xs
xsm
sm
md
lg

แด่ทุกความฝันที่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง“อ้น-ศริตรรธน์ จันทร์สุระ” บัณฑิต CIBA-DPU อดีตเด็กอู่ สู่ผู้ก่อตั้งธุรกิจ SMEs 3 ธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บนสังเวียนชีวิตมนุษย์ทุกคน ย่อมหนีไม่พ้นกับอุปสรรคปัญหาและบททดสอบ ยิ่งโดยเฉพาะกับในโลกทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและเปรียบเทียบ หลายคนอาจท้อแท้ สิ้นหวัง รู้สึกว่าเส้นทางที่ฝันนั้นยากเกินเอื้อม แต่ยังมีอีกหลายคนที่เลือกจะสู้แบบไม่ถอย ผิดพลาด ล้มแล้วก็ลุก ไม่ยอมแพ้ เช่นเดียวกับ “อ้น-ศริตรรธน์ จันทร์สุระ” หนุ่มนักธุรกิจวัย 31 ปี บัณฑิตสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) ที่สามารถสร้างธุรกิจ SMEs ได้ถึง 3 กิจการ พร้อมกับยังมี Lifestyle และ Work life Balance ที่สนุก ชื่นชอบในการท่องเที่ยว นั่งชิลคาเฟ่ และ ยังมีเวลาได้ดูแล พ่อแม่ รวมถึงผู้สูงวัยทั้ง 2 ฝั่งของครอบครัวได้ด้วยความที่เป็นธุรกิจของตัวเอง

ตั้งตัว ‘ได้ง่าย’ ถ้าตั้งใจ

"ศริตรรธน์ จันทร์สุระ”
หรือชื่อที่ครอบครัวเรียกกันสั้นๆ ว่า "อ้น" เกิดและเติบโตในจังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นและสะดวกสบาย ทำให้เขาใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุข และไม่ค่อยกังวลเรื่องอนาคตมากนัก จนกระทั่งได้เห็นลูกพี่ลูกน้องประสบความสำเร็จจากการศึกษาต่อด้านบริหาร จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อเช่นเดียวกัน

โดยภายใต้สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (บริหารธุรกิจบัณฑิต) วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) อ้นบอกว่า ชีวิตเขาเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคง หรืออยากมีรายได้ แบบไม่ต้องทำงานประจำ ตอนแรกนึกถึงรายได้แบบ Passive income อาทิ การลงทุนในหุ้น ฯลฯ แต่ทว่าด้วยความขาดวินัยและความรับผิดชอบในตอนนั้น ทำให้เขาต้องยุติการศึกษาชั่วคราว และหันไปทำงานที่อู่ซ่อมรถแทน

“คิดว่าเรียนบริหารมันง่าย แต่เอาเข้าจริงมันไม่ง่าย” อ้นระบุ

“แล้วตอนนั้นกิจการรีสอร์ทของทางคุณแม่ก็ซบเซา รายได้เริ่มน้อยลงจากที่เคยมีลูกค้ามากๆ ส่วนเงินเดือนตำรวจของคุณพ่อก็ไม่ได้เยอะพอที่จะส่งเลี้ยง 2คน ผมเลยตัดสินใจไปของานเพื่อนรุ่นพี่ที่เขาเปิดกิจการอู่ซ่อมรถ เพราะอยากยืนด้วยตัวเอง”

2 ปี ในการเรียนรู้การซ่อมแซมรถยนต์ตั้งแต่แอร์ ไดนาโม ท่อไอเสีย ไปจนถึงช่วงล่างเครื่องยนต์จนเชี่ยวชาญ ไม่เพียงสร้างทักษะชีวิตจนเขาแข็งแกร่ง การทำงานที่อู่ซ่อมรถยังบำรุงมุมมองและทัศนคติ อ้นเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองมากขึ้น จนในที่สุดเขาก็ได้กลับมาเรียนต่อได้จนจบ และในปี 2565ได้เปิดร้าน Home Cooking เล็กๆ ช่วงท้ายๆของยุค COVID-19 ที่ใครๆ ก็ไม่กล้าคิดลงทุนสำเร็จได้ ขณะที่ปีถัดมากลายเป็นพ่อค้าที่ขยายงานมากขึ้น ด้วยการเปิดกิจการขายเครื่องอุปโภคบริโภค ก่อนที่ล่าสุดเมื่อต้นปี 2567 นี้ ก็ได้ทำธุรกิจร้านไอศกรีมเจลาโต้ “ไอติม Nimm” ในการร่วมกันลงทุนกับพี่ชาย


‘บริหารธุรกิจ’ หลักเรียนที่ปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต

“เพราะทุกอย่างในชีวิตต้องบริหาร ไม่ว่าจะเงิน การงาน หรือความสัมพันธ์ ข้อดีของเรียนด้านการบริหารคือ มันทำให้เราต่อยอดความคิดของเราได้อิสระมากขึ้น เพราะพอเรารู้ Worst-case scenario สำหรับเราอยู่ที่เท่าไร เราก็สามารถที่จะวางแผน จัดลำดับการนำเอาไปปฏิบัติ ไม่เกินกำลัง ไม่สะเปะสะปะ ทำอะไรแล้วไม่ชุ่ยและใช้ทรัพยากรที่มีรอบตัวให้เกิดคุณค่ามากที่สุด” อ้น ระบุ

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญอีกส่วนที่ขับเคลื่อนชีวิต คือ การเรียนที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางด้านทฤษฎี แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในโลกยุคใหม่ ทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ

“โครงสร้างของหลักสูตรที่นี่เหมือนกับการถักตาข่ายให้มันแน่น” อ้นเปรียบเทียบ “ตัวอย่างเช่น วิชาสัมมนาธุรกิจระหว่างประเทศของ ‘อาจารย์สุรชัย อเล็กซ์ สวนทับทิม’ อาจารย์ท่านจะคอยกระตุ้นให้เราคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และมองหาโอกาสทางธุรกิจที่ซ่อนอยู่รอบตัว ทำให้ใน 1 วิชา ที่สอนเรียน เราจะคิดทะลุไปมากกว่าสิ่งมองเห็นตรงหน้า”

นอกจากนี้ยังมีเกมจำลองธุรกิจอย่าง MonsoonSIM ที่อนุญาตให้ชีวิตได้ “ทดลองเจ็บ” เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานของธุรกิจได้อย่างลึกซึ้ง โดย ‘อาจารย์ ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์’ สอนให้เรียนรู้ว่าการทำธุรกิจไม่ได้มีแค่การซื้อมา-ขายไปเท่านั้น แต่ทำธุรกิจต้องเจอะเจออะไรบ้างและจะต้องจัดการมันอย่างไร มีรายวิชา Capstone project ที่ปลูกฝัง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้หนักแน่นขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Entrepreneur ทักษะผู้ประกอบการ

ที่สำคัญคือ บรรยากาศการเรียนการสอนที่ทำให้อ้นรู้สึกเหมือนว่า ได้อยู่ในครอบครัวเดียวกัน อาจารย์ทุกท่านให้ความใส่ใจและพร้อมที่จะให้คำปรึกษาตลอดเวลา โดยเขายังจำได้ขึ้นใจในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ อาจารย์อเล็กซ์คอยให้คำแนะนำและกำลังใจอยู่เสมอว่า “ทำธุรกิจไม่ต้องรีบ ให้เอาวิชาที่เรียนมาใช้ อย่าเอาเงินสาดลงไปทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความกล้าที่จะลองผิดลองถูก” ทำให้เขานั้นมีความมั่นใจมากขึ้น และกล้าที่จะก้าวเดินต่อไปกระทั่งประสบความสำเร็จได้ดังกล่าว


มอบสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภค ‘คำโบราณ’ แต่ยังคงสร้างฐานรากที่มั่นคง

เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอ้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขยอดขายหรือขนาดของธุรกิจ แต่คือ การได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข และได้เห็นคนอื่นๆ ที่มีความฝันเหมือนเขาประสบความสำเร็จบ้าง หลักการดำเนินงานทั้งธุรกิจและชีวิตจึงมีเพียงหลักใหญ่ใจความเดียวคือ “ใจ” ที่มีให้แก่ลูกค้า ครอบครัวและผู้คนในสังคม

“ผมยึดหลัก “คิดดี ทำดี” ใช้หลัก “เราไม่อยากได้แบบไหน ก็อย่าทำแบบนั้น” อาจจะฟังดูโบราณแต่หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะในการทำธุรกิจให้ผู้บริโภคมีความสุขจริงๆ ซื้อสินค้าเราแล้วแฮปปี้ ใช้บริการเราแล้วสุขภาพเขาดีขึ้น หรือ ในการใช้ชีวิตหลักมันก็เชื่อมโยงกับหลักการบริหาร มอง Market Share เพื่อออกแบบชีวิตในทิศทางที่เราต้องการ ถ้าอยากใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับประสบความสำเร็จ พวกสิ่งมึนเมา อบายมุข เราก็ไม่ยุ่ง มันก็อุดรูรั่วความฟุ่มเฟือย ลด Worst-case scenario ที่จะเกิดกับเรา”

อ้นย้ำว่า การยึดผู้บริโภคเป็นหลักคือ “กฎเหล็ก” ที่กล้าแข็งต่อความล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันที่สื่อ Social Media ต่างๆ มีอิทธิพลเป็นอย่างสูง หากทำไม่ดีเพียงครั้งธุรกิจก็สามารถพังได้ในพริบตา กลับกันตรงข้ามถ้าหากทำดีลูกค้าก็แชร์และส่งบอกต่อกันแบบปากต่อปากไม่รู้จบ

“แนวคิดกลยุทธ์การเดินในตลาดไอศกรีมใช้แค่ 4Ps ก่อนนั้นก็ดูพวกจุดแข็งอ่อนคู่แข่ง ส่วนสำคัญคือ หลักเกณฑ์การตั้งราคา และก็สร้างความแตกต่างโดยทำแบบเจลาโต้สไตล์อิตาลี เพราะที่แม่กลองจะมีแต่ไอศกรีมสไตล์อเมริกา ทีนี้พอเอามาบวกกับการใส่ใจสุขภาพกลุ่มลูกค้าเราที่มีทั้งเด็กหรือคนแก่คนสูงวัย ทำให้มัน Low Fat ที่สุด ใช้วิปปิ้งครีมแท้ วัตถุดิบปรุงแต่งพวกผลไม้ ขนม ช็อกโกแลต ซื้อตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในราคาที่แพง ยอมลดกำไรลงและสำเร็จช้าลงหน่อย แต่ไปได้ดีแน่นอน”

“ส่วนชีวิตถ้าเราทำจิตใจดี มันเหมือนพลังงานบวกส่งให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ซึ่งทำให้เรามีความสุข และพอเรามีความสุขมันก็เกิดความแอคทีฟ อยากพบปะผู้คน อยากพัฒนาทำในสิ่งต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น มันก็ไม่มีทางล้ม”

“และสุดท้ายสำหรับน้องๆ ทุกคน หากมีเวลาเรียนควรตั้งใจเรียน ค้นคว้าหาความรู้ คว้าโอกาสในช่วงวัยเรียนให้ได้มากที่สุด” อ้นกล่าวทิ้งท้าย

และนี่ก็คือเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เคยหลงทาง ที่วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ความฝันเป็นจริงได้” เพียงแค่เราไม่ยอมแพ้และกล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone เพราะความสำเร็จไม่ได้วัดที่จุดเริ่มต้น แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและความพยายาม






กำลังโหลดความคิดเห็น