xs
xsm
sm
md
lg

15 สัญญาณอเมริกาเสื่อมทรุด ไทยเสี่ยงเดินตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิด 15 สัญญาณ สหรัฐอเมริกากำลังเสื่อมลงทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา ภาวะเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือน หนี้สาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานที่หยุดการพัฒนามาหลายสิบปี ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมติดลบ แต่ดูเหมือนว่าคนอเมริกันจำนวนมากไม่สำเนียก ยังคงดื้อรั้นนำพาประเทศและสังคมไปในทิศทางที่ผิด และเป็นสัญญาณเตือนสำหรับประเทศไทยขณะนี้ที่มีปัญหาหลายอย่างคล้ายๆ กับอเมริกา



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึง วิกฤตใหญ่ 15 ประการที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งเป็นความจริงที่น่าตกตะลึงเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของสหรัฐอเมริกาที่มักโอ้อวดตัวเองว่าเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก

ประการแรก : ระเบิดเวลาเรื่องหนี้สาธารณะความเสี่ยงจากสถานการณ์หนี้สาธารณะ (Public Debt) ที่เหมือนระเบิดเวลา และเป็นภัยคุกคามที่สําคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง

ปัจจุบัน สถานะเงินคงคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถังแตกเหลือต่ำกว่า 38,800 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าทรัพย์สินมหาเศรษฐีโลกบางคนอย่างนายเบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ ประธานบริษัท LVMH สินค้าแฟชั่น แบรนด์หรูระดับโลก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 193,000 ล้านดอลลาร์เสียอีก


ขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็พุ่งทะลุ 34.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 1,270 ล้านล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ในทุกปีงบประมาณจะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยหนี้ดังกล่าวสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 36.7 ล้านล้านบาททุกปี


นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ นี้จะเพิ่มสูงถึง 150%ของ GDP ภายในปี 2571 (หรือ ค.ศ.2028) หรือในอีก 4 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า การขาดดุลประจำปีจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่รายได้รวมของประเทศสหรัฐฯ ก็จะหดหาย, ส่งผลถึงพันธบัตรสหรัฐมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ สถานะเงินดอลลาร์เสื่อมค่าจาก กระบวนการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) รวมไปถึง การสิ้นสุดของยุคเปโตรดอลลาร์ (Petrodollar) หรือ การใช้เงินดอลลาร์เพียงสกุลเดียวในการซื้อขายพลังงานฟอสซิล ทำให้ประเทศต่าง ๆ โลกหันไปลงทุนอย่างอื่นมากขึ้น เช่น ทองคำ และเงินสกุลหลักอื่น ๆ

ยังไม่นับรวมกับการที่ นักการเมืองในสหรัฐฯหาเสียงเอาไว้ว่าจะแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่อง
- เงินประกันสังคมค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (Medicare, Medicaid)
- กองทุนบำเหน็จบำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Federal Employee Pensions)
-ผลประโยชน์ทหารผ่านศึก และ หนี้สาธารณะอื่น ๆ

ซึ่งทั้งหมดนี้ หากทำจริงจะเป็น ภาระต่องบประมาณสูงถึงปีละหลายสิบล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องลดการจ่ายเงิน ตัดเงินบำนาญผู้ประกันตนหรือตัดบริการประกันสุขภาพของประกันสังคม Medicare, Medicaid ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเดโมแครตก็จะส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงทางการเมือง


ขณะที่งบใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ แทนที่จะใช้ไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ หรือ ประชาชนชาวสหรัฐฯ แต่กลับสิ้นเปลืองไปกับโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น งบประมาณด้านการทหารป้องกันประเทศที่ยังคงส่งเสริมการทำสงครามทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในยูเครน หรือ ในตะวันออกกลาง ก็จะเร่งให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลทำให้เศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ ตกต่ำลงเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ปัญหาภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็สูงอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นพุ่งสูงขึ้นในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ครอบครัวส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตในแต่ละวันอย่างยากลำบาก

ประการที่ 2 : ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และวิกฤตของแนวคิดสินเชื่อเพื่อการศึกษา

แม้ว่าอันดับโลกของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จะยังอยู่ในกลุ่มหัวแถวของโลกไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยอย่าง Harvard, MIT, Princeton, Stanford, Columbia หรือ บรรดามหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีกทั้งหลาย แต่ระบบการศึกษาในสหรัฐฯ นั้นกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก

ปัจจุบัน ระบบการศึกษาในสหรัฐฯ นั้นที่มีประสิทธิภาพต่ำลงเรื่อย ๆ โดยคุณภาพนักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และการอ่านต่ำ มีเพียง 29% ของนักเรียนเกรด 4 และ 20% ของนักเรียนเกรด 8 เท่านั้นที่สอบผ่านวิชาคณิตศาสตร์ ระดับความสำเร็จการศึกษาลดลง


บ่งชี้ว่าระบบการศึกษาล้มเหลว ถดถอยทั้งก่อนและหลังโควิด-19 เกิดปัญหาการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ขณะที่ “ค่าเล่าเรียน” ที่สูงขึ้นเป็นภาระแก่นักศึกษาและครอบครัว บีบให้คนสหรัฐฯ เป็นหนี้ Student Loan เหมือนหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของไทย หรือ กยศ. สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบัน มีคนสหรัฐฯ เป็นหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษามากกว่า45 ล้านคน ยอดหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาคงค้างสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์(ราว 63 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้โดยเฉลี่ยแล้วชาวสหรัฐฯ ที่เป็นหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ละคนมีหนี้สูงถึง 37,691 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคนละเกือบ 1 ล้าน 4 แสนบาทเลยทีเดียว !


เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางการศึกษา การใช้ชีวิต และความก้าวหน้าในการงาน สำหรับชาวสหรัฐฯ หลายล้านคน นอกจากนี้ การขาดโครงการลดหนี้หรือพักชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น ซึ่งเรื่องหนี้การศึกษาของเมืองไทยก็ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แพ้กัน

ประการที่ 3 : ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนที่เพิ่มขึ้น แบบรวยกระจุก-จนกระจายในสหรัฐอเมริกาที่เป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางกำลังหดตัว

ความมั่งคั่งกระจุกตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรวยเพียงหยิบมือเดียว ในขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ยากจนลง ต้องเผชิญกับรายได้ที่ซบเซาหรือลดลง มีความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ทำให้เกิดภาวะการหดตัวลงของกลุ่มชนชั้นกลาง


จากปี 2514 (ค.ศ.1971) ซึ่งมีสัดส่วนชั้นกลางในสหรัฐฯ อยู่ราว 61%เมื่อผ่านไป 50 ปีมาถึงปี 2564 (ค.ศ.2021) สัดส่วนชั้นกลางในสหรัฐฯ ก็ลดลงเหลือเพียง 50%

ขณะที่ในปีที่แล้ว ดัชนีชี้วัดสำคัญ คือ อัตราการเป็นเจ้าของบ้านของชาวสหรัฐฯ ลดลง(หรือ กล่าวง่าย ๆ คือ คนไม่มีปัญญาซื้อบ้าน ต้องไปเช่าบ้านอยู่มากขึ้น)ช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างคนรวยและคนส่วนใหญ่ที่ยากจนลงๆ ทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมเศรษฐกิจที่แย่ลง และรุนแรงขึ้น

ประการที่ 4 : การสูญเสียอัตลักษณ์ของชาวอเมริกัน 

แนวคิดและจิตวิญญาณเรื่อง “ความรักชาติ (Patriotism)” กำลังถดถอยลงในหมู่คนอเมริกันรุ่นใหม่ที่มองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องล้าหลัง และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ทำให้ความตึงเครียดทางเชื้อชาติเพิ่มมากขึ้นในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ประเด็นเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดสภาวะสังคมอเมริกา แตกแยก และล่มสลาย


จากการสำรวจของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา คาดว่าภายในปี 2592 หรือ ค.ศ. 2050 อีก 26 ปีข้างหน้า ชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายลาติน อย่างเช่นพวกเม็กซิกัน เชื้อสายแอฟริกัน เชื้่อสายเอเชีย รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอเมริกา กินสัดส่วนถึง 54% ส่วนคนผิวขาวจะลดลงเหลือแค่ 46%

ตอนนี้ชาวอเมริกันประมาณ 42% เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ดีสำหรับประเทศ ในขณะที่ 35% เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรดังกล่าวนั้นจะส่งผลในเชิงบวก

ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าอีกสิบปีข้างหน้า หรือ 2577 ชาวอเมริกันที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ 56% มองว่าเป็นผลเสียต่อประเทศ

ประการที่ 5 : ความล่มสลายของความไว้วางใจต่อสถาบันหลัก และระบบการเมือง

เรื่องนี้ถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐฯ คนอเมริกันส่วนใหญ่สูญเสียความไว้วางใจในรัฐบาลกลางที่ โดยมีความไม่พอใจปรากฏชัดในการสำรวจความคิดเห็น การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่าง นายโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน


คนอเมริกากำลังอยู่ในภาวะ ไม่เชื่อและเบื่อหน่ายนักการเมือง องค์กรเศรษฐกิจ และสื่อมวลชนที่ไม่ซื่อตรงต่ออาชีพ ระบบการเมืองล่มสลายทำลายความเชื่อมั่นในนโยบายและสถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศา ก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น (ฟัง ๆ ดูแล้วคนอเมริกันก็มีอารมณ์ และความรู้สึกเหมือนคนไทยอยู่ไม่น้อย)

ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง เกิดลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่ล้าสมัย คนอเมริกันจำนวนมากเริ่มมีความคิดสุดโต่ง และ โดดเดี่ยวมากขึ้นจากมุมมองทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการแตกแยกเกลียดชังเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว


ขณะเดียวกัน ค่านิยมทางศีลธรรมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพิ่มความตึงเครียดปัญหาสังคมเศรษฐกิจ

จากกราฟด้านล่างแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ผ่านเหตุการณ์ยุคสงครามเย็น, สงครามเวียดนาม, วิกฤตน้ำมัน, สงครามอ่าว, เหตุการณ์ 9/11, วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปัจจุบันระดับความเชื่อมั่น (Trust) ของสาธารณชนชาวอเมริกันต่อรัฐบาลนั้นตกต่ำมาอยู่ในระดับที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 80 ปี


ประการที่ 6 : ความตึงเครียดจากสงครามความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและข้อพิพาททางการค้า

ประเด็นนี้ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกว้างขวาง เกิดการกีดกันทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และศักยภาพการทำสงครามของกองทัพแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขัดขวางตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น

ประการที่ 7 : ภาระหนี้ครัวเรือนระดับสูง ทำให้คนอเมริกาจมอยู่ในทะเลหนี้หนี้เหล่านี้รวมถึงหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ หนี้บ้านและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำให้เกิดวงจรการเงินอุบาทว์เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยโหดที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้บัตรเครดิตสูงถึง 23% ซึ่งเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์


โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้สึกกดดันที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อประเภทนี้มากขึ้นเพื่อให้มีเงินพอใช้แต่ไม่พอจ่ายหนี้ กระทบต่อต้นทุนการให้บริการ ปริมาณหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งจำกัดการออมและการลงทุน

ประการที่ 8 : ปัญหาตลาดราคาบ้านพุ่งสูง ก่อให้เกิดวิกฤตคนไร้บ้าน

ตลาดที่อยู่อาศัยกลายเป็น “พรมแดนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้” สำหรับชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก ราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นจากการเก็งกำไร ทำให้ราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นๆ เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก ลูกหนี้ไม่มีปัญญาผ่อนส่งได้ ขณะที่ราคาค่าเช่าบ้านก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน


ประเด็นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม บางครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะไร้ที่อยู่อาศัยกลายเป็นคนไร้บ้านเร่ร่อนนอนริมถนน โดยอัตราการอายัดยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 10% ในปีที่ผ่านมา ส่งสัญญาณความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่อยู่อาศัย อัตราการจำนองที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจคุกคามผลักดันครอบครัวจนลงจำนวนมาก กลายเป็นคนไร้บ้านเร่ร่อนตามท้องถนน


ขณะเดียวกันตามเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการอพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก เกิดปรากฏการณ์ Urban Doom Loop ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะฝั่งตะวันออกอย่าง นิวยอร์ก ไปจนถึง ฝั่งตะวันตกอย่างซานฟรานซิสโก หรือ ลอสแองเจลิส และกระจายไปทั่วอเมริกา


เมืองเหล่านี้ กำลังเผชิญปัญหาอาคารสำนักงานธุรกิจที่ว่างเปล่า ไม่มีคนเช่า ส่งผลให้รายได้จากภาษีที่ลดลง ซึ่งนำไปสู่การลดงบประมาณ และลดการให้บริการสาธารณะ เช่น มีงบประมาณน้อยลงสำหรับความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อการคมนาคม และ เพื่อการศึกษา ที่ทำให้เมืองเหล่านี้นับวันยิ่งไม่น่าอยู่อาศัยเหมือนเดิมอีกต่อไป


ประการที่ 9 : ปัญหาการพึ่งพาโครงการสวัสดิการของรัฐบาล และ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แพงขึ้นอย่างมหาศาล

จำนวนคนอเมริกันที่ต้องพึ่งสวัสดิการรัฐมากเป็นประวัติการณ์ โดยชาวอเมริกัน 81 ล้านคนลงทะเบียนใน Medicaid หรือ โครงการรักษาพยาบาลที่มุ่งช่วยเหลือคนยากจน ผู้มีรายได้น้อย และคนพิการ

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันอีก 41 ล้านคน(คิดเป็น 12.4% ของประชากร) ยังลงทะเบียนเพื่อขอรับแสตมป์อาหาร (Food Stamp)

ปัญหาสำคัญของวิกฤติครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะคนแก่ยุคเบบี้บูมจำนวนมากเกษียณอายุซึ่งจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะใช้จ่ายนานถึง 10 ปี และประมาณ 40% ของครอบครัวชาวอเมริกันที่มีผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องพึ่งพาเงินประกันสังคมเป็นรายได้หลัก ส่งผลให้จำนวนผู้รับเงินบำนาญประกันสังคมมากกว่าคนทำงานจ่ายภาษีเอาเงินเข้ากองทุน เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมของสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับอัตราการเกิดต่ำ และประชากรวัยทำงานของสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง


แต่ความวิตกกังวลของผู้ที่มีอายุ 50 ปี ก็ห่วงกังวลอนาคตระบบประกันสังคมและแผนรับบำนาญแบบเดิมกำลังพังทลายก่อนเกษียณ สวัสดิการประกันสังคม ทั้ง Medicaid และ Medicare อาจจะถูกตัดและได้รับเงินบำนาญไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย ก่อนการล้มละลายของโครงการสวัสดิการประกันสังคมMedicaid และ Medicare ที่รัฐไม่สามารถชำระหนี้ของระบบประกันสังคมในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่?


คนอเมริกันวัยกลางคนระหว่าง 45-65 ปีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายว่า หากต้องเกษียณอายุ ขาดเงินออมเพียงพอที่จะรักษามาตรฐานการครองชีพหลังเกษียณ วิกฤตนี้คุกคามแผนการใช้ชีวิตเกษียณในช่วงปีทองของพวกเขา เพราะสำนักงานประกันสังคมสหรัฐ (Social Security Administration) หรือ SSA ได้เปิดเผยว่า เงินกองทุนประกันสังคมที่จ่ายให้ Medicare และ Medicaid ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะหมดลงในปี 2578 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์แทบจะไม่แตกต่างจากกองทุนประกันสังคมของไทยเลย

ประการที่ 10 : ปัญหาการจ้างงานซบเซา เงินเดือนและค่าจ้างไม่ได้รับการปรับขึ้น

ปัจจุบัน อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ 4% ยังคงสูงกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ การเติบโตของค่าจ้างยังคงซบเซา บริษัทต่าง ๆ ลดการใช้แรงงานหรือลดชั่วโมงทำงาน การจ้างงานชั่วคราวปรับลดลง บ่งชี้ถึงภาพการจ้างงานโดยรวมที่ลดลง


ขณะเดียวกันค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกจ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็น ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนระบบการค้า ซึ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อีกทั้งค่าเบี้ยประกันรถยนต์ก็เพิ่มขึ้น ผู้ขับขี่รถยนต์จำนวนมากขึ้นไม่สามารถจ่ายค่าความคุ้มครองที่เสี่ยงต่อผลทางการเงินและกฎหมาย แนวโน้มนี้อาจส่งผลกระทบกระเพื่อมในอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจในวงกว้างที่ทำให้เกิดความเครียดทางการเงินสำหรับบุคคลและธุรกิจ

การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากโรคระบาดเมื่อสามปีที่แล้วยังคงมีอยู่ ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นและเพิ่มต้นทุนการขนส่งให้กับธุรกิจและผู้บริโภคชาวอเมริกัน

ประการที่ 11 : ปัญหาใหญ่การแพร่ระบาดของยาเสพติด และการเสพยาเกิดขนาดในอเมริกาพุ่งสูง ก่อให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงมากเป็นประวัติการณ์

ในสหรัฐฯ มีคนตายมากกว่า 108,000 รายต่อปี หรือ เฉลี่ยเสียชีวิตวันละกว่า 130 ศพ เนื่องจาก ชาวอเมริกันเกือบ 49 ล้านคนติดยาเสพติด และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น มีผู้ตกเป็นเหยื่อต้องเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 137%


ปัญหาอาชญากรรมที่ระบาดในเมืองใหญ่ๆที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น จี้ปล้นชิงทรัพย์ ปล้นขโมยรถ ฆ่าข่มขืน ทำร้ายร่างกาย และขโมยของในห้างร้านซึ่งต้องใช้กุญแจโซ่ล่ามล็อกตู้ขายสินค้า บางรายการต้องใส่กล่องพลาสติกล็อกไว้ป้องกันขโมยตามห้างร้านหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน เกิดให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว ในการชีวิตประจำวัน และรู้สึกไม่ปลอดภัยกระจายไปทั่วชุมชน คุกคามคุณภาพชีวิตของคนอเมริกัน


ประการที่ 12 : ปัญหาประชากรลดลงและอัตราความยากจนของเด็กพุ่งสูงขึ้น

อัตราการเกิดต่ำในสหรัฐฯ ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 45 ปี หรือ นับตั้งแต่ปี 2522 โดย ในปีที่แล้วสหรัฐฯ มีทารกเกิดใหม่น้อยกว่า 3.6 ล้านคน

เรื่องนี้กำลังจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร นโยบายเศรษฐกิจและความสมดุลของอำนาจใหม่ จำเป็นต้องจัดระเบียบสังคมใหม่ ซึ่ง มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา และ Space X อย่าง อีลอน มัสก์เคยเตือนไว้ว่าการลดลงของประชากรคือภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ

ขณะที่อัตราความยากจนของเด็กพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชากรเด็กจำนวนเกือบ 9 ล้านคนหรือ 12.4% มีภาวะความเป็นอยู่ที่ยากจนย่ำแย่ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการศึกษาและด้านสุขภาพเด็กรวมถึงโอกาสในอนาคต นอกจากนี้ครอบครัวคนจนยังขาดเงินออม ทำให้ครัวเรือนเสี่ยงอยู่ไม่รอดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และก่อปัญหาทางศีลธรรมเสื่อมโทรม เป็นภัยคุกคามต่อสังคม

ประการที่ 13 : ความไม่มั่นคงของตลาดแรงงาน จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนมนุษย์


ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าระบบอัตโนมัติในที่ทำงานจะเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและคนจน โดยไม่คำนึงถึงวุฒิการศึกษา และจะไม่ส่งผลให้เกิดงานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของงาน ส่งผลให้หลายคนไม่มั่นใจในแนวโน้มทางเศรษฐกิจในระยะยาว กลัวการสูญเสียรายได้อย่างกะทันหัน ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจการเงิน

ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น การชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงภาวะถดถอยที่ใกล้จะเกิดขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนสัญญาณที่ชัดเจนว่า การหยุดชะงักการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง เสียงเรียกร้องปัญหาการว่างงาน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกำลังหดตัว ตัวชี้วัดทั้งหมดนี้ชี้ไปที่ภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงที่อาจนำประเทศสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มรูปแบบในปี 2567 หรือ ก็คือปีนี้นั่นเอง

ประการที่ 14 : ความเสื่อมโทรมของสภาพโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม


โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่มานานกว่า 60 ปี เช่น ถนน สะพาน ทางรถไฟ ท่าเรือ โครงข่ายไฟฟ้า เขื่อน และระบบท่อน้ำประปาอยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม จากรายงานโครงสร้างพื้นฐานล่าสุดเมื่อปี 2564 โดย สมาคมวิศวกรโยธาแห่งอเมริกา (American Society of Civil Engineers) ให้เกรดโครงสร้างพื้นฐานใน สหรัฐฯ ภาพรวมอยู่ในระดับ C – (ซีลบ)


โดยรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ถนนหนทาง และทางหลวงในสหรัฐฯ เริ่มมีสภาพที่ย่ำแย่, สะพานที่ทรุดโทรม และระบบน้ำที่เสื่อมโทรม ขณะที่รายงานของ นาย พอล เอ. โวล์เกอร์ อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ประเมินว่า สหรัฐจำเป็นต้องลงทุนงบเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เป็นเงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็น งบซ่อมแซมสะพานที่จำเป็นมากกว่า 220,000 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 33% ของสะพานทั้งหมดจำเป็นต้องซ่อมสร้างใหม่

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ กลับขาดแคลนงบประมาณ เพราะภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว จากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่รุมเร้าดังที่กล่าไวปแล้ว ขณะเดียวกันการจะเก็บภาษีเพิ่มเติมก็ทำไม่ได้

ประการที่ 15 : สหรัฐอเมริกา ตกอันดับความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress) เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

โดยตามหลังประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจต่ำกว่า เช่น เอสโตเนีย สาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส และกรีซ รายงานล่าสุดซึ่งออกมาเมื่อปี 2563 ระบุว่าดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมซึ่งประเมินประสิทธิภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจใดๆ นายไมเคิล กรีน ประธานของสถาบัน Social Progress Imperative เปิดเผยว่าจาก 163 ประเทศ มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่มีคะแนนโดยรวมลดลงมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งน่ากังวลถึงการก้าวถอยหลังในพื้นที่เชิงลบของสหรัฐอเมริกา


ที่น่าสนใจก็คือประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร เป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ขณะที่ทุกวันนี้ ชาวอเมริกัน และนักการเมืองก็ดูเหมือนว่าจะยังคง ไม่สำเนียกถึงปัญหา วิกฤต และความถดถอยดังกล่าว ยังคงดื้อรั้นนำพาประเทศ และสังคมไปในทิศทางที่ผิด ไม่ปรับตัวแก้ไขวิกฤตปัญหาเหล่านี้ ที่ต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง แนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์ และความกล้าหาญอย่างมาก

แต่หากชนชั้นนำในอเมริกา และชาวอเมริกันยังคงหลงอยู่ในวังวน และวัฏจักรแห่งความเสื่อมแบบเดิม ๆ แสงสว่างแห่งอนาคตของอดีตมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกก็คงริบหรี่ลงทุกที ๆ

ที่ผมสรุปมานี้ ไม่ใช่อยากจะชี้ให้เห็นปัญหาและแนวโน้มความตกต่ำลงของสหรัฐอเมริกา แต่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากเรานำประเด็นปัญหาทั้ง 15 ประการของสหรัฐฯ มาสะท้อนถึงบ้านเราประเทศไทย สังคมไทย ก็จะเห็นว่าประเด็นปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับคนอเมริกัน สังคมอเมริกันก็เกิดขึ้นกับประเทศไทยของเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

-ความล่มสลายของความไว้วางใจต่อสถาบันหลัก และระบบการเมือง

-ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนชนชั้นกลางที่หดตัวลง

-ภาระหนี้ครัวเรือนระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ หนี้บ้าน และเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

-ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และวิกฤตของแนวคิดสินเชื่อเพื่อการศึกษา

-การสูญเสียแนวคิด และความถดถอยเรื่องความรักชาติโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

-ปัญหาของการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (แก่ก่อนรวย ไม่ใช่รวยก่อนแก่)

- รวมไปถึงการต้องพึ่งพาโครงการสวัสดิการของรัฐบาล และ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แพงขึ้น

-ปัญหาการจ้างงานซบเซา เงินเดือนและค่าจ้างไม่ได้รับการปรับขึ้น

-ปัญหาความไม่มั่นคงของตลาดแรงงาน จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนมนุษย์ เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญหน้าอยู่เช่นกัน และต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้นเราก็อาจจะมีชะตากรรมที่อาจจะเลวร้ายกว่าชาวอเมริกันก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น