xs
xsm
sm
md
lg

มสธ.ร่วมยกระดับสินค้าชุมชน หนุนซอฟต์เพาเวอร์ สร้างมูลค่า คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวิน ชินะโชติ ประธานกรรมการสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ริมขวา) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. (ตรงกลาง) และพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับสินค้าชุมชนใต้ หนุนซอฟต์เพาเวอร์ ผ่านงานสัมมนาวิชาการ “สินค้าชาวไทย มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน” ในโครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างแบรนด์ และคุ้มครองนวัตกรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจดเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการสินค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

13 กรกฎาคม 2567 : พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเข้าร่วมเปิดงานสัมมนา “สินค้าชาวไทย มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน” พร้อมชูเอกลักษณ์สินค้าไทย ผสมผสานนวัตกรรม ดันเศรษฐกิจฐานรากสู่ตลาดสากล โดยมีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างแบรนด์ และคุ้มครองนวัตกรรมนั้นด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจดเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการสินค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ได้ใช้แนวคิด Soft Power ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านหลายกลยุทธ์หลัก คือการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศิลปะ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรม ซึ่งสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทยบนเวทีโลก

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทาย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ การสร้างสินค้าชาวใต้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างโอกาส สร้างทุนทางพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรม เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความสมานฉันท์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดในการสร้าง พัฒนาแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และสื่อถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มและสามารถแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและระดับนานาชาติได้”

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “การจัดสัมมนาโครงการ “สินค้าชาวใต้ มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพาณิชย์จังหวัดในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพในอันที่จะพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และความสมบูรณ์ของทรัพยากรและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา/ กรรมการกฤษฎีกา ศาสตราจารย์ วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย ร่วมบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องการคุ้มครองแบรนด์สินค้าผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนผ่านการสร้างแบรนด์ชุมชน และ GI โดยมีนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย Soft Power เป็นตัวขับเคลื่อน

โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ร่วมเยี่ยมชมงาน ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

ภายในงานมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการและร่วมออกบูทกิจกรรม และจัดนิทรรศการกว่า 220 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน












กำลังโหลดความคิดเห็น