กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน จัด “โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้นโยบาย MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนชาวไทย ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านกิจกรรมฯ แบ่งเป็น 8 ด้าน 298 กิจกรรม ผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ก่อให้เกิดภาวะโลกเดือด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อันมีสาเหตุหลักมาจาก ‘กิจกรรมของมนุษย์’ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อการผลิต การบริโภค การขนส่ง และการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น และเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ
กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมมือกับ 13 หน่วยงานหลักจากภาครัฐและภาคเอกชน จัด “โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนชาวไทย ตลอดจนเสริมสร้างจิตสำนึกของการเป็นผู้ให้ โดยสนับสนุน ส่งเสริมสถานประกอบการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถอยู่ด้วยกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบาย MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน เพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่าน 4 มิติิ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ความลงตัวกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง โดยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้ปริมาณ 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมใน 8 ด้าน จำนวน 298 กิจกรรม ประกอบด้วย
• ด้านที่ 1 การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และเกษตร จำนวน 13 กิจกรรม ลดได้ 2,934,277 ตัน อาทิ กิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาอ้อย กิจกรรมการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกิจกรรมการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
• ด้านที่ 2 การยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการลดการปล่อย หรือการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1 กิจกรรม ลดได้ 2,000,000 ตัน อาทิ กิจกรรมการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานภายใต้การรับรองระบบงาน
• ด้านที่ 3 การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงาน ที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 209 กิจกรรม ลดได้ 1,140,429 ตัน เช่น กิจกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และกิจกรรมการนำใบและยอดอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต่อเนื่องจากโรงงานน้ำตาล
• ด้านที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน จำนวน 44 กิจกรรม ลดได้ 796,525 ตัน เช่น กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (IoT, AI, Capacitor bank) และกิจกรรมลดของเสียจากกระบวนการผลิต (By-product / Industrial waste)
• ด้านที่ 5 การจัดการสารเคมี จำนวน 3 กิจกรรม ลดได้ 200,961 ตัน อาทิ กิจกรรมเผาทำลายสารทำความเย็น
• ด้านที่ 6 การส่งเสริมและปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านยานยนต์ จำนวน 5 กิจกรรม ลดได้ 91,873 ตัน เช่น การควบคุมปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ มาตรฐาน EURO 5 และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV)
• ด้านที่ 7 การบริหารจัดการทรัพยากร (นํ้า/ของเสีย/วัตถุดิบ) จำนวน 10 กิจกรรม เช่น กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม และกิจกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ
• ด้านที่ 8 การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) จำนวน 13 กิจกรรม ลดได้ 1,586 ตัน เช่น การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคนิคมฯ Smart Park
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนวัดหนองพะวา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในชื่อชุด “พลังงานสะอาดสู่อนาคต“ แสดงถึงการร่วมแรงร่วมใจ รวมพลังทุกภาคส่วน พร้อมมอบโล่เชิงสัญลักษณ์ให้แก่ 13 หน่วยงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการฯ แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งยังเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี และความร่วมมือร่วมใจกันทำประโยชน์ต่อสาธารณะ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย
---------------------------------------------
รายชื่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ
1. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สอจ.สปอ.)
2. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.)
3. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
4. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
6. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
7. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
8. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
9. สถาบันยานยนต์ (สยย.)
10. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.)
11. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (สลท.)
12. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)
13. สถาบันพลาสติก (สพต.)