เชียงใหม่ - ม.เชียงใหม่ผนึกกำลัง สวก.ประสบความสำเร็จพัฒนางานวิจัยพลาสมาเพื่อประยุกต์ใช้ทางการเกษตร พร้อมอนุญาตเอกชนให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีเครื่องผลิตน้ำกระตุ้นพลาสมาเพื่อยกระดับการปลูกพืชในระบบปิด หวังเป็นต้นแบบผลักดันเกษตรกรไทยสู่ระบบ “เกษตรอัจฉริยะ” ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างรายได้สูง
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 67 ที่ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และนางสาวลัดดา ยาวิรัชน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์นโยบายและแผนงานวิจัยการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) พร้อมด้วยนายสัมพันธ์ พิพัฒน์วรการ ตัวแทนบริษัท แพทการ์เด้น จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวการอนุญาตให้เอกชนใช้สิทธิในเทคโนโลยีเครื่องผลิตน้ำกระตุ้นพลาสมา เพื่อยกระดับการปลูกพืชในระบบปิด ซึ่งเป็นผลงานของคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. โดยนับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อผลักดันสู่การเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงผลงานวิจัย นักวิจัย และเครื่องมือวิจัย นำไปสร้างประโยชน์และคุณค่าในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม
ผศ.ดร.ชนม์เจริญกล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนผลงานวิจัยให้พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ครอบคลุมทั้ง Hi-Tech และ Hi-Touch รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน (Social Innovation) จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่ง มช. ได้ศึกษางานวิจัยด้านพลาสมาทางการเกษตร โดยเริ่มต้นจากโครงการสร้างเครื่องต้นแบบเพื่อลดปริมาณสารพิษทางการเกษตรตกค้างในผักและผลไม้ด้วยเทคโนโลยีพลาสมา ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ในการดำเนินโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยเล็งเห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับเทคโนโลยีพลาสมา จากการพัฒนาต่อยอดในการสร้างระบบการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์โดยใช้น้ำกระตุ้นด้วยพลาสมาให้เป็นแหล่งทดแทนการใช้สารเคมีไนโตรเจนในสารละลายธาตุอาหาร เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืชและสามารถยกระดับเทคโนโลยีพลาสมาสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายผลงานวิจัยของ มช.ไปสู่การพัฒนาเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรที่จะรองรับการเติบโตภาคเกษตรกรรมของประเทศ
ขณะที่นางสาวลัดดาเปิดเผยว่า สวก.มีนโยบายการส่งเสริม สนับสนุนพัฒนานักวิจัย และวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจากนโยบายนี้ สวก.ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยพลาสมาที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการเกษตร โดยเฉพาะในส่วนของภาคการเกษตรนั้น สวก.ได้สนับสนุนทุนอุดหนุนงานวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับดำเนินงานวิจัยเพื่อการเกษตรในครั้งนี้ ซึ่ง มช.นับว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมในการสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทางด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระหว่าง มช.กับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อยกระดับการปลูกพืชในระบบปิด และผลักดันการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงการเกษตร
ด้านนายสัมพันธ์กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนจะนำเทคโนโลยีเครื่องผลิตน้ำกระตุ้นพลาสมาเพื่อยกระดับการปลูกพืชในระบบปิดจากการพัฒนาโดย มช.ครั้งนี้มาประยุกต์ใช้ในการสร้าง "Smart Farm" ในการยกระดับการเกษตรของไทยให้เป็น "เกษตรอัจฉริยะ" ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อีกทั้งการดำเนินโครงการ "1 อำเภอ 1 ฟาร์ม" ในกลุ่มของบริษัท ซึ่งจะช่วยขยายการใช้งานเทคโนโลยีพลาสมาในฟาร์มไปสู่วงกว้าง และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะอย่างแพร่หลาย โดยในระยะแรกจะเปิดให้ฟาร์มที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของเครื่องและการใช้งานจริง ก่อนที่จะเริ่มจำหน่ายเครื่องให้เกษตรกรต่อไป
สำหรับผลการดำเนินโครงการวิจัยครั้งนี้ มช.สามารถพัฒนาเครื่องสร้างน้ำกระตุ้นพลาสมา (Plasma activated water system) โดยเมื่อน้ำและอากาศที่ไหลผ่านเข้าสู่หลอดกำเนิดพลาสมา และถูกกระตุ้นด้วยพลังงานไฟฟ้าแรงดันสูง จะทำให้เกิดการแตกตัวของพลาสมาด้วยเทคนิคพินโฮลพลาสมาเจ็ต (pinhole plasma jet) จากผลการดำเนินงานวิจัยพบว่านอกจากอนุมูลอิสระไฮโดรดรอกซิลที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำพลาสมาแล้วยังพบว่าเครื่องสามารถเปลี่ยนไนโตรเจนในอากาศให้เป็นสารกลุ่มไนเตรทและไนไตรท์ที่มีบทบาทสำคัญในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชที่เกิดขึ้นในการสร้างน้ำกระตุ้นด้วยพลาสมา นอกจากนี้ เมื่อทดลองเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตของผักที่ใช้สารละลายธาตุอาหารไนโตรเจนจากน้ำกระตุ้นพลาสมา กับสารเคมีไนโตรเจนในสารละลายธาตุอาหาร ขนาด และน้ำหนักของผัก ไม่แตกต่างกันอีกด้วย