คณะศิลปกรรมฯ ผนึกกำลังคณะนิเทศฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จัดแคสติ้งสุดเข้ม ค้นหานางแบบและนายแบบโชว์ฝีมือบนเวทีระดับประเทศ “centralwOrld Thailand Graduate Fashion Week 2024”
คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกันจัดกิจกรรมแคสติ้งเฟ้นหานางแบบและนายแบบเพื่อเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ระดับประเทศ centralwOrld Thailand Graduate Fashion Week 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2567 บริเวณโซน Eden ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "TRASHION TO PASSION" โดยในปีนี้มีนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมคัดเลือกเป็นจำนวนมาก โดยการคัดเลือกมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ณ อาคาร 10 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับเวทีงานแฟชั่นโชว์นี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ชั้นปีสุดท้ายของสถาบันต่างๆ ได้แสดงศักยภาพโชว์ผลงานศิลปนิพนธ์ด้านแฟชั่น และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะและประสบการณ์ต่างๆ ในวงการแฟชั่นก่อนก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริง
นอกจากนี้ยังช่วยให้นักศึกษาได้เปิดมุมมองการพัฒนาธุรกิจแฟชั่นของแบรนด์ไทยสู่สากล รวมถึงเป็นการสนับสนุน Young Designers หน้าใหม่ พร้อมผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ไทยสู่ระดับสากล โดยให้มีการดีไซน์ออกแบบชุดความยั่งยืนเข้ามาช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของชุดให้ดูทันสมัย และตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อาจารย์ปรัชญา พิระตระกูล อาจารย์ประจำวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นมากกว่าแค่งานแสดงผลงาน แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในวงการแฟชั่นอย่างครอบคลุม เช่น การคัดเลือกนางแบบนายแบบ การเตรียมงาน และการนำเสนอผลงานบนเวที ฯลฯ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นได้ นักศึกษาต้องมีความสามารถในการสื่อสารและนำเสนอผลงานให้โดดเด่นและน่าสนใจเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ
จุดเด่นของการจัดงานครั้งนี้คือ การผนึกกำลังกันระหว่างคณะศิลปกรรมศาสตร์กับคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำต่อเนื่องกันมา สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ที่คณะศิลปกรรมฯ เน้นย้ำและส่งเสริมมาโดยตลอด โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งทักษะด้านการสื่อสาร การจัดการงานอีเวนต์ ทำให้บัณฑิตที่จบไปมีความพร้อมสำหรับการทำงานในโลกจริงและช่วยเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้เข้าถึงผู้ประกอบการ รวมถึงการนำความรู้ไปประยุกต์สร้างโอกาสทางธุรกิจ ดังตัวอย่างเช่น “คุณเอ็ม-ภาคิณ ทองธีระโชติ” Managing Director ของ All by best ซึ่งเป็น Event Management ระดับประเทศ ศิษย์เก่าที่นำความรู้ไปประยุกต์จนประสบความสำเร็จในฐานะแฟชั่นออแกไนเซอร์
“ที่ผ่านมาผลงานนักศึกษาเราได้รับคำชื่นชมจากทางคณะผู้จัดงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบที่โดดเด่นและมีความคิดสร้างสรรค์ นักศึกษาสามารถนำเสนอตัวตนของมหาวิทยาลัยได้ดีและชัดเจน ครบถ้วนทั้งความคิดสร้างสรรค์และยังเห็นถึงความเป็นจริงที่สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงกับจุดประสงค์และสิ่งที่หลักสูตรแฟชั่นของเราเน้นย้ำ”
ด้าน ผศ.ยุทธนา บุญอาชาทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล และหัวหน้าผู้ดูแลโครงการความร่วมมือของฝั่งคณะนิเทศศาสตร์ กล่าวชื่นชมความสามารถของนักศึกษาที่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่เพียงสามารถหานักศึกษาที่มีบุคลิกและคาแรกเตอร์ที่น่าประทับใจและตรงคอนเซ็ปต์ แต่ยังสามารถบริหารจัดการรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเพลงประกอบ หรือการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น กรณีที่นายแบบใส่รองเท้าที่ไม่ได้สเปก แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีม การสื่อสารและการประสานงานที่มีความพร้อมของนักศึกษาทุกคน
อาจารย์ยุทธนากล่าวต่ออีกว่า หลังจากนี้นักศึกษาจะต้องไปดูแลงานแฟชั่นโชว์จริงที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นักศึกษาจะได้ฝึกฝนทักษะที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจัดการเวลา การทำงานภายใต้แรงกดดัน การใช้หลักจิตวิทยาเพื่อติดตามคิว หรือเร่งเสื้อผ้าให้เร็วขึ้นอย่างไรจึงเหมาะสมและงานเดินหน้า โดยเฉพาะเรื่องของการมีระเบียบวินัยและความสุภาพในการทำงานที่ทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว
“เราเชื่อว่าเสน่ห์สร้างได้ และคนที่มีเสน่ห์จะอยู่ได้ยาวนานกว่า ยิ่งในยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีเข้าถึงง่าย ใครๆ ก็พัฒนาความสามารถกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือการรู้จักนำเสนอตัวเองให้โดดเด่น เราจึงสอนนักศึกษาตั้งแต่การสร้าง Comcard ให้น่าสนใจ ถ่ายรูปและการเลือกภาพยังไงให้เหมาะสม ไปจนถึงการนำเสนอตัวเองต่อผู้อื่น คณะกรรมการ วิธีการมอง การโฟกัส ผลลัพธ์ที่ได้คือ นักศึกษาเก่งขึ้นและกล้าแสดงออกและพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน และโครงการนี้ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวเข้าสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจและสามารถแข่งขันได้ในอนาคต”
ขณะที่ นายธราดลน์ หอมสมบัติ และ นายเอื้ออังกูร จันทร์หลง นักศึกษาคณะนิเทศฯ หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ (DCM) ชั้นปีที่ 3 เปิดใจว่า การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นและกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพราะโอกาสดีๆ อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อย่างในวันนี้ที่ใส่รองเท้าผิดประเภทมาแคสติ้ง หากทีมงานไม่ได้เตรียมรองเท้าสำรองพวกเขาอาจจะพลาดโอกาสสำคัญนี้ไปก็ได้ กิจกรรมนี้จึงเหมือนบทเรียนชีวิตที่สอนให้พวกเขารู้ว่าเราควรพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ส่วนนายวุฒิเมศร์ กีรติวัฒนารุจน์ นักศึกษาคณะนิเทศฯ หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล (DigiC) ชั้นปีที่ 2 และนายภูมิพัฒน์ ริมสมุทรไชย นักศึกษาศิลปกรรมฯ หลักสูตรวิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน (ID) ชั้นปีที่ 1 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก และชื่นชมการสื่อสารข้อมูลข่าวสารของคณะฯ ที่รวดเร็วและทั่วถึง ทำให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ เพราะส่วนตัวทั้งคู่มีความสนใจในด้านการเดินแบบซึ่งนอกจากสนุกและสร้างประสบการณ์ที่ดี การเดินแบบยังช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร การนำเสนอ การเจรจาต่อรอง และคอนเนกชัน ไม่ใช่แค่เดินแบบแล้วจบ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตนเอง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตก็ยิ่งมากขึ้น