“ยาก” หนึ่งคำสั้นๆ จากปากของผู้ประกอบการ เอ่ยถึงความรู้สึกต่อสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ เมื่อมีความคิดริเริ่มจะสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาสักชิ้น
‘ยาก’ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หมายถึง มักไม่ใช่ความยากในขั้นตอนของการคิดไอเดียใหม่ๆ แต่เป็น ‘ความยุ่งยาก’ ของการหาที่ทางเพื่อผลิตสินค้านั้นให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการมองหาพื้นที่สำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นได้การรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้องก่อนออกวางจำหน่าย ซึ่งโดยมากจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและการแปรรูป
สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย SME หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องพึ่งพาตัวเองด้วยทรัพยากรและเงินทุนจำกัด ความยุ่งยากเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งที่จะทำให้พวกเขาล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อนที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นจะสำเร็จได้วางขายสู่ท้องตลอด สิ่งสำคัญที่ชวนให้ตระหนักตามมาคือ เราจะสามารถลดความยุ่งยากเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้อย่างไรบ้าง ในฐานะหน่วยงานภายใต้สถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยี และสถานที่
นั่นจึงเป็นที่มาของหนึ่งในเส้นทางการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ซึ่งผสานบริการเครื่องจักรสำหรับการผลิตและบริการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เข้าด้วย โดยอาศัยข้อได้เปรียบของระบบนิเวศภายในอุทยานฯ ทำให้สามารถส่งต่อการทำงานกันได้อย่างไร้รอยต่อ เอื้อให้ผู้ประกอบการที่มีความคิดริเริ่มอยากสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม ได้มีที่ทางสำหรับการทดลองผลิตสินค้าของตัวเองในปริมาณน้อย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ขยายโอกาสให้ลองผิด-ลองถูกได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถส่งต่อผลิตภัณฑ์เข้ารับการตรวจวิเคราะห์ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการยื่นขอมาตรฐานรับรองได้เลยทันที โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องพบเจอความยุ่งยากใดๆ
เส้นทางดังกล่าวนี้จะประกอบไปด้วย บริการจากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) ซึ่งดำเนินงานโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสายการผลิตสำหรับกลุ่มธุรกิจอาหาร คอยให้บริการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้งานเครื่องจักรหรือเครื่องมือ สำหรับทดลองผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งให้การการันตีทั้งคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และครอบคลุมทุกประเภทในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร พร้อมทั้งยังสามารถให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหารด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
และเพื่อให้การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างครบวงจรได้จริง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สำเร็จในขั้นตอนข้างต้น จะถูกส่งต่อไปยังบริการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารด้วยเครื่องวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง จากห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory) โดยมีทีมคอยสนับสนุนและให้บริการทดสอบวิเคราะห์ ทั้งในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องการประเมิณคุณภาพของสินค้า หรือนำไปใช้ประกอบในการจัดทำฉลากโภชนาการ (Nutrition Labeling) หรือใช้ยื่นขอมาตรฐานต่างๆ เช่น อย. GHP&HACCP หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ตามแต่กฎหมายกำหนด เพื่อขยายผลให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถวางขายได้ในตลาดที่กว้างขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตและทดสอบมาตรฐานแล้ว ยังสามารถทดลองวางขายก่อนจำหน่ายจริงได้ ในพื้นที่ทดสอบตลาดสินค้านวัตกรรม NSP INNO STORE เพื่อดูความเป็นไปได้ของตลาด ให้สามารถวางแผนการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป
นอกจากนี้ ทางอุทยานวิทย์ฯ ยังให้บริการกำจัดมอดในข้าวด้วยเทคโนโลยีการสั่นสะเทือนของคลื่นวิทยุ จากโรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (RF Technology Pilot Plant) ซึ่งปราศจากสารเคมีตลอดกระบวนการ ให้ความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร คงคุณภาพของข้าวไว้ได้อย่างครบถ้วน
ไม่เพียงการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านธุรกิจอาหารเท่านั้น อุทยานวิทย์ฯ ยังให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ด้วยการประสานส่งต่อโจทย์ไปยังหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบการได้เข้ารับบริการที่เหมาะสม ตรงจุด และที่สำคัญคือ ‘ง่าย’ ขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไป สามารถติดต่อเข้ารับเส้นทางบริการนี้จากอุทยานวิทย์ฯ ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5394-8678 หรือเดินทางเข้ามาติดต่อโดยตรงได้ที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)