xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผนึกกำลัง อว. Upskill/Reskill สร้างผู้นำคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม รับมือ Climate Change และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill) สำหรับหลักสูตร อบรมและปฏิบัติการ "การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง" โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของไทย การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และความท้าทายทางเศรษฐกิจและการแข่งขันเชิงธุรกิจของไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ผู้เข้าอบรมได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบ Onsite ณ Intelligent Classroom มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าคณะกรรมการโครงการฯ กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม และ ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีสายงานบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ เป็นวิทยากรที่มาถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อต่างๆ อย่างละเอียด ได้แก่ 1.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. Carbon Footprint (CFP) และ 3. Carbon Footprint of Organizations (CFO)


ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีสายงานบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ กล่าวเริ่มต้นเน้นย้ำถึงผลกระทบอันร้ายแรงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุหลักของภาวะโลกร้อนทั่วโลก สิ่งนี้นำไปสู่ความตกลงระหว่างประเทศสำคัญอย่าง พิธีสารเกียวโตและความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุด Point of no return ที่ไม่อาจย้อนกลับได้หากเกินขีดจำกัดนี้ สภาพภูมิอากาศโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรและส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกชีวิตบนโลก นอกจากนี้ ดร.วริศ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการปรับตัวเข้ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

จากนั้น ดร.วริศ ได้อธิบายเชื่อมโยงถึง Carbon Footprint (CFP) ซึ่งหมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า การบริโภค หรือการใช้พลังงาน CFP นั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมามากเกินไปจะกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและเกิดภาวะโลกร้อนตามมา นอกจากนี้ ดร.วริศ ยังได้อธิบายความแตกต่างระหว่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) โดยความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ หรือชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกไปด้วยวิธีอื่น เช่น การปลูกป่า ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ และยังรวมถึงการดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศด้วย

ขณะที่ในช่วงบ่ายยังคงเข้มข้น ดร.วริศ ได้พาผู้เข้าร่วมลงลึกถึงเรื่องของ Carbon Footprint of Organizations (CFO) หรือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า การให้บริการ การใช้พลังงาน การขนส่ง หรือแม้แต่การจัดการขยะ ฯลฯ โดยมีเครื่องมือสำคัญในการวัดประเมินวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก CFO แบ่งออกเป็น 3 สโคปหลักๆ ได้แก่ สโคป 1 ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากแหล่งที่องค์กรควบคุมได้ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงาน

สโคป 2 ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานที่ซื้อมา เช่น พลังงานไฟฟ้า และ สโคป 3 ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น การขนส่งวัตถุดิบ การจัดจำหน่ายสินค้า การใช้ผลิตภัณฑ์ของลูกค้า การเดินทางของพนักงาน และการกำจัดขยะผลิตภัณฑ์ขององค์กร


นอกจากนี้ ดร.วริศ ยังได้สาธิตและให้ผู้ร่วมทำกิจกรรม Workshop โดยการคำนวณค่าคาร์บอนเทียบเท่าทั้งแบบมือและใช้โปรแกรม Excel เพื่อคำนวณ CFO เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมิน CFO จะช่วยให้องค์กรสามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด และวางแผนลดการปล่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ประเทศไทยเราไม่ได้ปล่อยคาร์บอนติดอันดับ TOP 10 ของโลก แต่เราได้รับผลกระทบอันดับ 9 ของโลก อย่างในตอนนี้เรากำลังเจอเรื่องน้ำท่วม เกิดการสูญเสียที่กระทบต่อสังคมและผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มเปาะบาง ผู้มีรายได้น้อย ลองคิดดูถ้าเจอภัยพิบัติซ้ำไปอีกหนักเลย โอกาสในการฟื้นตัวกลับมาของเขาแทบไม่ได้เลย นั้นคือสาเหตุที่เราต้องช่วยกันและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”ดร.วริศ ย้ำ ผลกระทบที่แม้ว่าทุกวันนี้ทั่วโลกจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลงลด แต่ในอดีตเราได้ปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่มากสะสม การฟื้นฟูเพียงแค่ลดจึงไม่เพียงพอ

ทว่าอย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศเรา แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เราสามารถช่วยกันลดภาวะโลกร้อนและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคตตามแผนนโยบายของประเทศไทย ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานของเราได้








กำลังโหลดความคิดเห็น