xs
xsm
sm
md
lg

ประมงสงขลาประกาศจับปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประมงจังหวัดสงขลาประกาศจับปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น พบที่ไหนแจ้งด่วน หลังสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่สมุทรสงคราม-เพชรบุรีมาตั้งแต่ปี 2555

วันนี้ (3 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ประชาสัมพันธ์ว่า ประกาศจับปลาหมอคางดำ ลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ พบได้ทั้งน้ำจืด บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล เพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย สัตว์น้ำต่างถิ่น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร หากคุณมีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับที่ที่เขาอยู่ โปรดติดต่อและแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้านท่าน โทร.สายด่วนช่วยเหลือของเราที่ โทร. 0-7431-1302

สำหรับปลาหมอคางดำ มีต้นกำเนิดการระบาดมาจากตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งแต่ปี 2555 ก่อนแพร่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี หลังมีการขออนุญาตกรมประมงทดลองนำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อปี 2553 ปรากฏว่าตายหมดภายใน 3 สัปดาห์ จึงได้นำซากปลาไปฝังกลบ โรยปูนขาว และแจ้งกรมประมงให้ทราบทางวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาต

ต่อมาเกษตรกรในตำบลยี่สารพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรกในปี 2555 เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น กินอาหารเก่ง กินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืช และลูกกุ้ง ลูกปลาที่มีขนาดเล็กๆ แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว อัตราการรอดตายสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่น รวมถึงบ่อเลี้ยง สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร กระทั่งในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และมีการประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเพื่อบริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น