xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธศักดิ์” ผลักดันนิคมฯ พลังงานสะอาดขึ้นแท่นระดับชั้นนำเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ “โครงการคลองสวยน้ำใส จิตอาสาพัฒนาคลองแสนแสบ” ดึงพันธมิตรร่วมสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอุตฯ ยั่งยืน ผลักดันนิคมฯ พลังงานสะอาด ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าหวังไทยเป็นนิคมชั้นนำของเอเชีย พร้อมส่งเสริมผลิตภัณฑ์รอบชุมชนให้มีรายได้ และคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้น  
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการคลองสวยน้ำใส จิตอาสาพัฒนาคลองแสนแสบขึ้น ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567 เป็นครั้งที่ 5

โดยกิจกรรมโครงการจิตอาสาทำความสะอาดคลองแสนแสบ (บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางชัน) นั้น กนอ.ได้ร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคันนายาว สำนักงานเขตมีนบุรี สำนักระบายน้ำ โรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ วัดบำเพ็ญเหนือ ผู้ประกอบการในนิคมฯ บางชัน กว่า 20 โรงงาน และชุมชนรอบนิคมฯ 6 ชุมชน ในการสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมคลองแสนแสบ และคลองสาขา  

นิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการพัฒนาลำน้ำที่อยู่ติดกับคลองแสนแสบ ดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูคลองแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนกระทั่งปี 2567 ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มจิตอาสาพระราชทานคลองแสนแสบภายใต้แผน CSR ของ กนอ. และกิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 5G ของ กนอ.ด้วย โดย G1 ที่สำคัญคือ Green ด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม และได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนงาน ปี 67 นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายชัดเจนให้ กนอ.เป็นกลไกฟื้นฟูเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศหลังสถานการณ์โควิด ทาง กนอ.มีความมุ่งมั่นจะเข้าไปฟื้นฟูการลงทุน เศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ และจะปรับบทบาทเข้าไปพูดกับนักลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการนิคมฯ มากกว่าการกำกับดูแล และเปิดพื้นที่ใหม่ๆ รองรับการลงทุน

อีกประการหนึ่งคือ การให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ การเข้าไปดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมก๊าซเรือนกระจก หรือการหมุนเวียนพลังงานที่ใช้ในนิคมฯ ให้เป็นพลังงานสะอาด เป็นต้น
“ตอนนี้เรามีนิคมฯ กว่า 14 แห่ง และพยายามเร่งรัดเปิดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เป้าหมายสำคัญคือ พลังงานสะอาด เรามีแนวคิดยกระดับนิคมฯ ในกำกับดูแลให้เป็นนิคมฯ พลังงานสะอาดภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้ไทยเป็นนิคมฯ ชั้นนำของเอเชียและของโลก”

นอกจากนี้ กนอ.ยังมีแผนพัฒนานิคมฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทาง กนอ.กำลังประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีแนวคิดส่งเสริมผลิตภัณฑ์รอบชุมชน เพื่อให้ความเป็นอยู่และรายได้คนในชุมชนดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้เศรษฐกิจติดนิคมฯ มีความแตกต่างจากภาคส่วนอื่น นำมาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนดีขึ้นได้ และต่อไปนิคมฯ อาจเป็นสถานที่ UNSEEN ด้านการท่องเที่ยวได้

นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากจิตอาสาพระราชทานในการร่วมมือทำความดีฟื้นฟูคลองแสนแสบภายใต้การกำกับดูแลสำนักงานเขตคันนายาวที่มีผู้ว่าฯ กทม.มอบหมายนโยบายให้ที่ต้องการให้ฟื้นฟูคลองแสนแสบ ในส่วนเขตคันนายาวที่เป็นเครือข่ายที่จะดำเนินการฟื้นฟูภายใต้กิจกรรมที่ต้องทำความสะอาดคูคลองจัดเก็บผักตบชวาเพื่อเป็นการเปิดทางน้ำไหล และอีกกิจกรรมที่ทำคือติดตั้งบ่อไขมันทุกครัวเรือนในพื้นที่รัศมีห่างจากคลองแสนแสบ 500 เมตรที่มี 851 ครัวเรือน และปีนี้มีเป้าหมายติดตั้งนำร่องจำนวนกว่า 300 ครัวเรือน จากนั้นก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในครัวเรือนที่เหลือภายใน 1-2 ปี

นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กล่าวว่า ในส่วนเขตมีนบุรี เราได้ดำเนินการเช่นเดียวกับสำนักงานเขตคันนายาวที่อยู่ติดกับคลองแสนแสบซึ่งใน กทม.อยู่ติดกับคลองทั้งหมด 21 เขตที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ทุกเขตติดคลองในการดำเนินการแก้ปัญหาฟื้นฟูและพัฒนาคลอง โดยเขตมีนบุรีก็จะมีการจัดทำและปรับปรุงภูมิทัศน์ในระยะ 21 กม.ในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียจากการปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือนประชาชนด้วยการควบคุมไม่ให้ประชาชนปล่อยน้ำเน่าเสียลงคลองโดยตรงภายใต้ระบบบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยการติดตั้งบ่อบำบัดไขมัน โดยตอนนี้สำนักงานเขตมีนบุรีได้ติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสียใกล้จะแล้วเสร็จซึ่งทำให้สามารถควบคุมน้ำเน่าเสียก่อนปล่อยน้ำดีลงแม่น้ำลำคลอง

“ในส่วนเขตมีนบุรีเองก็มีการดำเนินการภายใต้การควบคุมในระยะ 500 เมตรเช่นเดียวกับเขตคันนายาวและตอนนี้ภายในนิคมฯ บางชันก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงมาประสานงานตรวจสอบการปล่อยน้ำทิ้งลงคลองแสนแสบโดยผ่านระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพก่อนปล่อยน้ำลงคลองแสนแสบ หากโรงงานไหนไม่มีการบำบัดน้ำเสียที่ไม่ได้คุณภาพก็จะหาทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและสภาพแวดล้อมก็จะทำให้สภาพคลองแสนแสบดีขึ้น ซึ่งตอนนี้เตรียมดำเนินการเบื้องต้นจำนวนกว่า 2 พันครัวเรือนที่อยู่ติดคลองสาขาแสนแสบ ในส่วนคลองแสนแสบที่อยู่ติดกับนิคมฯ บางชันดำเนินการแล้วประมาณ 700-800 หลังคาเรือน โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ประมาณ 2 พันกว่าหลังคาเรือน”










กำลังโหลดความคิดเห็น