xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ห่วงการก่อสร้าง “สะพานเชื่อมเกาะสมุย” ส่งผลกระทบธรรมชาติทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์วิเคราะห์งานก่อสร้าง “โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” อาจส่งผลกระทบทางธรรมชาติของทะเล เผยหากเราสร้างความสบายแต่ทำลายทะเล มันก็คงไม่ใช่!! 

วันนี้ (18 ก.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์วิเคราะห์ผลกระทบทางธรรมชาติของ “โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย”

โดยระบุว่า "โครงการสะพานไปเกาะสมุย ระยะทางในทะเล 25 กม. ได้เส้นทางที่ชัดเจนแล้ว ต่อจากนี้คือเริ่มออกแบบและทำ EIA ผมจึงอยากบอกไว้แต่เนิ่นๆ ว่าพื้นที่นั้นมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง เพื่อนธรณ์ดูตัวเลข 1-2-3 ในแผนที่ประกอบคำอธิบายนะครับ

1. อ่าวตก เกาะแตน เป็นพื้นที่หญ้าทะเลดีสุดแห่งหนึ่งของบริเวณนี้ หญ้าทะเลเกลียดตะกอนมาก กระแสน้ำและคลื่นลมยังอาจพาตะกอนจากการก่อสร้างเข้าพื้นที่ได้ง่าย

นอกจากหญ้าทะเล ตรงนั้นยังมีแนวปะการังและป่าชายเลนด้วยครับ

2. แหลมสอ จุดสะพานเชื่อมต่อแผ่นดิน ตรงนั้นมีปะการัง สะพานยังไงก็ต้องข้ามแนวปะการังตรงนี้ จะออกแบบยังไงต้องระวังให้ดีด้วย (ปะการังเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่ระวังก็โดนฟ้องฮะ)

ชายหาดยังเคยมีรายงานวางไข่ของเต่าทะเลด้วยครับ

3. แนวปะการังตรงนี้มีแหล่งหญ้าทะเลอีกเช่นกัน ตะกอนจากการก่อสร้างอาจไหลมาส่งผลกระทบทั้งปะการังทั้งหญ้าทะเล ต้องระวังให้มากครับ

ตามข่าวบอกว่าสะพานจะเริ่มสร้างปี 2572 ตอนนี้จะเริ่มออกแบบ จึงนำมาบอกไว้ให้ระวังและคิดป้องกันผลกระทบตั้งแต่ต้น

อันที่จริง แถวนั้นก็มีปะการังและหญ้าทะเลอีกหลายแห่ง การทำ EIA ต้องรอบคอบเป็นอย่างมาก

การพัฒนาเพื่อเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องคนแถวนั้นเป็นเรื่องดี แต่ดีที่สุดคือพัฒนาแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติจนเกิดความเปลี่ยนแปลง

อย่าลืมว่าทะเลคือทรัพยากรสำคัญสุดของพื้นที่ นักท่องเที่ยวล้วนมาทะเล หากเราสร้างความสบายแต่ทำลายทะเล มันก็คงไม่ใช่

คณะประมงลงพื้นที่ตรงนั้นประจำ มีข้อมูลและมีภาพเยอะเลยครับ"

คลิก>>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น