรึกษาเด็กและผู้ปกครองด้วยกระบวนการ Counselling" เพิ่มทักษะเด็ก-นักศึกษา ให้มีทักษะในการตัดสินใจที่ถูกต้องสู่การวางแผนการเรียนในอนาคต
ฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการให้คำปรึกษา และการสนับสนุนการตัดสินใจให้นักเรียนและนักศึกษาในการวางแผนการเรียนที่เหมาะสมเพื่อเลือกอาชีพในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก นายธนกฤต ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อ "การให้การปรึกษาเด็กและผู้ปกครองด้วยกระบวนการ Counselling" โดยมี นายภัฏ เตชะเทวัญ ผู้อำนวยการ Corporate Strategy & Planning ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเปิดการอบรมในครั้งนี้ โดยมีบุคลากรจำนวนกว่า 30 คนเข้าร่วมรับการฝึกอบรม ณ ห้องประชุมสำนักอธิการบดี 5-2 อาคารอธิการบดี ชั้น 5 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นายภัฏ เตชะเทวัญ ผู้อำนวยการ Corporate Strategy & Planning ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า การจัดการอบรมโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานให้บุคลากร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้บุคลากรเมื่อต้องออกไปพบเจอนักเรียนและนักศึกษานอกสถานที่ เพราะมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนมัธยมและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงได้มีการจัดอบรมทฤษฎีพื้นฐานแก่บุคลากรในการให้คำปรึกษาเด็กและผู้ปกครอง ที่จะสามารถช่วยเด็กได้หลายมิติ เช่น กรณีที่เด็กมีความเครียด รู้สึกสิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งคิดสั้น จะทำอย่างไรที่จะสามารถดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากการอบรมเสร็จสิ้นแล้วบุคลากรแต่ละคนจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงาน บางคนต้องออกพบเด็กมัธยมปลายในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่บางคนทำงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต่างกันคนละสถานการณ์แต่เป้าหมายเดียวกันคือ สามารถช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเด็กประสบปัญหา
“ปัญหาความเครียดในการตัดสินใจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จากสถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่าเด็กที่มีภาวะเครียดรุนแรงเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากสาเหตุเรื่องการเรียน ความผิดหวัง ทั้งปัญหาความรัก การทำงาน และปัญหาครอบครัว หากบุคลากรทางการศึกษามีทักษะในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น จะช่วยให้เด็กตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและรู้สึกสบายใจที่จะกลับมาขอคำแนะนำอีกครั้ง ดีกว่าการตัดสินใจเอง ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้” ผู้อำนวยการ Corporate Strategy & Planning ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายแนะแนวการศึกษา กล่าว
นอกจากนี้ นายภัฏยังระบุอีกว่า ในอนาคตมีการวางแผนงานการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในแต่ละกลุ่มให้สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเครื่องมือใหม่ในทางจิตวิทยา เพราะเชื่อว่าการพัฒนาสุขภาพจิตของนักศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้นพบตัวเองและดึงศักยภาพที่แท้จริงของนักศึกษาออกมา ไม่ว่านักศึกษาจะมาจากที่ไหน เมื่อเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แล้ว พวกเขาจะต้องเติบโตอย่างมีศักยภาพและประสบความสำเร็จ
ด้านนายธนกฤต ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การบรรยายในวันนี้มุ่งเน้นในหัวข้อ การให้คำปรึกษาเด็กและผู้ปกครองด้วยกระบวนการ Counselling ที่เป็นการอบรมให้ความรู้ในการประยุกต์ใช้หลักการให้คำปรึกษาเพื่อให้เด็กตัดสินใจได้ถูกต้อง รวมทั้งพัฒนาทักษะให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมการตัดสินใจให้กับเด็ก ที่ครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิต การตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียน ตามแนวทางหลักจิตวิทยาที่เน้นทำความเข้าใจกับผู้มารับคำปรึกษาก่อน โดยการฟังแบบไม่ตัดสินพร้อมสร้างบรรยากาศในการพูดคุย เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกถึงความไว้วางใจและรู้สึกว่ามีคนอยู่เคียงข้างเขา ซึ่งจะช่วยให้เขาเปิดใจและกล้าพูดคุยในเรื่องที่กังวลมากขึ้น
“สำหรับการอบรมในวันนี้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เข้าอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างรวดเร็ว และมีความกระตือรือร้นที่อยากจะช่วยเหลือให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ของเด็ก ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ยังได้แนะนำเทคนิคพื้นฐานในการให้คำปรึกษา เช่น การฟัง การใช้คำถามปลายเปิดและคำถามปลายปิดเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของผู้รับคำปรึกษา การสรุปความ และการทบทวนความ ที่ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานในการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พร้อมลงลึกในรายละเอียดของเทคนิคต่างๆ ทำให้บุคลากรเข้าใจมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องสื่อสารไปยังบุคคลอื่น” นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวทิ้งท้าย