ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป ที่กำลังมองหาไอเดียการผลิตสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง หรือภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมองหานวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการผลิต ตอนนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ได้เปิดตัวบริการใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ในชื่อ “Tech Licensing”
โดยอุทยานวิทย์ฯ มช.ได้เสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรม 6 ชิ้น จากการวิจัยและพัฒนาโดยบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พร้อมสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บุคคลภายนอก ในรูปแบบการทำข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) เพื่อส่งไม้ต่อความสำเร็จจากรั้วมหาวิทยาลัยให้เข้าถึงมือประชาชนได้ง่ายขึ้น ในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว จะประกอบไปด้วย
1. CMU-BIOT เทคโนโลยีกล่องควบคุมการเผาไหม้ในระบบบอยเลอร์แบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ ลดการใช้เชื้อเพลิงและไฟฟ้า พัฒนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. Phyto Care สเปรย์สารสกัดเปลือกกระเชาประสิทธิภาพสูง ใช้รักษาเรื้อนสุนัขและแผลสัตว์ ปราศจากผลข้างเคียง ให้ความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ พัฒนาโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. ซุปผักเชียงดาปลาแห้งผสมไข่กึ่งสำเร็จรูป อาหารอ่อนกึ่งสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก พัฒนาโดยศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. ขนมจีนเส้นไข่ผำอบแห้งกึ่งสำเร็จรูป และน้ำเงี้ยวหมู สูตรบดเหลว อาหารกึ่งสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุ เพิ่มคุณค่าทางอาหาร แต่คงรสชาติแบบดั้งเดิมไว้ครบถ้วน พัฒนาโดยศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. GIM BUGAK สาหร่ายทอดกรอบสไตล์เกาหลี เคลือบด้วยข้าวก่ำเจ้า มช.107 ซึ่งปรับปรุงสายพันธุ์โดยคณะเกษตรศาสตร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ
6. กล้วยเฉียบ ผลิตภัณฑ์จากกล้วยรูปแบบใหม่ แปรรูปด้วยเครื่องทำแห้งแบบลูกกลิ้ง (Drum dryer) รับประทานง่าย ปราศจากไขมันทรานส์ พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ใช้สิทธิสำหรับเทคโนโลยีในข้างต้น จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) อนุญาตให้ใช้สิทธิโดยไม่จำกัดจำนวนผู้รับอนุญาต (Non-Exclusive Licensing) และ 2) การอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว โดยมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาต่อยอดได้ (Sole Licensing) ซึ่งการเลือกรูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิและค่าใช้จ่าย จะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ขอและผู้ให้อนุญาตใช้สิทธิ ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงคนตัวเล็กๆ ที่ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง หากมีความสนใจในสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์เข้ารับบริการ “Tech Licensing” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Email: licensing@step.cmu.ac.th เลยทันที
นอกจากนี้ อุทยานวิทย์ มช.ยังมีบริการที่สนับสนุนผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมร่วมกับอาจารย์-นักวิจัย, การพัฒนาปรับปรุงกรรมวิธีการแปรรูปอาหารผ่านโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (FOOD FABR), การกำจัดแมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (UTD-RF) ไปจนถึงการเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจร่วมกับ Basecamp 24 สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5394-8678 หรือเดินทางเข้ามาติดต่อโดยตรงได้ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
“Tech Licensing” ถือเป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานเพื่อแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของอุทยานวิทย์ มช. ในฐานะสะพานเชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนสังคม โดยทางอุทยานวิทย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเป็นทางการนี้จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างสูงสุด