xs
xsm
sm
md
lg

10 ข้อสังเกต “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” ในกรุงเทพฯ-หัวเมืองใหญ่ อย่าให้ไร้ความหวัง! /สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนเร่ร่อน ไร้บ้าน 4,500 คน ตามหัวเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว และคาดว่าในกรุงเทพฯ มีมากถึง 1,668 คน!!

จากคำชี้แจง สถานการณ์ปัญหาคนไร้ที่พึ่งในปัจจุบัน โดยนายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และนางสาวฐาปนีย์ ศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มาให้ข้อเท็จจริงและหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา ”คนไร้ที่พึ่ง” ต่อคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา

ผู้แทนจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาคนเร่ร่อนในปัจจุบันอันเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์โควิด ทำให้การจ้างงานลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนผู้เร่ร่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-40

คนเร่ร่อนไร้บ้านในขณะนี้ที่มีจำนวนประมาณ 4,500 คน ส่วนมากกระจายอยู่ตามพื้นที่หัวเมืองใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว และในกรุงเทพฯ คาดว่าในกรุงเทพ จำนวนผู้เร่ร่อนมีมากถึง 1,668 คน

การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยากเนื่องจากรัฐบาลจัดสรรสวัสดิการในรูปแบบเหมารวมในศูนย์พักพิง หรือสถานสงเคราะห์ และบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา

ตัวอย่างเช่นที่ ธัญบุรีโมเดล ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสถานสงเคราะห์ที่มีพื้นที่จำกัด จำเป็นต้องให้คนเร่รอนทั่วไป (ที่มีสภาพจิตปกติ) และผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชมาอยู่ร่วมกัน ไม่มีการแยกแยะประเภทของคนเร่ร่อน ดังนั้นจึงทำให้คนปกติมีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชสูงขึ้นเป็นร้อยละ 80

สำหรับปัญหาคนเร่ร่อนนี้ ภาคองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) ได้ดำเนินการช่วยเหลือ และร่วมแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนฯ โดยการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย สนับสนุนให้คนเร่ร่อนมี โอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งช่วยให้คนเร่ร่อนพึ่งพาตัวเองได้ และสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชนได้อีกครั้ง

ผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ เช่น มูลนิธิกระจกเงา โดยการจัดทำฐานข้อมูลคนเร่รอนฯ ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สนับสนุนให้มีการจัดทำหมู่บ้านอิ่มใจ การให้ความรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำบัตรประชาชน และหาทุนประกอบอาชีพให้แก่คนเร่ร่อนฯ เป็นต้น

กรณีคนเร่ร่อนฯ ที่อยู่ต่างจังหวัด ดำเนินการแก้ไขโดยการจัดให้ย้ายทะเบียนเข้าบ้านมาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยได้ดำเนินการร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำเป็นโครงการห้องเช่าคนละครึ่งแก่ผู้เร่ร่อน เป็นต้น


ผมเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนในรูปแบบของกลุ่มองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ที่สนับสนุนให้คนเร่ร่อนได้ประกอบอาชีพและมีรายได้ รวมทั้งเห็นด้วยกับ “โครงการค่าเช่าคนละครึ่ง” กับผู้เร่ร่อน โดยเห็นว่าเป็นการสร้างโอกาสให้แก่คนเร่ร่อน สามารถจะดำรงชีวิตได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้

ซึ่งการแก้ปัญหาสังคมนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางด้านวิชาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจทางด้านกฎหมายที่จะไปบังคับใช้กับคนเร่ร่อน เพราะการใช้กฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้

ดังนั้นกระทรวงพัฒนาสังคมและ กทม. จำเป็นต้องทำงานโดยการร่วมมือกับหลายภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะเป็นการช่วยกันระดมความคิด และได้มุมมองในการแก้ปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐควรให้การสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยแก่อาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก เพื่อศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

คณะกรรมาธิการการแก้จนและลดความเหลื่อมล้ำยินดีที่จะจัดตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้น และยินดีเป็นเจ้าภาพในการทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนตลอดจน คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาที่สนใจจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมได้เชิญคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ดูงาน ณ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งธัญบุรี ผมได้ตอบรับคำเชิญด้วยความยินดี

นอกจากนี้ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครได้เสนอให้มีการ หารือในเรื่องนี้ให้กว้างขวางขึ้นโดยเสนอให้เชิญ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากทม. องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ตลอดจนนักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าร่วมหารือถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งในวันอังคารที่ 16 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 10.00 น. ที่อาคารวุฒิสภา


เครดิตคลิป Food For Fighters

สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ผมได้เห็นคลิปของคนไร้บ้านจำนวนมากที่ยืนต่อคิวรับอาหารที่ถนนราชดำเนิน จนผมอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้เป็นใคร? มาจากไหน? อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาพากันมาอาศัยอยู่ตามถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นใจกลาง ของกรุงเทพฯ และพวกเขามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน? หน่วยงานของภาครัฐแก้ปัญหานี้อย่างไร?

การหารือกันในวันนี้ช่วยให้ผมเห็นภาพของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ คร่าวๆ ดังต่อไปนี้

1 จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากปัญหาการตกงาน และไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่พักได้ จึงเลือกที่จะมาอาศัยนอนอยู่ตามท้องถนนแทน นี่เป็นชะตากรรมของผู้คนจำนวนหนึ่งที่เกิดจากวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ และวิกฤติจากการระบาดของโรคโควิด

2 คนไร้บ้านส่วนหนึ่งยังมีงานทำ แต่มีรายได้ที่น้อยเกินไปจนทำให้พวกเขาไม่มีความสามารถพอที่จะชำระ “ค่าเช่า” ห้องที่แม้จะมีราคาถูกได้ คนกลุ่มนี้อาศัยถนนและใต้สะพาน เป็นแหล่งพักพิง ชะตากรรมของคนกลุ่มนี้มาจากปัญหาราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา จนส่งผลให้ราคาค่าเช่าห้องสูงขึ้นตามไปด้วย

3 คนจำนวนหนึ่งมีปัญหากับคนในครอบครัวและรู้สึกอึดอัดใจจนเกินกว่าจะอยู่ร่วมกันได้ แต่เนื่องจากตัวเองไม่มีความสามารถพึ่งตัวเองได้ จึงต้องมาอาศัยพื้นที่ถนนเป็นที่อยู่อาศัยแทน คนกลุ่มนี้ยังมีญาติพี่น้องอยู่ แต่ก็ไม่เป็นที่ต้อนรับของญาติพี่น้อง “คนกลุ่มนี้แม้มีญาติพี่น้อง ก็เหมือนคนไร้ญาติพี่น้อง”

4 เด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหาครอบครัว และตัดสินใจออกมาอาศัยอยู่ตามริมถนนแทน ในช่วง ปัจจุบันที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศมีความเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวคนยากจน และ ครอบครัวที่มีรายได้น้อย ในสถานการณ์เช่นนี้โอกาสที่ครอบครัวจะแตกสลายได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ต้องแยกทางกัน เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัวมีโอกาสสูงที่จะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะความสิ้นหวังกับโอกาสในครอบครัวและสังคม

5 ไม่เพียงแต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากลง และ ปัญหาค่าเช่าในกรุงเทพฯ ที่สูงขึ้นที่จะกระทบต่อครอบครัวคนจนเท่านั้น แม้กระทั่งหน่วยงานของ กทม. ที่ครั้งหนึ่งเคยเช่าที่จากหน่วยงานภาครัฐให้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของคนไร้บ้าน ก็ยังไม่สามารถรับภาระค่าเช่าที่สูงได้

ดังนั้น กทม. จึงจำเป็นต้องยกเลิกโครงการนี้ไปอย่างน่าเสียดาย นี่เป็นชะตากรรมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากกลไกราคาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และหลักคิดของผู้คนที่ถือเอา “กลไกราคา” เป็นที่ตั้งเพียงสิ่งเดียว โดยมิได้คำนึงถึงมิติทางด้านสังคมหรือนโยบายด้านสังคมประกอบกันไปด้วย

6 คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคม การไม่มีทะเบียนบ้านหรือไม่มีบัตรประชาชนทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการ ต่างไจากภาครัฐ

7 สังคมที่ดีจำเป็นต้องมี นโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายด้านสังคมที่เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน หากนโยบายทั้งสองด้านขาดความสมดุลย์ จะส่งผลให้สังคมในภาพรวมเกิดความตึงเครียดและนำไปสู่วิกฤติของสังคมได้ สำหรับสังคมไทยในขณะนี้ รัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมดเน้นแต่นโยบายทางด้านเศรษฐกิจมากกว่านโยบายทางด้านสังคม ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นความตึงเครียด และวิกฤติในสังคมที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

8 หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องคนไร้บ้าน สมควรมีการทบทวนนโยบายเรื่องนี้ เพราะคนไร้บ้านที่อยู่ในสถานพักพิงของภาครัฐกลายเป็นแรงงานที่ไม่สร้างผลผลิต (unproductive) ให้แก่สังคม

รัฐบาลสมควรมีการจำแนกบุคคลที่สามารถทำงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้สามารถสร้างผลผลิต (productive) ส่วนหนึ่งให้แก่สังคมได้ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจให้แก่ตัวเขาเองด้วย

รวมทั้งรัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบสถานพักพิงของคนไร้บ้าน เพื่อที่จะให้มีการแยกกันระหว่างผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชกับผู้ไร้บ้านที่ไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต ที่สำคัญคือรัฐบาลควรหามาตรการที่จะส่งเสริมให้คนไร้บ้านที่สามารถประกอบอาชีพได้ๆ ออกไปสู่สังคมและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป

9 รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านคนไร้บ้าน เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีกฎหมายและระเบียบต่างๆ เป็นกรอบในการทำงาน นโยบายแบบนี้ของรัฐบาลจะช่วยให้การแก้ปัญหาคนไร้บ้านมีทางออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณทางด้านการคลังได้ดีกว่าเดิม และ

10 โดยสถานะปัจจุบัน คนไร้บ้านอาจรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวแล้ว พ่ายแพ้ต่อชีวิตแล้ว และหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้

แต่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ล้วนต้องผ่านช่วงความสำเร็จและความล้มเหลวมาทั้งสิ้น ความสำเร็จ มาแล้วก็ผ่านไป เช่นเดียวกันกับความล้มเหลว มาแล้วก็ผ่านไปเหมือนกัน ไม่มีใครประสบความสำเร็จตลอดไปได้ และไม่มีใครที่จะล้มเหลวตลอดไปได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่คนไร้บ้านสมควรได้รับในขณะนี้คือกำลังใจและการให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขากลายเป็นคนที่เข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ โดย ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา



กำลังโหลดความคิดเห็น