สปสช.ตั้ง คกก.สอบสวนชุดพิเศษ ตรวจสอบคลินิก หลังผู้ป่วยบัตรทองร้องเรียนเพียบ ปัญหาไม่ออกใบส่งตัวไปรักษาต่อ รพ. คาดจบใน 1 เดือน ย้ำต้องมีหลักฐาน ทั้งผู้ร้องมีตัวตนพร้อมเป็นพยาน มีชื่อคลินิกชัด พร้อมร่วม กทม.ดูแล หาคลินิกใหม่รองรับ ยังไม่เปลี่ยนโมเดลจ่ายเงิน แต่กำลังคิดสูตรใหม่แบบสมดุล ย้ำ รพ.เบิกเงินได้ แม้ไม่มีใบส่งตัว
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ร้องเรียนกรณีปัญหาการออกใบส่งตัวจากคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อไปรักษาต่อยัง รพ.ขนาดใหญ่ ตั้งแต่มีการปรับรูปแบบการจัดจ่ายเงินให้คลินิกฯ แบบโมเดล 5 ใหม่ (OP New Model 5) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดพิเศษขึ้นมา 1 ชุด เนื่องจากยังมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาที่ สปสช. ดังนั้น ด้วยอำนาจตามกฎหมายของ สปสช. จึงต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา หากพบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียน ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
“เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พิจารณาเรื่องนี้ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน จากนั้นตามขั้นตอนก็จะเสนอเข้าบอร์ด สปสช. ถึงแม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงใกล้เปลี่ยนผ่านบอร์ด สปสช. แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน” นพ.จเด็จกล่าว
ถามว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนเท่าไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทุกวันนี้เข้ามาวันละ 20-30 รายผ่านช่องทางสายด่วนสปสช. 1330 แต่ที่ยังไม่ร้องเรียนเข้ามา มีอีกมาก โดยข้อร้องเรียนหลักๆ ตั้งแต่คลินิกไม่ส่งตัว เรียกคนที่เคยได้ใบส่งตัวกลับมา หรือร่นระยะเวลาการส่งตัวลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เข้าข่ายไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะนำเข้าสู่การพิจารณาได้นั้น คือ 1.ผู้ร้อง ต้องมีตัวตนจริง เปิดเผยชื่อได้ ติดต่อได้ พร้อมมาเป็นพยานได้ และ 2.ต้องมีชื่อคลินิก หรือหน่วยบริการที่ถูกร้องเรียนอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์
เมื่อถามว่ามีประชาชนบางส่วนกังวล หากร้องเรียนคลินิกสุดท้ายจะไม่มีที่รับการรักษา นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.เตรียมพร้อมเรื่องนี้ โดยประสานและเตรียมคลินิก หรือหน่วยบริการมารองรับ เพราะประชาชนที่เจอปัญหาตอนนี้ แม้ไปคลินิกเดิมก็ไม่ได้รับความสะดวกอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากไป ซึ่งสปสช.สื่อสารกับคลินิกตลอด เนื่องจากงบประมาณได้โอนไปให้คลินิกตามรูปแบบการจัดสรรเงินใหม่ การที่คลินิกบางแห่งกังวลเรื่องเงินว่า จะไม่พอในการไปตามจ่าย ทำให้ไม่ยอมส่ง แบบนี้ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ถามต่อว่าหากมีการหาคลินิกหรือหน่วยบริการใหม่ จะไม่ใกล้บ้านประชาชน ต้องทำอย่างไรให้ได้รับความสะดวก นพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังพยายาม เพราะทั้งหมดอยู่ในเครือข่ายของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโมเดล 5 ผู้ที่เป็นเมนหลัก คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข โดยตนได้หารือร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.แล้ว
“ขอย้ำว่า สปสช.ไม่ได้ต้องการใช้มาตรการเช่นนี้กับทางคลินิก แต่เรื่องนี้อยู่ในกฎหมาย เพราะก่อนหน้าเราได้ประสานขอความร่วมมือตลอด ส่งจดหมาย สื่อสารทางตรงทางอ้อมเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่าคลินิกผิดจริง ก็มีมาตรการตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ส่งเรื่องสภาวิชาชีพ จนสุดท้ายยกเลิกสัญญา” เลขาธิการสปสช.กล่าว
เมื่อถามว่าหากปัญหายังมีเรื่อยๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน หรือเปลี่ยนโมเดลอีกครั้ง นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าแค่ 2-3 เดือนจะปรับเปลี่ยน เราก็ต้องขอความร่วมมือก่อน ว่า ต้องทำอย่างไรให้สมดุล กำลังคิดสูตรใหม่ที่เป็นกลางๆ ระหว่างส่วนหนึ่งแบบเดิม กับส่วนที่เป็นแบบใหม่ หรือให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจด้วยตัวเองได้หรือไม่ และพิสูจน์หน้างานว่า ส่งตัวไปอย่างสมเหตุสมผลก็ไม่ควรเรียกกลับมาอีก
ถามอีกว่าทั้งหมดเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ด้วยหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ใช่ เพราะรัฐมนตรีท่านเดิมก็รับทราบปัญหาและลงมาช่วยดู ตนเชื่อว่า รัฐมนตรีท่านใหม่ก็จะมาช่วยดูเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งสปสช.เตรียมข้อมูลแล้ว
“จริงๆโมเดลการจ่ายเงินต่างๆ ก็ปรับมาตลอด มีการปิดจุดอ่อนในอดีต มองในแง่ดีก็มีพัฒนาการไปเรื่อยๆ ผนวกกับอนาคตจะมีเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ ซึ่งผู้ที่กำหนดว่าจะไปที่ไหน คือ ประชาชน หากตัดสินใจว่าอาการหนักจริงๆ โดยทฤษฎีไม่ควรเรียกเขากลับมาเอาใบส่งตัวอีก จริงๆที่ผ่านมาเราพูดคุยกับเจ้าของ ผู้บริหารคลินิกล้วนเข้าใจหมด แต่มีประเด็นว่าเป็นเรื่องหน้างาน ดังนั้น เร็วๆนี้ สปสช.จะเชิญผู้ที่อยู่หน้างานมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่คลินิก แต่รพ.ผู้รับส่งตัวด้วย ” นพ.จเด็จกล่าว
ถามต่อว่ารพ.หลายแห่งกังวลว่า ถ้าไม่มีใบส่งตัวจะเบิกเงินกับสปสช.ไม่ได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เราสร้างความมั่นใจตลอด จริงๆโทรสอบถามสปสช.ได้ เพื่อยืนยันเรื่องนี้ เพราะระบบของสปสช.ในส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีใบส่งตัวไปนั้น ระบบมีมาก่อนระยะหนึ่งแล้วประมาณปี 2565 เพียงแต่ยืนยันว่าสนับสนุนให้ประชาชนรักษาใกล้บ้าน ยกเว้นอาการที่จำเป็นต้องส่งตัว และขออย่าเอาใบส่งตัวเพื่อวัตถุประสงค์เรื่องเงินมาเป็นประเด็น ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่าที่รพ.ต้องการใบส่งตัว อาจเพราะต้องการรู้ประวัติผู้ป่วยมากกว่า และในอนาคตหากมีการเชื่อมข้อมูลประเด็นใบส่งตัวเพื่อทราบประวัติผู้ป่วยก็จะหมดไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้รับทราบสถานการณ์เรื่องร้องเรียนจากการปรับรูปแบบการจัดสรรเงินค่าบริการผู้ป่วยนอก การใช้สิทธิบัตรทองโมเดล 5 ใหม่ (OP New Model 5) ในพื้นที่ กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ และมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย กรณีเจ็บป่วยให้เริ่มต้นรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากเกินศักยภาพ คลินิกชุมชนอบอุ่นต้องส่งต่อโรงพยาบาลรับส่งต่อเพื่อรักษาต่อไป
โดยจากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ยังพบว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. - 23 เม.ย. 2567 มีจำนวนแล้ว 3,771 เรื่อง โดยเป็นกรณีการร้องเรียนคลินิกชุมชนอบอุ่นมากที่สุด 3,020 เรื่อง ร้องเรียนโรงพยาบาลรับส่งต่อ 462 เรื่อง และร้องเรียนศูนย์บริการสาธารณสุข 289 เรื่อง
สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือการถูกปฏิเสธการส่งตัว 1,475 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการออกใบส่งตัว 473 เรื่อง ไม่ส่งตัวไปรับบริการในโรงพยาบาลเดิม 449 เรื่อง การถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการใช้สิทธิรับบริการแบบ OP Anywhere (ผู้ป่วยนอกไปรับบริการที่ไหนก็ได้) 334 เรื่อง และการไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อตามสิทธิ 272 เรื่อง
เพื่อให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการได้โดยสะดวกและเป็นไปตามสิทธิที่กำหนดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จึงได้มีมติให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนจากการปรับรูปแบบการจัดสรรเงินค่าบริการผู้ป่วยนอก กรณี OP New Model 5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้ สปสช. เสนอเรื่องร้องเรียนหน่วยบริการต่อประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อมอบคณะกรรมการสอบสวนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในการประชุมครั้งถัดไป