xs
xsm
sm
md
lg

นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด​การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมแน่นอน​​ เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ประจำปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นนทบุรี​ - นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด​การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมแน่นอน​​ เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ประจำปี 2567

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลนครปากเกร็ด นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด นางปริญดา เชาว์อรัญ รองปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด รักษาการปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลร่วมกันแถลงข่าวจัดงานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ประจำปี 2567 ขึ้นในระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2567 โดยจะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ บริเวณท่าเทียบเรือวัดบางจาก, ท่าเทียบเรือวัชรีวงศ์, ท่าเทียบเรือวัดตำหนักเหนือ, ท่าเทียบเรือวัดเกาะพญาเจ่ง, ท่าเทียบเรือวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร, ท่าเทียบเรือวัดสนามเหนือ และเปิดให้รับชมเรือรับบิณฑบาต ตกแต่งสวยงามจากชุมชนในอำเภอปากเกร็ด, ขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธรูปไม้แกะสลักปางเปิดโลก, การแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของงานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ, สาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นบ้าน รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยมอญ, การแสดงจากคณะลิเกชื่อดัง ณ บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

งานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือหรือการตักบาตรทางน้ำ เป็นการทำบุญปวารณาออกพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ในสมัยอดีตถือว่าเป็นการทำบุญที่สำคัญรองลงมาจากการทำบุญสงกรานต์ โดยชาวรามัญหรือชาวมอญเชื่อว่าวันนี้เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ จึงมีการตักบาตรที่ริมน้ำหน้าวัดสำคัญของชุมชนชาวมอญ เรียกว่า "ตักบาตรพระร้อย" หรือ "ตักบาตรทางเรือ" เนื่องจากวันนี้จะมีพระสงฆ์จากวัดต่างๆ มารับบิณฑบาตตั้งแต่เช้าจากชาวบ้านที่รอเตรียมใส่บาตรอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ โดยเรือแต่ละลำจะตกแต่งสวยงาม และจะมีเหล่าฝีพายร้องรำทำเพลงสนุกสนานครึกครื้น ทำให้การตักบาตรทางน้ำมีสีสัน สนุกสนาน มีการให้จังหวะประกอบในการกำกับจังหวะการพายเรือตามแบบมอญดั้งเดิม ซึ่งประเพณีดังกล่าวจะหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

เทศบาลนครปากเกร็ดจึงจัดงานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญไว้ให้อยู่คู่ชาวปากเกร็ดและชาวไทยสืบต่อไป โดยประสานความร่วมมือกับชุมชน หน่วยงาน และวัดต่างๆ ในเขตอำเภอปากเกร็ด ซึ่งในปีนี้มีเรือรับบิณฑบาตตกแต่งสวยงามมาจากชุมชนในอำเภอปากเกร็ด จำนวน 29 ลำ ประกอบด้วย ไผ่ล้อม 2, ชุมชนหมู่ 1 เกาะเกร็ด, ขุนศึกวัดโพธิ์บ้านอ้อย, จิตอาสาปากเกร็ดร่วมใจ หมู่ 3, คณะศิษย์ท่านเจ้าคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดปรมัยฯ, ร.ร.วัดปรมัยยิกาวาสฯ, หมู่บ้านคลองศาลากุล, ชุมชนบ้านโอ่งอ่าง หมู่ 7, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5, วัดเสาธงทอง, วัดสนามเหนือ, วัดไผ่ล้อม 1, ชุมชนหมู่ 6 เกาะเกร็ด, วัดปรมัยยิกาวาส, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นครปากเกร็ด, วัดศาลากุล, กำนันเกาะเกร็ด หมู่ 3, ชมรมพ่อบ้านแม่บ้าน หมู่ 2 เกาะเกร็ด, อบต.บางตะไนย์, ชุมชนปากเกร็ดร่วมใจ 5, สภาวัฒนธรรมอำเภอปากเกร็ด, วัดตาล, กำนันผู้ใหญ่บ้าน ต.บางตะไนย์, สมาคมไทย-รามัญ, วัดเตย, นายก อบต.เกาะเกร็ด, วัดบางจาก, และศิษย์วัดบางจาก  

นายวิชัย บรรดาศักดิ์​ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด​ กล่าวว่า​ ประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือถือว่าเป็นการทำบุญที่สำคัญ ของชาวรามัญหรือชาวมอญที่มีมาช้านาน จึงอยากจะยึดประเพณีนี้ไว้เพื่อเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวปากเกร็ด​ ซึ่งอยากจะเชิญชวนประชาชนคนปากเกร็ดและประชาชนทุกพื้นที่สามารถมาเที่ยวชมงานประเพณีอันดีงามนี้ได้ โดยขอการันตีเลยว่าในข่าวลือสถานการณ์น้ำท่วมนั้นไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถรองรับมวลน้ำได้ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที​ ซึ่งตอนนี้มีการปล่อยน้ำลงมา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที​ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้​ เทียบไม่ได้กับปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่และยังเทียบไม่ได้กับปี 2565 สถานการณ์น้ำมากกว่าปีนี้อีกด้วย จึงมีความมั่นใจ แต่ก็มีการเตรียมความพร้อมรับมือป้องกัน​อุบัติเหตุต่างๆ ทางน้ำโดยมีการร่วมมือจากกลุ่มเจ้าท่า

นอกจากนี้ ทางเทศบาลนครปากเกร็ดได้จดอนุสิทธิบัตรสไบลายมอญ ซึ่งตัวผ้าสไบทำมาจากผ้าไหมแท้ปักด้วยลายหม้อน้ำลายวิจิตร และหงส์มอญสีทอง เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญที่นับถือพระพุทธศาสนา และยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งภายในงานจะมีการเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าไหมสไบมอญในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ที่งานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ประจำปี 2567 อีกด้วย




















กำลังโหลดความคิดเห็น