xs
xsm
sm
md
lg

สภาการสื่อฯ เห็นชอบผลสอบพบนักข่าว 2 รายรับเงินรอง ผบ.ตร.จริง แต่ไม่มีต้นสังกัด ให้ยุติเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ เห็นชอบคำวินิจฉัยกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว โดยพบว่านักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 รายรับเงินจริง เป็นการกระทำละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 รายไม่มีต้นสังกัด หรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายนพปฎล รัตนพันธ์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้เห็นชอบคำวินิจฉัย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลาย

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกล่าวอีกว่า สำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าวฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 ราย ทั้งที่มีสังกัดและไม่มีสังกัด มีการรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามข่าวจริง และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 26 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน” แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 รายไม่มีต้นสังกัด หรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง แม้ว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นต้นเรื่องจะไม่ได้มาให้การต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ตาม แต่มีหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องว่ามีการจ่ายเงินแก่นักข่าวจริง


รายละเอียดคำวินิจฉัย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว

สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลาย

ต่อมาองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ได้ร่วมประชุมกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ พร้อมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นคนในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน โดยมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 มีนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธาน กำหนดให้ดำเนินการเสนอผลการสอบข้อเท็จจริงภายในระยะเวลา 120 วัน และขอขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วัน แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ส่งผลการตรวจสอบมาให้คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนพิจารณาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 โดยระบุว่าคณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันทั้งสิ้น 7 ครั้ง พร้อมทั้งได้รวบรวมข่าว ภาพข่าวและวิดีทัศน์การให้สัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดังกล่าว จากนั้นได้เชิญสื่อมวลชนและต้นสังกัดของสื่อมวลชนที่ถูกระบุชื่อมาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการ รับฟังได้ว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงยอมรับว่าเคยรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2 ครั้ง ครั้งละ 10,000 บาท ครั้งแรกเป็นเงินช่วยเหลือขณะที่บิดาป่วยเข้าโรงพยาบาล ส่วนอีกครั้งเป็นการรับเงินระหว่างไปทำข่าว โดยยืนยันว่า เป็นการรับแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ได้ร้องขอ เมื่อผู้ใหญ่ให้ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ และยอมรับว่ากระทำการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนองค์กรสื่อที่มีนักข่าวถูกพาดพิงได้ให้ข้อมูลเป็นเอกสารแก่คณะกรรมการ ระบุว่า ทางองค์กรยึดถือปฏิบัติตามข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนมาโดยตลอด และไม่มีนโยบายให้นักข่าวในสังกัดไปรับเงินจากแหล่งข่าวไม่ว่าในกรณีใดๆ เมื่อทราบข่าว จึงสั่งนักข่าวที่ถูกพาดพิงยุติการปฏิบัติหน้าที่พร้อมทั้งมีการสอบสวนตามกระบวนการในองค์กรโดยทันที พบว่าการกระทำของนักข่าวคนดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต่อมานักข่าวคนดังกล่าวได้แสดงความรับผิดชอบขอลาออกจากการเป็นพนักงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566

คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาผลการสอบสวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 ราย ทั้งที่มีสังกัดและไม่มีสังกัด มีการรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามข่าวจริง และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 26 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน” แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 รายไม่มีต้นสังกัด หรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง แม้ว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นต้นเรื่องจะไม่ได้มาให้การกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ตาม แต่มีหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องว่า มีการจ่ายเงินแก่นักข่าวจริง

อนึ่ง คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติยังเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ว่า องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่ว่าจ้าง ไม่ซื้อข่าวและไม่สนับสนุนนักข่าวอิสระที่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะที่นักข่าวอิสระต้องเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและไม่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นอกจากนี้ องค์กรสื่อมวลชนควรพิจารณาให้ผลตอบแทนและสวัสดิการแก่นักข่าวอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะการซื้อข่าวจากนักข่าวภูมิภาคหรือนักข่าวท้องถิ่นต้องให้ค่าตอบแทนเหมาะสมและมีสัญญาที่ชัดเจนอีกด้วย



ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่ซอยวิภาวดี 60 หลังสโมสรตำรวจ เพื่อค้นหาหลักฐานที่เชื่อมโยงกับคดีเว็บพนันออนไลน์ ที่มีลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกจับกุมหลายนาย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่งเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่โยงไปถึงสื่อมวลชนว่า “มีเงิน เส้นเงินไปแตะนักข่าว 4 คน เวลานักข่าวไปทำข่าวกับผม ผมก็ให้เขา เป็นค่าข่าว 10,000 บาท ส่วนใหญ่ให้ครั้งละ 10,000 บาท ใครไปช่วยผมก็ให้ ผมมีนักข่าวที่สนิทอยู่ 3-4 คน นักข่าวเราก็รู้ว่าเงินเดือนเขาน้อย"

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้ยกตัวอย่างคนชื่อย่อ ม.ที่ทำข่าวให้มานาน ตั้งแต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เป็นผู้กำกับฯ หาดใหญ่ “ข้อดีของเขา คือ ผมมองว่านักข่าวคนนี้ไม่เคยขอตังค์ผมเลย ไม่ได้พูดช่วย พูดเชียร์นะ เพราะนักข่าวคนไหน ไม่มีคุณธรรมผมก็ไม่ชอบ”
“นักข่าวที่ชื่อ ม. น้องสาวเขาชื่อ อ." เป็นนักข่าวที่หาดใหญ่ ม.กับ อ.เขาเป็นคนสงขลา ผมสนิทกับ ม.มากกว่า ผมย้ายมาอยู่ กทม.เขาก็มาช่วยผมทำข่าวต่างๆ ช่อง …ส่งมา ส่งคนนี้มาตลอด เพราะรู้ว่าเขาคุ้นเคยกับผม ผมรู้ว่าเขานิสัยดี ผมไปไหน ก็เอาเขาติดตัวไปตลอด คอยทำคดีให้ แต่กำชับเขานะว่าทำข่าวผมต้องส่งไปให้ทุกสื่อมวลชนนะ

“เงินที่ให้ ก็มี ม. มี ค.เพราะคุ้นเคยรู้จักมานาน ผมก็บอก ค.เอาไปใช้จ่าย โดย ค.เขาเป็นคนนครฯ ให้ครั้งละ 10,000 บาท ให้เป็นจ็อบๆ ให้ไปกินข้าว ผมไม่ได้อยากเรียกมากินทุกมื้อ ก็ให้เงินเขาไปหากินกันเอง เขามากันเป็นทีมสามสี่คน มีทีมงาน ผมก็ให้หมื่นหนึ่ง

“หมื่นหนึ่งมันก็ไม่ได้มาก เป็นมิตรจิตมิตรใจ ผมเป็นคนที่ใจกว้าง ทำงานภาคสนามมาตลอดเข้าใจ ผมก็ทำเเบบนี้มาตั้งเเต่สารวัตร เห็นนักข่าวมาแถลงข่าวให้ น้องๆ เขาบ้าง คนละ 500 บ้าง ค่าข้าว ค่าน้ำมัน เอาเขาไปสอบได้เลย มันก็เป็นเงินผมทั้งหมด ไม่ใช่เงินเว็บพนัน” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น