xs
xsm
sm
md
lg

คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรมเสวนา “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ สู่แนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืน” ส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมผสมผสานกับทักษะการสื่อสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรมเสวนา “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ สู่แนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืน” ให้กับนักศึกษาปี 4 หลักสูตรสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไปผสมผสานกับทักษะการสื่อสารในการทำงานจริง เพื่อสร้างแนวคิดและกระบวนการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การปรับใช้ในการทำงานในอนาคต ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมที่ใส่ใจต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีสายงานบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยากรถ่ายทอดความรู้ Carbon Footprint (CFP) มี ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ อาจารย์วรพงษ์ ปลอดมูสิก รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้จัดงาน ณ ห้องประชุม 6-1 ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์วรพงษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และภาวะโลกร้อน (Global warming) ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกวันนี้จะเห็นได้จากการเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และภาวะภัยแล้งในทุกฤดูกาลล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น Sustainable Development Goals : SDGs หรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน

“งานด้านนิเทศศาสตร์ นักศึกษาจะต้องมีความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยของเสียเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักศึกษาจะได้รู้หลักการเบื้องต้นเมื่อเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการ เป็นสตาร์ทอัพกลุ่มใหม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจให้รักษ์โลกอย่างยั่งยืนสามารถตอบโจทย์โลกแห่งอนาคตได้ โดยเฉพาะคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ในอนาคตมีเรื่องของกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้ทุกธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปลูกฝังความคิดเรื่องความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในการทำธุรกิจของตนเอง”รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ อาจารย์วรพงษ์ ยังได้ยกตัวอย่างงานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์หลายช่องได้ให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยมีกรณีศึกษา สื่อช่องหนึ่งมีการปรับเปลี่ยนภาชนะในการรับประทานอาหารในกองถ่าย จากเดิมที่เคยใช้กล่องพลาสติก ช้อนพลาสติก และถุงพลาสติก ได้เปลี่ยนมาเป็นกล่องข้าวที่เป็นภาชนะสามารถอุ่นและเสิร์ฟร้อนได้ทันที ซึ่งเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในการลดใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยาก สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กรได้ ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวในวงการสื่อและแนวโน้มในอนาคตจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ


ด้าน ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะวิทยากร เปิดเผยว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ถือมีความสำคัญมากในภาคธุรกิจ ทุกองค์กรต้องดำเนินการตรวจวัดค่า GHG คือค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้ในปัจจุบันทางภาครัฐยังคงใช้เกณฑ์ความสมัครใจ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีพระราชบัญญัติ Climate Change (ร่าง พ.ร.บ.) ให้ทุกภาคธุรกิจต้องดำเนินการ เพื่อลด GHG ให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการควรมีการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างสม่ำเสมอ

วันนี้จึงอยากมาให้ความรู้กับนักศึกษาในงานเสวนา “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ สู่แนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืน”เพื่อให้นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์มีความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เนื่องจากเชื่อว่านักศึกษาหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออะไร นั่นก็คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง โดยคำนวณออกมาในรูปของ กรัม, กิโลกรัม หรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ โดยในอนาคตจะมีการบังคับให้ภาคธุรกิจต้องทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นเรื่องของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ต้องบอกว่าความยั่งยืนมี 3 ขา คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่วันนี้มาพูดในมุมสิ่งแวดล้อมของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่นักศึกษาในวิชานี้จะได้ความรู้เพิ่มเติม นักศึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจ หรือการตลาด เมื่อนักศึกษามีความรู้ตรงนี้ไปก็สามารถนำไปประยุกต์กับตัววิชาที่เรียนได้ หรือแม้กระทั่งในอนาคตถ้านักศึกษาเข้าไปทำงานอยู่ในภาคธุรกิจก็จะเข้าใจว่าบริษัทที่ทำอยู่เป็นอย่างไร โดยในขณะนี้หลายๆ องค์กรมักจะพูดถึง Net Zero หรือ Carbon neutrality ซึ่งเป็นนโยบายจากทางภาครัฐที่เข้าไปสัญญาในประชาคมโลกในการประชุม COP26 ที่ภาคธุรกิจต้องทำตามนโยบาย ซึ่งต่อไปจะมีเรื่องของภาษี นำเข้า ที่เป็นแรงกดดันทำให้ภาคธุรกิจต้องทำอยู่ดี

“โลกของเรามีอุณภูมิที่ร้อนมากขึ้นจากภาวะเรือนกระจกที่มาจากการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง อุตสาหกรรม การเผาไหม้ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและพอก๊าซเรือนกระจกมีสูงมากขึ้นก็ทำให้โลกร้อนขึ้น หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โลกเราก็ไม่ได้ร้อนมากขนาดนี้ โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงนั้นจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ทางภาครัฐจึงต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดมากขึ้น” อาจารย์ดร.วริศ ระบุเพิ่มเติม

นอกจากนี้รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังกล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เองก็เริ่มมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่การใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนนักศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการประหยัดไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานทางอ้อม หรือแม้กระทั่งการเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัยก็สามารถใช้รถสาธารณะ หรือเลือกเดินทางมาพร้อมเพื่อน หรือใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นต้น แต่ทั้งนี้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมด เนื่องจากมีกระบวนการผลิตแบตเตอรี่และการผลิตไฟฟ้าที่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก












กำลังโหลดความคิดเห็น