xs
xsm
sm
md
lg

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ปั้นนวัตกร Gen AI ปักหมุด Soft Power ในงาน 77 Soft Power Thailand Hackathon

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดโครงการ 77 Soft Power Thailand Hackathon ในการสร้างเนื้อหาจาก AI ผ่านโจทย์ Soft Power ของ 77 จังหวัด เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยี Generative AI ในการหาไอเดีย ค้นคว้าข้อมูล กลั่นกรองข้อมูลที่ได้ เพื่อเพิ่มทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์



ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าทักษะด้าน AI เป็นทักษะที่สำคัญมากทักษะหนึ่ง สำหรับนักศึกษาที่จะออกไปทำงานภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นโครงการ 77 Soft Power Thailand Hackathon นี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีการอบรมและประกวดผลงานนักศึกษาที่เกิดจากการใช้ Generative AI (Gen AI) อันเป็นเทคโนโลยีหนึ่งในตระกูล AI ที่มาช่วยพัฒนาและสร้างสรรค์ข้อความ วิดีโอ รูปภาพ ไปจนถึงการวิเคราะห์ด้านต่างๆในทางธุรกิจ นักศึกษาจะเรียนรู้ว่า Gen AI จะเก่งมากขึ้น ถ้าใช้เขียน Prompt ที่ทำให้ AI เข้าใจว่าต้องการผลลัพธ์ใด ทั้งนี้ Prompt engineering หรือศาสตร์การใช้ Prompt เพื่อกำหนดแนวทางที่ต้องการนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ เพื่อให้สามารถประยุกต์เทคนิคการสร้างประโยคและคำที่เหมาะสม เพื่อโต้ตอบกับ AI ในการที่จะทำให้ AI สร้างสรรค์ผลงานตามที่ต้องการ รวมทั้งต้องเรียนรู้การกลั่นกรองข้อมูลและผลงานที่ได้จาก AI ด้วย เพราะผลลัพธ์ที่ได้อาจะไม่ถูกเสมอไป

ทั้งนี้โครงการมีการจัดอบรมให้ความรู้กับนักศึกษา โดยคุณฐาปกรณ์ จำปาใด หัวหน้าแผนกสื่อนวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน โดยการอบรมจะครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการประยุกต์ AI การสร้างข้อความ ภาพและเสียง โดยโครงการนี้นักศึกษาจะได้ทดลองค้นหาไอเดียใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power ของแต่ละจังหวัด ด้วย AI โดยเฉพาะในจังหวัดที่หลายคนอาจมองข้าม ซึ่งจะทำให้เอกลักษญ์ของจังหวัดโดดเด่นและเป็นที่น่าสนใจ

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน กล่าวว่า โครงการ 77 Soft Power Thailand Hackathon ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมโดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ Generative AI ควบคู่ไปกับความรู้เรื่อง Soft Power พร้อมๆ กัน โครงการนี้ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกัน แบ่งปันเทคนิค และวิธีคิดที่หลากหลาย แม้กิจกรรมหลักของโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ AI และ Soft Power แต่กระบวนการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการนำเสนอผลงาน ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้เกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์

“กระบวนการเรียนรู้และการใช้ AI ในโครงการนี้ จะทำให้นักศึกษาเข้าใจและเกิดความคุ้นชินทั้งกับเทคโนโลยี รวมทั้ง Soft Power รวมไปถึงในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เพราะอะไรที่เราหยิบจับบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นความคุ้นชิน ที่สำคัญพอนักศึกษาได้มารวมกลุ่มกัน เกิดความเป็นกลุ่มก้อน เดี๋ยวนักศึกษาก็ต้องเล่าให้เพื่อนฟัง เราทำได้ ทำไม่ได้ รูปนี้ทำไมทำแบบนี้ เพราะแต่ละคนก็จะมีเทคนิคแตกต่างกัน เกิดเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเองอีกต่อหนึ่ง” ผศ.ไพรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น