เปิดประวัติบริษัทลูก ZIGA Innovation - ZIGA FC (อ้วน 2024) ภายใต้การนำทัพใหม่ ของ "เสี่ยก้อง" ทีปกร สุพรรณวัฒนกุล ทนายความส่วนตัว "เสี่ยหนุ่ย" ศุภกิจ งามจิตรเจริญ รับไม้ต่อสานธุรกิจ ท่ามกลางผู้ถือหุ้น ZIGA สองหมื่นรายเป็นเดิมพัน
ประวัติเส้นทางของ ZIGA FC
ปี 2564
ZIGA FC แฟรนไชส์ที่มีเหล็กเป็นเรือธง
ZIGA FC เป็นธุรกิจใหม่ของ บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น ผู้ผลิต และจำหน่ายท่อเหล็กแบบ Pre-Zinc ในแบรนด์ ZIGA และท่อเหล็กร้อยสายไฟแบบ Pre-Zinc ในแบรนด์ DAIWA โดยธุรกิจดังกล่าวจะดำเนินในรูปแบบแฟรนไชส์ที่มีสินค้าเหล็กเป็นเรือธง และมีอุปกรณ์ช่างอื่นๆ เสริมความหลากหลาย การขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต “ขุนพล” ที่จะเป็นเรือธงสำคัญของแม่ทัพ ต้องมีวิสัยทัศน์ กล้าที่จะเปลี่ยน และรับมือกับทุกความท้าทายของโลกธุรกิจที่ไม่หยุดหมุนไปให้ได้เช่นเดียวกับ บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น กับ “มณฑา ทัสฐาน” กรรมการบริหารด้านการตลาด บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ขุนพลด้านการขายการตลาดซึ่งเป็นจิ๊กซอร์ที่สำคัญของการเติบโตของบริษัท ซึ่งจะมาร่วมแชร์มุมมอง หลักการบริหาร การทำงานและวิธีคิดของการขับเคลื่อนและขยายธุรกิจด้วย “เหล็กนวัตกรรม” พร้อมรู้จัก ZIGA FC ธุรกิจแฟรนไชส์ขายเหล็ก และอุปกรณ์ช่าง ที่ขอโตไปกับคู่ค้าด้วยนวัตกรรม
ปี 2565
ZIGA ส่งบริษัทย่อยลงทุนกว่า 103 ลบ.ทำธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์
นางสาววราลักษณ์ งามจิตรเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด (Ziga FC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ดำเนินการลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่
โดยที่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นการลงทุนในระยะยาวอีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่บริษัทฯ
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ได้มีการอนุมัติการลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองบิตคอยน์ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดจำนวน 103.10 ล้านบาท ซึ่งได้ทำการเซ็นสัญญาเช่าแรงชุดเหรียญบิตคอยน์ จำนวน 20,800 TH (เทียบเท่าโดยประมาณ 200 เครื่อง) บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ถือเป็นการได้มาซึ่งสินทรัพย์ตามนัยของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
ปี 2566
ZIGA แจงหยุดธุรกิจดิจิทัล ‘ผู้รับจ้างผิดสัญญา-กรรมการบริษัทย่อยยักยอก”
“ซิก้า อินโนเวชั่น” แจงข้อมูลในงบการเงินปี 65 เพิ่มหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม โดยหยุดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลชั่วคราว เหตุบริษัทรับจ้างขุดเหมืองบิตคอยน์ผิดสัญญา และกรรมการบริษัทย่อย “ยักยอกทรัพย์” จากการจำหน่ายโทเคน “Zii Token”
"นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ" ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ได้ฟ้องอดีตกรรมการบริษัทย่อยกับพวกนั้น กล่าวคือ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นคำฟ้องคดีอาญาข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่า 103.2 ล้านบาท โดยอดีตกรรมการและพวกมีพฤติการณ์รับเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ที่บริษัทย่อยเป็นผู้รับจ้าง จัดวางระบบและ จำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้กับเจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token (บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด) ซึ่งในการจำหน่ายนั้น ได้มีการส่งมอบสินค้าหรือโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้ผู้ซื้อครบถ้วนถูกต้องแล้ว
แต่อดีตกรรมการและพวกได้ร่วมกันเบียดบังค่าตอบแทนจากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token นั้นไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ส่งมอบค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญาธนบุรี ระบบควบคุมภายใน การชำระเงิน และแนวทางป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในอนาคตจากการตรวจสอบหลักฐานและข้อเท็จจริงพบว่า
การดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบจัดระบบ และการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลและบริหารงานโดยอดีตกรรมการซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและรายละเอียดที่ทาง บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ได้ทำสัญญาไว้กับเจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token (บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาในภายหลังในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาดังกล่าว บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นจึงยังมีจำนวนธุรกรรมไม่มาก (มีการเสนอขายและจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้กับลูกค้าในวงจำกัดจำนวนน้อยราย) จึงยังไม่ได้มีการนำระบบการควบคุมภายในมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามหลังจากที่เกิดปัญหาและความผิดพลาดดังกล่าวขึ้น ทางฝ่ายจัดการก็ได้ถอดบทเรียน และกำหนดแนวทางการควบคุมภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกในอนาคต
ปี 2567
ก.ล.ต.เตรียมตรวจสอบ ZIGA ปมชี้แจงการตั้งสำรองขาดทุนเหรียญในงบการเงินที่อาจเข้าข่ายไม่ถูกต้อง
ภายหลังจากที่ศาลอาญาธนบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องอดีตกรรมการกับพวก และปรากฏว่าการชี้แจงของ บมจ. ZIGA Innovation ที่เคยชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าถูกอดีตกรรมการยักยอกเงินของบริษัท โดยมี นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ซึ่งในขณะที่ยื่นฟ้อง และ เป็นผู้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าถูกยักยอก ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท Wisden group และ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ZIGA Innovation ซึ่งพบว่ารายละเอียดในคำพิพากษาไม่เป็นไปตามที่ นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ กล่าวอ้างตามฟ้องว่าอดีตกรรมการได้ทำการยักยอกทองคำจากบ้านของนายศุภกิจ ซึ่งทองคำพิพาทดังกล่าวเป็นเงินที่ นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ นำมาจากการขาย Utilities Token ไปซื้อทองคำจากร้านทองชื่อดัง เพื่อนำมาเก็บไว้ที่บ้านไว้ก่อนหน้า ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจมีการชี้แจงการตั้งงบสำรองขาดทุนของ บมจ. ZIGA Innovation ที่อาจไม่ถูกต้อง และอาจขัดแย้งกับการที่ บมจ. ZIGA Innovation ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าถูกยักยอกเงินจากการขาย Utilities Token ในงบการเงินที่ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เตรียมตรวจสอบประเด็นนี้ไปก่อนหน้า
ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจในงบการเงินของ บมจ. ZIGA Innovation ประจำปี 2565 นั้นคือเรื่องการให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทย่อย เป็นจำนวนเงิน 236,307,539 บาท ซึ่งในงบการเงินระบุว่าบริษัทได้พิจารณาบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทย่อยและดอกเบี้ยค้างรับทั้งจำนวนของบริษัทย่อย 2 แห่งทันที เนื่องจากบริษัทแม่ ประเมินว่าบริษัทย่อยไม่สามารถจ่ายชำระเงินคืนได้ตั้งแต่เริ่มกู้ยืม
บริษัทลูกดังกล่าวที่ได้รับเงินกู้ยืมและไม่สามารถจ่ายชำระเงินคืนได้จาก บมจ. ZIGA Innovation ทั้ง 2 แห่งนั้น หนึ่งในบริษัทลูกดังกล่าว คือ บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด ซึ่ง ณ ขณะนั้นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกู้ยืมเงินดังกล่าวคือ นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ZIGA Innovation เช่นกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นางสาววราลักษณ์ งามจิตรเจริญ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ZIGA Innovation ได้ประกาศผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแจ้งการเปลี่ยนชื่อบริษัทย่อย ซิก้า เอฟซี จำกัด เป็น บริษัท อ้วน 2024 จำกัด โดยมี นายทีปกร สุพรรณวัฒนกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคนปัจจุบันแทน นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้า โดยยังมี บมจ. ZIGA Innovation เป็นผู้ถือหุ้น 99%
ปัจจุบัน
เป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนว่าการนำทัพใหม่ของ "เสี่ยก้อง"
"ทีปกร สุพรรณวัฒนกุล" ทนายความส่วนตัวของ "เสี่ยหนุ่ย" "ศุภกิจ งามจิตรเจริญ" ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก "ZIGA FC" ไปเป็น "อ้วน 2024" จำกัด ว่าจะสามารถล้างขาดทุนจากผลประกอบการในอดีตและจะสามารถนำพา "อ้วน 2024" เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกว่า 20,000ราย ของ ZIGA Innovation จำกัด(มหาชน) ได้สำเร็จหรือไม่