xs
xsm
sm
md
lg

คณะศิลปกรรมฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ Wacom เปิดคอร์ส “Basic Character Design” ไขความลับเทคนิคการสร้างคาแรคเตอร์ให้น่าจดจำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ Wacom บริษัทชั้นนำด้านอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับงานศิลปะ จัดอบรมหลักสูตร "Basic Character Design" โดยมีอาจารย์สุธินี เตชะโชควิวัฒน์ นักออกแบบและบัณฑิต ปริญญาโทจาก University of the Arts London ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คน ที่ได้เรียนด้าน Character Animation และเคยมีผลงานจัดแสดงในงาน London International Animation Festival 2023 มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Wacom Lab ชั้น 4 Makerspace มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยจาก Wacom ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของโครงการ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในตลาดงานจริง นอกจากนี้ความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ยังอยู่ที่การผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านศิลปะเข้ากับแนวคิดทางธุรกิจ โดยการอบรมยังมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการคิดสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ตั้งแต่พื้นฐานการออกแบบ พฤติกรรมของคาแรคเตอร์ การเล่าเรื่อง Storytelling ไปจนถึงการนำคาแรคเตอร์ไปใช้ในงาน Animation ต่างๆ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคใหม่ เช่น การทำสินค้า การเป็นพรีเซนเตอร์ หรือการขายลิขสิทธิ์

“คณะศิลปกรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านการออกแบบอยู่แล้ว แต่การอบรมครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันตลาดคาแรคเตอร์ดีไซน์ในประเทศไทยไม่เพียงนอกจากจะมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจยังไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแบรนด์ใหญ่ๆ เท่านั้น ศิลปินรุ่นใหม่สามารถสร้างรายได้และฐานแฟนคลับจากผลงานของตนเองได้ เช่น Cry Baby คาแรคเตอร์ที่สร้างโดยศิลปินไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกนำไปใช้ในสินค้าต่างๆ รวมถึงสินค้าของโรงพยาบาลรามาธิบดี ”


รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ยังได้ยกตัวอย่าง “น้องเนย” หรือ “หมีเนย” ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของหมีเนย เกิดจากการออกแบบที่ คำนึงถึงบุคลิกของตัวละคร การเลือกใช้รูปทรง สีสัน และองค์ประกอบต่างๆ ที่สอดคล้องกัน จนทำให้หมีเนยเป็นที่จดจำและสามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ อาทิ การทำเสื้อผ้า การทำโลโก้ ฯลฯ โดยตลอดระยะเวลา 6 ชั่วโมง หลักสูตรจึงให้ความสำคัญกับ "กระบวนการคิด" ในการออกแบบคาแรคเตอร์ ซึ่งผู้เรียนที่เข้าใจจะสามารถต่อยอดไปเป็นดีไซเนอร์ และสามารถทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทันที เพราะทุกธุรกิจต้องการสัญลักษณ์หรือตัวตนของตัวเอง

“คาแรคเตอร์ที่โด่งดังระดับโลก SpongeBob, Mickey Mouse และ Doraemon เราเห็นแวบเดียว หรือเห็นเพียงเงาก็สามารถจดจำได้ในทันที ทั้งหมดคือผลลัพธ์ของกระบวนการคิด ไม่ใช่แค่การวาดให้สวย การวาดรูปให้สวยไม่ใช่เรื่องยาก แต่การคิดคาแรคเตอร์ให้น่าจดจำ สื่อสารได้ และต่อยอดมูลค่าได้เป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยหัวใจสำคัญของการออกแบบคาแรคเตอร์ คือการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ ดังนั้นหลักสูตรจึงมุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิด เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างคาแรคเตอร์ให้ประสบความสำเร็จ"

อย่างไรก็ตามการอบรม "Basic Character Design" ในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยในอนาคตทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีแผนที่จะจัดอบรมหลักสูตรขั้นสูง (Advance Character Design) และหลักสูตร Storytelling Character Design ตามมา โดยร่วมมือกับ WACOM เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เรียนและต่อยอดสู่การทำงานจริงในอุตสาหกรรม

“การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด วันนี้ผมเองก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากการอบรมครั้งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "กระบวนการคิด Storytelling" และทริค “Stanislavski 7 questions ที่นักออกแบบคาแรคเตอร์ต้องตอบให้ได้” อาจารย์สุธินีได้ถ่ายทอดลึกซึ้งกว่าที่เคยคิดไว้ เพื่อสร้างคาแรคเตอร์ที่มีมิติที่น่าสนใจต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำให้มิติของตัวละครมีความลึกและกลม มีชีวิตเหมือนคนจริงๆ ที่สำคัญการที่หลักสูตรนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Wacom ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุปกรณ์สำหรับงานดิจิทัลอาร์ต ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากร ให้มีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต ในการอบรมครั้งต่อๆ ไป ทั้งหลักสูตร Advance Character Design และ Storytelling Character Design จะช่วยสร้างเครือข่าย และต่อยอดองค์ความรู้สู่การทำงานจริงในอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” อาจารย์กิรติ กล่าวทิ้งท้าย


















กำลังโหลดความคิดเห็น