xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนไม่แผ่ว! เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงทำลายสถิติตลอดกาลของโลกอีกแล้ว ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ในสหรัฐฯ ร้องรำทำเพลงสนุกสนานในช่วงวันหยุดฤดูใบไม้ผลิที่ไมอามีบีช รัฐฟลอริดา ในภาพนี้ซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2024  ทั้งนี้หน่วยงานวิจัยสภาพภูมิอากาศของอียูเพิ่งมีรายงานระบุว่า เดือนมีนาคม 2024 เป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดตลอดกาล
เดือนมีนาคมปี 2024 กลายเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันที่อุณหภูมิของโลกขึ้นสูงทุบสถิติตลอดกาล โดยทั้งอุณหภูมิอากาศและพื้นผิวมหาสมุทรต่างพุ่งไปอยู่ในระดับสร้างประวัติการณ์ใหม่เมื่อวัดเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านๆ มา

โคเปอร์นิคัส หน่วยงานสภาพอากาศของสหภาพยุโรป รายงานเมื่อวันอังคาร (9 เม.ย.) ว่า อุณหภูมิโลกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนมีนาคมระหว่างปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงเวลาอ้างอิงสำหรับยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.68 องศาเซลเซียส

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า นับจากเดือนมิถุนายน 2023 อุณหภูมิโลกทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกๆ เดือน โดยเป็นผลมาจากคลื่นร้อนที่ปกคลุมอาณาบริเวณส่วนใหญ่ในมหาสมุทรทั่วโลก

เจนนิเฟอร์ ฟรานซิส นักวิจัยของศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศวูดเวลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์, สหรัฐฯ ระบุว่า ความร้อนที่พุ่งทำลายสถิติในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งหมายถึงสภาวะที่ทำให้อุณหภูมิตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศโลก แต่ที่น่าแปลกใจคือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับคลื่นร้อนในมหาสมุทรที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ฟรานซิสอธิบายว่า เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังลดถอยลง ดังนั้น อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจึงควรลดลงด้วย

นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศระบุว่า สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนทุบสถิติคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนที่มาจากการเผาถ่านหิน เชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

ฟรานซิสเสริมว่า แนวโน้มจะไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศจะไม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหมายความว่า มนุษย์ต้องหยุดเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เลิกตัดไม้ทำลายป่า และผลิตอาหารด้วยวิธีที่ยั่งยืนขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้น คาดว่า อุณหภูมิโลกจะเดินหน้าทำสถิติใหม่ต่อไป

ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2015 มีการกำหนดเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับเฉลี่ยของโลกในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นจนเลยพ้นขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างเร็วที่สุดในปี 2030

ทั้งนี้ ข้อมูลอุณหภูมิที่โคเปอร์นิคัสเผยแพร่นี้เป็นข้อมูลประจำเดือนและใช้ระบบวัดที่แตกต่างจากเกณฑ์ของข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยสำหรับช่วง 2-3 ทศวรรษเล็กน้อย

ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า อุณหภูมิความร้อนที่ทำลายสถิติในเดือนมีนาคมไม่ใช่ถึงกับเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีบางเดือนที่อุณหภูมิทำลายสถิติแบบทิ้งห่างกว่านี้ด้วยซ้ำ และมีความไม่ปกติต่าง ๆ มากกว่า เช่น เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้และเดือนกันยายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อมองกันที่ภาพรวมแนวโน้ม ดูเหมือนสภาพอากาศไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง

ปัจจุบัน โลกมีอุณหภูมิประจำเดือนเฉลี่ยสูงกว่าเกณ์ของข้อตกลงปารีส 1.58 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 12 เดือน

เดือนมีนาคม อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 21.07 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดและสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์เล็กน้อย ขณะที่อุณหภูมิโลกทำลายสถิติต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

เบอร์เกสส์สำทับว่า โลกต้องกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อแน่ใจว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น