“ศุภมาส” แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” วันที่ 16-25 สิงหาคม 2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 104 หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศร่วมจัดยิ่งใหญ่เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษาของประเทศไทย ห้ามพลาด! นิทรรศการหลากหลายสุดล้ำทั้ง AI ฉลาดเหนือมนุษย์ อาชีพ STEM แห่งอนาคตและนิทรรศการใหม่ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนอย่าง “ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว” ร่วมสำรวจมหานครทะเลทราย
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว., ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และผู้บริหารของกระทรวง อว. ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานร่วมจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 เข้าร่วม โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการฉายไฮไลต์สำคัญๆ ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะมีขึ้นทั้งเรื่องของ AI เรื่องอาชีพ STEM แห่งอนาคต เรื่องชีวิตในทะเลทราย เป็นต้น
นางสาวศุภมาสกล่าวว่า การจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567" ในปีนี้นับเป็นการเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและเป็นปีที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรู้ ความสามารถและพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคม 2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” คือส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศ เตรียมความพร้อมให้เยาวชนและประชาชนสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต สำหรับรูปแบบการจัดงานเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เราได้สร้างสรรค์กิจกรรม และนิทรรศการที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และสัมผัสกับวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด
“ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนเข้าร่วมงานนี้ เพราะงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เยาวชนจะได้จุดประกายความคิด เกิดความรักความสนใจในวิทยาศาสตร์และสามารถต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ขณะที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างประสบการณ์ร่วมกันที่น่าประทับใจ ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกันในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน” นางสาวศุภมาสกล่าว
จากนั้น นางสาวศุภมาส นายเพิ่มสุข และผู้บริหารกระทรวง อว.ได้ร่วมกันปล่อยขบวนคาราวาน “สุข สนุก วิทย์” ขณะที่ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 มีหน่วยงานร่วมจัดกว่า 100 หน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานทั้งของกระทรวง อว. ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ จำนวน 69 หน่วยงาน และหน่วยงานต่างประเทศ 35 หน่วยงานจาก 9 ประเทศ ทั้งฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สวีเดน สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ดังนั้น งานจึงมีความยิ่งใหญ่และหลากหลาย โดยนิทรรศการหลักประกอบด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษาของประเทศไทย นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาไทยตั้งแต่ระดับประถมจนอุดมศึกษา การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในพระมหากรุณาธิคุณด้านการอุดมศึกษาไทย ดังพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ผอ. NSM กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจะมีนิทรรศการเรื่องของ AI ที่มนุษย์แท้ห้ามพลาด! เช่น นิทรรศการ The Multiverse of AI:Trick or Truth ในยุคที่ AI ฉลาดเหนือมนุษย์ เราจะอยู่กันอย่างไร? เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อร่วมออกเดินทางสำรวจจักรวาลแห่ง AI ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์เบื้องหลังนวัตกรรมแห่งอนาคต ทึ่งในความมหัศจรรย์ของ AI ที่พร้อมเสริมสร้างทักษะพลเมืองดิจิทัล นิทรรศการอาชีพ STEM สร้างอนาคต เปิดโลกอาชีพวิทย์แสนสนุกของเด็กและเยาวชนให้รู้ทักษะเด่นของตัวเอง เติบโตอย่างมีเป้าหมายและได้ทำงานในสิ่งที่รักอย่างสนุกสนาน นิทรรศการเคมีปั้นแต่งโลก เรียนรู้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีต่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น
“ที่สำคัญ จะมีนิทรรศการใหม่ที่จัดแสดงเป็นครั้งแรก คือ “ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว” ร่วมสำรวจมหานครทะเลทราย ดินแดนลึกลับที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด พาทุกคนเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห้งแล้งสุดขั้ว สัมผัสประสบการณ์ในดินแดนทะเล 4 แบบ ร่วมค้นหาพืชและสัตว์แปลกตาที่อยู่รอดในดินแดนแห้งแล้ง พร้อมผจญภัยและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวเบดูอิน สนุกกับการทดลองขี่อูฐและร่วมเฉลิมฉลองให้กับปีสากลแห่งอูฐ เรียกว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง” ผศ.ดร.รวินกล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพินิจศิลปะ สรีรศิลป์ การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน กิจกรรมการเรียนรู้และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ การเสวนาวิชาการนานาชาติ เป็นต้น
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือติดต่อ อพวช. โทร. 0-2577-9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0-2577-9960