xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือนใจ! งูกัดตัวเอง เหตุไฟไหม้จตุจักร ผู้เชี่ยวชาญเผยเป็นสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้จตุจักรโซนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์หลายร้อยชีวิตต้องตายลง นอกจากนี้ชาวเน็ตยังแชร์ภาพงูกัดตัวเอง ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยเป็นสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของงู

จากกรณีเกิดเหตุสะเทือนใจ หลังเกิดเพลิงไหม้ภายในตลาดศรีสมรัตน์ โซนสัตว์เลี้ยง เขตจตุจักร ทำให้สัตว์หลากหลายชนิดถูกขังอยู่ในโซนสัตว์เลี้ยงต้องตายจากเหตุการณ์นี้ โดยไม่สามารถที่จะดิ้นรนหนีเพื่อเอาชีวิตรอดได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย“ ได้โพสต์ภาพไว้อาลัยให้กับสัตว์เลี้ยงในเหตุการณ์นี้ อีกทั้งบางส่วนยังได้แชร์ภาพ งูกัดตัวเอง พร้อมระบุข้อความว่า "ตอนไฟไหม้ร้าน งูก็คงจะทรมานมาก ถึงขนาดต้องกัดตัวเอง ผมดูลักษณะงูที่ตายเป็นร้อยๆ ตัวในเช้าวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567
จำนวนไม่น้อยต้องกัดตัวเอง ขอให้ไปสู่สุคติภูมิ อย่าได้มาเกิดให้มนุษย์กักขังอีกเลย"

อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นอย่างน่าเศร้ากันเป็นจำนวนมาก เช่น โคตรหดหู่เลย ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ต่างก็รักชีวิตตัวเอง, หดหู่ใจมากเลยค่ะ อย่าได้มาเกิดให้มนุษย์กักขังอีกเลยค่ะสงสารน้องๆ มาก, ขอให้ทุกดวงวิญญาณน้อยๆ สู่ภพภูมิที่ดี, ไม่ชอบงู แต่ก็อดสงสารไม่ได้เลย น้องคงจะทรมานมากๆ หมดเวรหมดกรรมแล้วนะลูก

สำหรับพฤติกรรม งูกัดตัวเอง เป็นสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอดของงู นายนิรุทธ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน หัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่มอสรพิษวิทยา อธิบายเอาไว้ว่า การที่งูกัดตัวเอง หรืองับเข้าที่ลำตัวของตัวเอง การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่ว่างูคิดสั้น แต่เป็นพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด หรืออาจจะมีอาการทางระบบประสาท และก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

ส่วนในกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้จตุจักร แล้วงูที่ถูกแชร์ งูกัดตัวเอง เป็นเพราะพฤติกรรมที่ต้องการจะเอาชีวิตรอดเช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิด โดยท่อหายใจของงูอยู่ในปาก เมื่อควันคลอกงูในปริมาณมาก มันจึงต้องงับเข้าที่ตัวเองเพื่อปิดช่องทางการหายใจ และม้วนตัวเองไว้เพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายไฟไหม้ เช่นเดียวกับคนที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็อาจจะใช้มือบีบจมูก หรือใช้หัวไหล่เป็นตัวช่วยในการป้องกันไม่ให้สูดดมควันเข้าไปได้ แต่งูไม่มีทั้งมือและไหล่ จึงต้อง กัดตัวเอง เพื่อปิดช่องทางการหายใจ




กำลังโหลดความคิดเห็น