โดย อาบอรุณ ธรรมทาน
ในปี 2567 เกิดคดีใหญ่ๆ หลายคดีที่เป็น Talk of the Town ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ฉ้อโกงและการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ล้วนอยู่ในความสนใจและการติดตามของสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข่าวสำคัญก่อนหน้าถูกเบียดจนตกกระแส ทั้งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ต้องมาจับตาดูว่า “คดีหมูเถื่อน” กฎหมายจะนำคนผิดมาลงโทษได้อย่างไร เพราะเป็นคดีที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้ประเทศชาติ โดยเฉพาะคนเลี้ยงหมู ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกราคาถูกบิดเบือนจนราคาตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตนานกว่า 1 ปี บีบเกษตรกรรายย่อยต้องออกจากระบบไปนับหมื่นราย จากช่วงปี 2564 ก่อนเกิดโรคระบาด ASF ซึ่งมีผู้เลี้ยงทั่วประเทศประมาณ 150,000 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 50,000 ราย
การสืบสวนจับกุมคดีหมูเถื่อนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร แต่เป็นการจับกุมระหว่างการขนย้ายและลักลอบนำเข้าตามชายแดน มากกว่าจับกุมที่ต้นทางสินค้าการนำเข้ามาในประเทศ แล้วส่งคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินคดี นำไปสู่การเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจค้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จับกุมหมูเถื่อนล็อตใหญ่เป็นครั้งแรก 161 ตู้ ของกลาง 4,500 ตัน เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 นำไปสู่การขยายผลเป็นคดีใหญ่อีก 2 กลุ่ม คือ คดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน ที่มีการสำแดงเท็จผ่านพิธีการศุลกากรออกไปจำหน่ายทั่วประเทศไทย และยังมีคดีนำเข้าซากสัตว์ เนื้อวัว หมูเถื่อนและสัตว์อื่น สวมสิทธิ์ตีนไก่อีกนับหมื่นตู้ แต่ทั้งสองคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าแม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม
การดำเนินคดีหมูเถื่อนเปรียบได้กับ “ม้าตีนต้น” ควบเต็มกำลังออกตัวแรงช่วงต้นและแผ่วลงตามลำดับ ไปไม่ถึงเส้นชัยจับคนทำผิด “ตัวใหญ่” ไม่ได้เสียที จนร้อนถึงนายกรัฐมนตรีต้องลงมาสั่งการและติดตามงานด้วยตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง นำไปสู่การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเพราะคดีไม่คืบหน้า ช่วงนี้แม้จะมีข่าวความคืบหน้าออกมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มีชื่อนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงที่อยู่เบื้องหลัง และทราบว่าจะมีการขออนุมัติสอบสวนคดีตู้ที่นำออกเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ส่วนคดี 161 ตู้ ได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยแถลงข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการระดับ “เจ้าหน้าที่” ตรวจสอบเอกสารเท่านั้น
ยิ่งนานวันยิ่งเกิดคำถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมูเถื่อนว่า หรือคดีนี้จะมี “ใบสั่ง” เพราะมีการตั้งข้อสังเกตที่เริ่มต้นคดีเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ที่จะทำให้คดีล่าช้าออกไปอีก ซึ่งคดีลักษณะนี้ พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยทำสำนวน และสรุปสำนวนส่งให้ศาลพิพากษาตัดสินคดีเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว 3 คดี คำถามที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ 1. จำเป็นต้องเลือกเป็นการสอบสวนคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ 2. เหตุใดจึงไม่รีบดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วดังเช่นที่ตำรวจเคยทำ และ 3. การได้ประวิงเวลาออกไปจะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่ และใครจะได้ประโยชน์
จากคำถามของสังคมข้างต้น ล้วนเป็นเหตุเป็นผลให้คิดไปว่า หรือจะจับ “ปลาใหญ่” ไม่ได้แน่ เพราะปลาใหญ่จับยาก จับได้ก็ดิ้นหนีเพราะแรงมาก สำหรับคดีหมูเถื่อนเดินทางมา 2 ปีกว่า แม้จะได้เพียงปลาซิวปลาสร้อย ทั้งเจ้าหน้าที่และนายทุน (ตัวเล็ก) ก็ต้องจับไว้ก่อนดีกว่า “คว้าน้ำเหลว” จับใครไม่ได้ จะเป็นการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือและความโปรงใสของกระบวนการสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีของไทย