xs
xsm
sm
md
lg

ความในใจ ”คนอยุธยา“ หลังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ชี้คนพื้นที่ไม่พอใจ แต่ต้องจำยอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจดังของ จ.พระนครศรีอยุธยาออกมาโพสต์ข้อความเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม หลังจังหวัดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องทนอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ชี้คนพื้นที่ไม่เต็มใจ แต่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรม

จากกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ 52 ตำบล 223 หมู่บ้าน 6,031 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเสนา พบส่วนใหญ่บ้านเรือนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ริมน้ำถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมมาประมาณ 1 สัปดาห์

โดยระดับน้ำวันนี้ (3 ก.ย.) เริ่มมีปริมาณสูงขึ้นมา 10-20 เซนติเมตร หลังจากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มอยู่ที่ 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (3 ก.ย.) เพจ “อยุธยา-Ayutthaya Station” ได้ออกมาโพสต์ข้อความตัดพ้อ เรียกร้องความเท่าเทียม หลัง จ.พระนครศรีอยุธยาถูกกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้คนกรุงเก่าต้องทนอยู่กับสภาวะน้ำท่วมนานถึง 2-4 เดือน โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

"#อยากให้อ่านจนจบ

ปกติทิศทางการไหลของน้ำคือไหลจากที่สูงลงที่ต่ำถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นน้ำที่ไหลมาจากเหนือมาผ่านหลายจังหวัดจนมาถึงอยุธยา ต้องลงต่อไป ปทุมฯ-กทม.-อ่าวไทย ค่ะ

แต่มันไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เพราะมวลน้ำที่ไหลมาจากเหนือถูกกองอยู่ที่อยุธยา และกองอยู่อย่างต่ำ 2-4 เดือน

อยุธยาเราในบางอำเภอถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำค่ะ มาค่ะแอดจะเขียนอธิบายเพื่อให้พวกเราเข้าใจตรงกัน

อยุธยามีทั้งหมด 16 อำเภอ และเป็นพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 12 อำเภอ คือ
อ.ผักไห่
อ.เสนา
อ.บางบาล
อ.บางซ้าย
อ.บางปะหัน
อ.พระนครศรีอยุธยา (ไม่รวมในเมือง)
อ.บางไทร
อ.ลาดบัวหลวง
อ.นครหลวง
อ.มหาราช
อ.ท่าเรือ
อ.บ้านแพรก

จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทุ่งรับน้ำ
ถ้าเมื่อก่อนจะเรียก 7 ทุ่งค่ะ แต่ปัจจุบันเขารวมทุ่งบางบาล-บ้านแพนเป็น 1 ทุ่ง จึงเหลือ 6 ทุ่งค่ะ
1. ทุ่งป่าโมก
2. ทุ่งบางบาล-บ้านแพน
3. ทุ่งผักไห่
4. ทุ่งบางกุ้ง
5. ทุ่งเจ้าเจ็ด
6. ทุ่งบางกุ่ม

ในเมื่อถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำแล้วก็ต้องยอมรับไปสิ

เอาจากความคิดส่วนตัวของแอดนะคะ
คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครพอใจหรือเต็มใจที่จะถูกเป็นพื้นที่รับน้ำหรอกค่ะ แต่ด้วยภาวะจำยอมจึงต้องก้มหน้ารับต่อไป

ซึ่งประเด็นสำคัญที่คนในพื้นที่รับน้ำกำลังต่อสู้ตอนนี้คือ ให้พวกเขารับน้ำแล้วอย่างไรต่อไป

ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมไม่ได้นะคะ แต่เมื่อถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นผู้เสียสละโดยจำยอมแล้ว จะยังไงต่อไปคะ?

ในหนึ่งปีจะต้องถูกท่วมกี่เดือน? จะถูกน้ำท่วมสูงประมาณไหน? หลังจากถูกน้ำท่วมแล้วจะเยียวยาอย่างไร? ที่ผ่านมานอกจากจะถูกปล่อยให้น้ำท่วมแล้ว การเยียวยายังน้อยมากๆ ค่ะ

เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี นวัตกรรมทุกอย่างทันสมัยมากๆ การที่จะมาพูดว่าอยุธยาน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามันไม่ควรเลยจริงๆ ค่ะ ถ้าท่วมมาตั้งหลาย 100 ปีจนมาถึงปัจจุบันยังสมควรจะท่วมอยู่อีกเหรอคะ?

บริบทของคำว่าบริหารจัดการน้ำอยู่ตรงไหนคะ?

ถ้าอยู่ตรงที่การปกป้องพื้นที่สำคัญพื้นที่เศรษฐกิจไม่แปลกค่ะ แต่เมื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจพื้นที่สำคัญแล้ว อย่าลืมปกป้องประชาชนด้วยนะคะ

ถ้าการบริหารจัดการน้ำมีหน้าที่ปกป้องพื้นที่สำคัญปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจเท่านั้น
แอดก็อยากจะบอกว่าประชาชนอย่างพวกเราก็ไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำเลยค่ะ

ยุค 2024 ประชาชนไม่ควรชินกับความลำบากเพียงลำพัง

ยุค 2024 ประชาชนไม่ควรถูกทอดทิ้งให้ช่วยเหลือกันเอง

ยุค 2024 ประชาชนควรมีสิทธิเรียกร้องในสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันค่ะ"
กำลังโหลดความคิดเห็น