xs
xsm
sm
md
lg

เรียน-รู้-เรื่อง-เล่น กับ ‘วีรวรรณ กังวานนวกุล’ แห่ง ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล’ (สวมเสื้อสีดำ และภาพล่างกลางถือหนังสือนิทาน ) ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้






ไม่เพียงความสนุกสนานร่าเริงจากรอยยิ้มสดใสของเด็กๆ เท่านั้น ที่เป็นเสมือนภาพจำของสถานที่แห่งนี้
ทว่า ความสุข ความสนุกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณตา คุณยาย พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย คุณครู รวมถึงผู้ที่สนใจกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น ต่างก็ประทับใจที่นี่ไม่ต่างจากเด็กๆ ทุกคนที่ได้มีโอกาสมาเยือน ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ณ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพื้นที่สำหรับเครื่องเล่นกลางแจ้งให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นป่ายปีนรวมทั้งพื้นที่ในร่มภายใต้อาคารหลังใหญ่โปร่งโล่งก็มีของเล่นนับไม่ถ้วนซึ่งล้วนสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น






บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
“การเล่น คือสิ่งที่ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ของการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ คือเรื่องของวินัยเชิงบวก อาทิ การอดทน การรอคอย การสื่อสาร การจัดการอารมณ์ เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง เด็กจะเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว เล่นกับคนอื่นหรือว่าเล่นกับเพื่อน… เรื่องของการเล่น จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มหาศาลอย่างยิ่ง”

“คำว่า ‘เล่น’ ไม่ได้หมายความถึงเพียงการเล่นของเล่น หรือวิ่งเล่นเท่านั้น แต่คือการที่เด็กเห็นว่าเรื่องของการทำงานในครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น การทำงานบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น ดังนั้น ถ้าหากผู้ใหญ่อย่างเรา มองสิ่งนี้เป็นเรื่องของการเล่นด้วย เราก็จะสามารถออกแบบการเล่นได้ในทุกๆ มิติในวิถีชีวิต
ไม่ว่า รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงปลา ไปเดินเล่นกับยาย เหล่านี้ก็คือการเล่นส่วนหนึ่งเช่นกัน…”


‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล (ถือหนังสือนิทาน) ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล’ ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’
‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล’ ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ เปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพแห่งประโยชน์ของการเล่น

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษเธอผู้นี้ ถึงความเป็นมา เส้นทางของการเรียนรู้ ความทุ่มเทใส่ใจ การมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมผลักดัน ขับเคลื่อน ให้คนในชุมชน ครอบครัว คุณครู และผู้คนอีกมากมาย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเล่นของเด็กๆ

ถ้อยความนับจากนี้ คือหลากหลายประเด็นที่เธอบอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจ

‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล’ ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

‘จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล’ ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’
จาก ‘กลุ่มคนเฒ่าคนแก่’ สู่ ‘พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

เมื่อขอให้ช่วยเล่าความเป็นมา การก่อตั้ง ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’
ว่ามีที่มาอย่างไร

วีรวรรณหรือจิ๋วตอบว่า เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยชื่อเมื่อแรกก่อตั้งคือ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ จากนั้น ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์เล่นได้

“ช่วงเริ่มต้น เราเห็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งคือ ผู้สูงอายุในช่วงปี พ.ศ. 2541 ในช่วงนั้น ยังไม่มีสมาร์ทโฟน
เด็กๆ เองก็อยู่กับผู้สูงอายุ ดูทีวี อยากได้ของเล่นที่เป็นราคาแพง
แล้ว ‘อุ๊ย’ (หมายเหตุ : อุ๊ย ในภาษาเหนือ แปลว่า ปู่ย่าตายาย ) ก็เหงา เพราะเด็กๆ ไม่เข้าหา

“ในครั้งนั้นทางทีมเราก็พูดคุยกับอุ๊ยแล้วก็ถามว่า ตอนเด็กๆ อุ๊ยเล่นอะไร อุ๊ยก็บอกว่า ไปหัวไร่ปลายนา เอาวัสดุไปทำของเล่นแบบที่คนสมัยก่อนเขาเล่นกัน

“อุ๊ยก็ชวนให้พวกเราเล่นด้วย เมื่อพวกเราเล่น เด็กๆ ก็มาเกาะดูกันว่า ‘อุ๊ย เล่นอะไร ทำยังไง เล่นด้วยได้มั้ย’ ตอนนั้น เด็กๆ ก็มารุมล้อม อุ๊ยก็มีความสุขนะคะ รู้สึกว่าทั้งตัวของเล่นและการเล่น ทำให้เด็กๆ เข้าหา พวกเราก็เห็นว่าการเล่น และของเล่น ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นมาค่ะ” จิ๋ว บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพถึงความเป็นมาแรกเริ่มของ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้






จิตวิญญาณของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

ถามว่าแล้วอะไรนับเป็นจิตวิญญาณของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผู้นี้ตอบว่า เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2541 ที่เกริ่นไปตอนต้นนั้น เธอยังเป็นนักศึกษาอยู่ แล้วด้วยความสนใจจึงทำให้ตัดสินใจเป็นอาสาสมัคร โดยช่วงเวลาที่ยังเป็นนักศึกษาและอาสาสมัครนั้นเอง จิ๋วได้เห็นว่าเด็กๆ มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการเล่น

“จิ๋วคิดว่าน่าจะมีพื้นที่เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นค่ะ แล้วก็ควรจะต้องมีพื้นที่ในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ เพื่อให้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่สำหรับการออกแบบชีวิต เราก็เลยใช้เรื่องของการเล่นและการออกแบบพื้นที่มาทำให้เกิดที่ที่เด็กๆ จะเข้ามาหา เป็นพื้นที่ใกล้บ้าน ส่วนตัวจิ๋วเองก็ได้มาเริ่มปักหลักเป็นผู้จัดการโรงเล่นฯ แห่งนี้

“ดังนั้น ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ จิ๋วขึ้นๆ ลงๆ ทำงานอาสาสมัครโรงเล่นฯ ทำ Workshop บางทีก็ขึ้นมาทำ Planning อย่างสม่ำเสมอ จึงได้เห็นทุกบริบทตั้งแต่เริ่มต้นมาถึงปัจจุบันนี้ค่ะ ซึ่งตอนนี้จิ๋วเป็นผู้จัดการค่ะ”

อดถามไม่ได้ว่าคุณเรียนจบคณะอะไร
จิ๋วตอบว่า เธอเรียนจบคณะสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังเรียนอยู่ระดับ ปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) ด้านบัญชี เธอก็มีความสนใจในประเด็นเรื่องการศึกษามานับแต่ช่วงนั้นแล้ว อีกทั้งยังได้เป็นอาสาสมัครให้หลายๆ องค์กร ในช่วงปิดเทอม
อาทิ องค์กรญี่ปุ่นที่ทำงานกับเด็ก, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กลุ่มมะขามป้อม ( หมายเหตุ : ปัจจุบันคือ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) มีภารกิจหลักประการหนึ่งคือใช้สื่อละครเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็ก เยาวชน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ) เหล่านี้ จึงนับเป็นการทำงานในหลายบริบท

ไม่เพียงเท่านั้น จิ๋ว ยังสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก เช่น รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ( หมายเหตุ : Rudolf Steiner คือผู้ริเริ่มแนวคิดการศึกษาในรูปแบบ วอลดอร์ฟ Waldorf)
เมื่อเรียนจบแล้วแม้จิ๋วจะทำงานด้าน Production House แต่ก็ทำงานในภาคประชาสังคมคู่ขนานกันไปด้วย เช่นการทำงานในเรื่องกระบวนกร เรื่องการเรียนรู้









บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้


ความสำคัญของ ‘การเล่น’

“พี่ชายจิ๋ว (วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ) เป็นคนก่อตั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่และพิพิธภัณฑ์เล่นได้ เราก็เลยได้ไปคลุกคลีและเห็นว่าสิ่งที่เราไปเรียนรู้มา เดินทางมา เราน่าจะนำเอาชุดความรู้ที่เรามีทั้งหมดและที่เราได้ไปเรียนรู้จากที่ต่างๆ นำมาทำโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ให้เป็นอะไรที่ร่วมสมัยและอยู่ได้ในเชิงของความยั่งยืนด้วย” จิ๋วระบุ




ถามว่า ‘การเล่น’ สำคัญต่อเด็กมากน้อยเพียงใด
ผู้จัดการและนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพว่า สำหรับเด็กๆ แล้ว อาชีพของเขาก็คือการเล่น การเล่นจึงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของพวกเขา

‘การเล่น’ คือสิ่งที่ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ของการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ คือเรื่องของวินัยเชิงบวก อาทิ การอดทน การรอคอย การสื่อสาร การจัดการอารมณ์ เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง เด็กจะเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว เล่นกับคนอื่นหรือว่าเล่นกับเพื่อน
เรื่องของการเล่น ไม่ว่า การเล่นอิสระหรือการออกแบบการเล่น จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มหาศาลอย่างยิ่ง

จิ๋วอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า ‘เล่น’ ไม่ได้หมายความเพียง เล่นของเล่น หรือวิ่งเล่นเพียงเท่านั้น
แต่คือการที่เด็กเห็นว่า เรื่องของการทำงานในครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น การทำงานบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น

ดังนั้น ถ้าหากผู้ใหญ่อย่างเรา มองสิ่งนี้เป็นเรื่องของการเล่นด้วย เราก็จะสามารถออกแบบการเล่นได้ในทุกๆ มิติในวิถีชีวิต
ไม่ว่า รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงปลา ไปเดินเล่นกับยาย เหล่านี้ก็คือการเล่นด้วยส่วนหนึ่งเช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่ ถ้าเด็กอยากช่วยผู้ใหญ่กวาดบ้าน ผู้ใหญ่ก็มักจะบอกเด็กว่า ‘อย่ามากวาด ยิ่งกวาดยิ่งสกปรก’ แต่จริงๆ แล้ว เด็กเขาอยากเลียนแบบคนที่เขาอยู่ใกล้ชิด

‘ทำไม คุณยาย คุณน้า คุณแม่ กวาดบ้านสะอาดจังเลย’ การที่เด็กช่วยกวาดบ้าน เขาจึงอยู่ในกระบวนการเล่น ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้

“ดังนั้น ช่วงเวลาเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสทองเลยค่ะ ถ้าเราอยากให้เขาทำงานบ้านเป็นเมื่อเขาโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ช่วงที่เขายังเป็นเด็กๆ จึงเป็นโอกาสทองที่เราจะชวนเขามาซักผ้า เล่นฟองฟูด้วยกัน พวกเราเอง ตอนเด็กๆ อาจล้างจานนานเป็นชั่วโมงเลยนะคะ ( หัวเราะ ) เพราะมัวแต่เล่นน้ำยาล้างจานที่เป็นฟองอากาศอยู่นาน” จิ๋วเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเล่น

‘ของเล่น’ ของโรงเล่นฯ


ถามว่า เมื่อเราพูดถึงโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ผู้ที่รู้จักสถานที่แห่งนี้ ย่อมมีภาพจำคือความอลังการทั้งในส่วนเครื่องเล่นในสนามและของเล่นต่างๆ
อยากทราบว่าทุกวันนี้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ มีเครื่องเล่น ของเล่นทั้งสิ้นกี่อย่าง

จิ๋วตอบว่า “ถ้าเป็นชนิด ต้องบอกว่านานัปการ คือนับไม่ถ้วนแล้วกันค่ะ เพราะว่า เราสะสมด้วยและพัฒนาจากของเก่า มาเป็นของใหม่ด้วย

“ในโซนโรงเล่น ก็จะมีของ DIY เป็นพวกงานผ้า ที่เราตั้งเฟรมไว้ ให้เด็กๆ ปักผ้าเองได้ ซึ่งเราให้เขาลองเล่น เพื่อจะได้เห็นว่าเด็กๆ เขาจะเล่นยังไง หรือหากมีเพื่อนนั่งอยู่แล้ว เขาก็มองๆ สื่อสารกันว่า ‘เธอทำอย่างนี้สิ’ ให้เขาได้ลองออกแบบการเล่นด้วยตัวเอง










“ส่วนโซนเล่นกลางแจ้ง ก็เป็นการฝึกใช้ฐานกาย ไม่ว่าจะเป็นรถไม้ ที่เล่นต่างๆ ที่ปีน หรืออย่างเช่น เรามีสิ่งที่ทุกบ้านสามารถกลับไปทำได้เองคือ หากเรามีไมโครเวฟที่พังแล้ว เราก็ถอดเครื่องออกแล้วเราก็ตั้งไว้ เด็กก็เล่นอบขนมปังกันทั้งวันเลยค่ะ”
จิ๋วย้อนความทรงจำให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่มีการคิดชื่อพิพิธภัณฑ์เล่นได้ เนื่องจากคิดกันว่าเมื่อเอ่ยถึงพิพิธภัณฑ์ในไทย หากเราเข้าไปชมแล้ว เราเดินดูแต่ไม่กล้าจับ

“เราจึงเติมคำว่า ‘เล่นได้’ หมายความว่าของทุกชิ้นที่อยู่ในห้องนิทรรศการเล่นได้ สามารถหยิบเล่นได้หมดเลย ซึ่งเรามีเป็นร้อยๆ ชิ้น ร้อยๆ อย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะสำหรับเล่นคนเดียว เล่นหลายคน”














กระนั้น ในห้องนิทรรศการเล่นได้ ก็มีส่วนที่เป็นตู้กระจก เป็นที่เก็บของสะสมอยู่เช่นกัน เนื่องจาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 24 ปี ย่อมมีชิ้นงานที่เป็น Prototype อยู่ด้วย คืองานที่เป็นต้นแบบ ที่พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะมีการจัดผลงานของเล่นของท่านไว้ในตู้กระจก ในส่วน Prototype นี้ จึงอาจจะไม่ได้หยิบออกมาเล่น เพราะว่ามีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น แต่ของเล่นที่เหลือ เด็กๆ สามารถหยิบออกมาเล่นได้ทั้งหมด รวมทั้งมุมอ่านหนังสือนิทานด้วย

“หลายสำนักพิมพ์ ก็ส่งหนังสือนิทานมาให้อย่างต่อเนื่อง เราจึงมีหนังสือนิทานเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ มีห้องที่เป็น Co-working space เป็นห้องประดิษฐ์งาน ชวนทุกคนมาทำของเล่น แล้วเราเองก็สามารถที่จะออกแบบกิจกรรมตามวัย

“เช่น ถ้าเด็กเล็กๆ มา เราก็ชวนเขาทำอะไรที่ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ถ้าโตขึ้นมาหน่อย ก็เน้นการใช้มือ การใช้เครื่องมือ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถมาเรียนรู้การเล่นได้เยอะเลยค่ะ เพราะการทำงาน Craft จะช่วยให้ ‘ข้างใน’ เขา รู้สึกมั่นคง ผ่อนคลายขึ้นและมีแรงบันดาลใจ เช่น ครูหลายท่าน ที่มาโรงเล่นฯ ของเราเมื่อกลับไปก็ออกแบบการสอนที่ต้องใช้การเล่นด้วย แบบนี้ก็มีค่ะ”

จิ๋วเล่าเพิ่มเติมด้วยว่า โรงเล่นฯ ยังมีอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ ส่วนของร้านค้าที่นำของเล่นที่พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเป็นคนทำ คนในชุมชนเป็นคนทำ เหล่านี้มีวางจำหน่ายทั้งที่โรงเล่นฯ รวมทั้งยังมีช่องทางขายใน Lazada ด้วย ในชื่อโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้










พื้นที่สำหรับคนทุก Generation

จิ๋วกล่าวว่า “จากที่กล่าวมา โรงเล่นฯ จึงไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับเด็กหรือเยาวชน แต่เป็นพื้นที่ของทุกคนในครอบครัว เราจะเห็นว่าบางที หนึ่งกรุ๊ปที่มากัน มีทุกเจน (Generation) เลยค่ะ

“ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง คุณตาคุณยายมาแล้วก็จะบอกว่า ตาเคยเล่น ‘โก๋งเก๋ง’ นะ ซึ่ง ‘โก๋งเก๋ง’ ก็คือ ไม้สูงๆ ที่เราต้องเดินบนไม้ แล้วคุณตาก็เดินให้หลานดู ซึ่งหลานก็มีวัยที่ห่างกันมากและปกติแทบไม่คุยกับคุณตาเลย หลานได้เห็นก็ ‘ว้าว! ตา’
คุณตาก็บอกกับเจ้าหน้าที่เราว่า ‘ที่นี่สนุกจังเลย ตารู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งนึง วันนี้กลับไป ก็จะไปทำของเล่นให้หลานที่บ้าน’

“ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่า โรงเล่นฯ ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่สำหรับเล่น แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในครอบครัวที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองรู้ว่าสามารถกลับไปทำอะไรให้เด็กๆ ได้บ้าง"



บรรยากาศความสนุกสนานของเด็กๆ ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
ประโยชน์ของ ‘ของเล่น’ จากวัสดุธรรมชาติ

ถามว่า น่าสนใจที่ของเล่น,เครื่องเล่นของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ล้วนใช้วัสดุธรรมชาติ
อยากทราบว่าในแง่ของคุณประโยชน์ที่ได้รับจากของเล่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ส่งผลดีในแง่ใดบ้าง

จิ๋วตอบว่า ของเล่นในโรงเล่นฯ ส่วนใหญ่เป็นไม้ โดยเป็นไม้ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ไผ่ ไม้ซ้อ ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง

“ไม้เหล่านี้จะตอบโจทย์เรื่อง Sense , Sensory Play คือเมื่อเด็กๆ ได้สัมผัสเนื้อไม้ สัมผัสผิววัสดุจากธรรมชาติ โดยเฉพาะในยุคที่เด็กๆ อาจไม่ได้ใกล้ชิดธรรมชาตินัก การที่เด็กได้สัมผัสไม้และน้ำหนักที่แตกต่างกัน ทำให้เขาเห็นถึงความหลากหลาย แค่เล่นของเล่นไม้ ของเล่นที่ไม่ได้เหมือนกันทุกชิ้น เด็กก็จะเข้าใจ เพราะเขาได้เห็นความหลากหลาย และของเล่นจากธรรมชาติยังทำให้เด็กอ่อนโยนด้วย

“ของเล่นทุกชนิดที่โรงเล่นฯ เป็นของเล่นปลายเปิด ไม่ว่าจะเป็นบล็อคไม้ ก้อนหิน เกมอีตัก ตกปลา เด็กๆ เขาก็จะได้เห็นถึงสี ร่องรอยของมีดบนตัวปลา ว่าปลาไม่ได้เหมือนกันทุกตัว ส่งเสริมเรื่องการสังเกตด้วย
ต้องบอกว่าการเล่นที่โรงเล่นฯ เรา เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกด้านเลยค่ะ” (หมายเหตุ : ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 8 ประกอบด้วย การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การรับรู้ทางผิวหนัง การรับกลิ่น การทรงตัว การรับรู้อากัปกิริยา และ การรับรู้สัญญาณจากอวัยวะภายใน )

“ระบบประสาทสัมผัสทั้งแปด ก็อย่างเช่น เรื่องของประสาทสัมผัสการทรงตัว การรับรู้อากัปกริยา เช่น เด็กๆ เอง เขาจะรู้ตัวว่าเขาหิวข้าวแล้ว เขาต้องการเข้าห้องน้ำแล้ว เขารู้สึกว่ามีผีเสื้อวนอยู่ในท้อง ไม่ได้แปลว่า เขากำลังเกิดภาวะอะไร แต่มันเป็นความตื่นเต้นและความกังวลใจของเขานะ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่หรือผู้อำนวยการเล่นที่จะบอกว่า ‘ตอนนี้ กำลังตื่นเต้นใช่มั้ย ที่กำลังจะเดินข้ามช่องทางแคบๆ ที่มีไม้กระดานอันเล็กๆ ก้าวไปด้วยกันมั้ย’ การรับรู้ความรู้สึก สัญญาณจากอวัยวะภายในก็เป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้ตัวว่า เขาหิวน้ำ เป็นต้น และเมื่อเขาเล่นตรงจุดนี้จนพอใจแล้ว เขาก็จะมองหาว่ามีจุดไหนที่ท้าทายเขามากขึ้น เขาก็จะพาตัวเองไปเล่นที่จุดนั้น” จิ๋วระบุ




‘ลานเล่น Network’ และนิเวศการดูแลเด็ก

ถามว่า ยังมีอะไรอีกบ้างที่อยากจะทำเพิ่มเติมให้กับโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
จิ๋วตอบว่า “เมื่อปี พ.ศ.2566 เราจัดการเรียนรู้ของโรงเล่นฯ ในวาระ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ดูว่าอะไรที่เราทำได้ดี อะไรที่เราอยากจะทำ เราอยากให้เด็กๆ มีโอกาสได้เล่น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน อยู่บนภูเขาสูง เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ อยู่ชายขอบ แต่ถ้าเด็กๆ ทุกคนเข้าถึงพื้นที่การเล่นได้ภายใน 15 นาที เราถือว่ามันจะเป็นโอกาสของการเติบโตของเขา ต้องบอกว่า นาทีนี้เด็กเกิดน้อยมาก เราก็อยากให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ มีพลัง รู้ว่าเราจะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ช่วยสนับสนุนกันและกันได้อย่างไร

“โรงเล่นฯ จึงถอดองค์ความรู้ จัดการองค์ความรู้ ออกมาเป็น โปรแกรม ‘ลานเล่น Network ’ ซึ่งมีแนวคิดขยายพื้นที่การเล่น การเรียนรู้ การดูแลเด็กผ่าน ‘นิเวศการดูแลเด็ก’
เพราะเราเชื่อว่าการเลี้ยงเด็ก 1 คน ต้องใช้ผู้ใหญ่ช่วยกันเลี้ยงดูทั้งหมู่บ้าน ต้องช่วยกันดูแลทั้งหมู่บ้าน จะทำยังไงให้ผู้ใหญ่ที่ทั้งมีลูกและไม่มีลูก มามีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก จะทำยังไงให้ท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐ ทำบทบาทของตนเองให้เต็มที่และมาดูแลเด็กๆ ไปด้วยกัน”

จิ๋วเล่าว่า ออกแบบโปรแกรม ลานเล่น Network ให้มี Step ต่างๆ อาทิ
ชวนให้ชุมชนหรือหมู่บ้านนั้น ได้พูดคุยหารือกันว่าเป็นห่วงอะไรเด็กๆ บ้าง นอกจากเป็นห่วงแล้ว ถ้าเด็กๆ ไม่มีพื้นที่เล่น เด็กๆ ไม่ได้เล่น เขาจะขาดโอกาสอะไรบ้าง แล้วเราที่เป็นผู้ใหญ่จะทำอะไร หรือมีพื้นที่ตรงไหนที่จะทำลานเล่นได้บ้าง แล้วชุมชนหรือหมู่บ้านนั้นก็ออกแบบลานเล่นกันขึ้นมา

โดยทางโรงเล่นฯ จะช่วยในเรื่องของกระบวนการ แล้วชุมชนก็ทำลานเล่นฯ จากวัสดุที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ อุ๊ยบางท่าน นำเอาประตูเก่าของตัวเองมามอบให้ ก็กลายเป็นที่ปีนผาได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในประเพณีท้องถิ่นของหมู่บ้านทางเหนือบางแห่ง จะมีการอุทิศบ้านให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เหมือนกระท่อมหลังหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ ทางชุมชนก็ยกขึ้น แล้วทำเป็นที่ปีนผา ทำเป็นที่เล่นสไลเดอร์ กลายเป็นที่เล่นของทุกคน

ทางโรงเล่นฯ ยังทำเวิร์คช้อปให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเรียนรู้เรื่องพัฒนาการบนฐานความผูกพันและพลังแห่งการเล่น
เป็นการเวิร์คช้อป อบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้เข้าร่วมอบรมตระหนักในใจว่า ‘วันนี้ เมื่อกลับไป ฉันจะต้องเล่นกับลูกทันที’ และของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ก็คือผู้ปกครอง เด็กๆ ไม่ได้อยากเล่นกับของเล่น แต่เด็กๆ อยากเล่นกับเรา
เมื่อผู้ปกครองเข้าใจจุดนี้แล้ว ก็ขยายแนวคิดต่อไปยัง อสม. คุณลุงคุณป้า ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในชุมชนด้วย เพื่อชวนให้มารู้จักการเยี่ยมบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับรู้ปัญหาของเด็กๆ เป็นรายบุคคล

อาทิ เด็กบางคน พ่อแม่เขาอาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เด็กบางคนอยู่กับผู้สูงอายุที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ใช้สมาร์ทโฟนไม่ได้ หากมีลุงป้าน้าอาในหมู่บ้าน ที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กแล้วเห็นปัญหาเหล่านี้ ก็จะช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อผู้ใหญ่ในชุมชนไปเยี่ยมบ้านเด็กแล้ว ก็จะรู้ว่าเด็กกลุ่มไหนเป็นเด็กทั่วไป เด็กกลุ่มไหนเผชิญปัญหา หรือเป็นเด็กเปราะบาง
หากเป็นเด็กเปราะบาง จะทำอย่างไรที่จะทำให้เขามาเป็นกลุ่มทั่วไปให้ได้ ถ้าเป็นเด็กกลุ่มเผชิญปัญหา จะทำอย่างไร ต้องผสานโรงพยาบาลพานักจิตวิทยาเด็กมาพบไหม หรือคุณครูต้องออกแบบการเล่นให้เด็กๆ ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ หรือไปช่วยเสริมความมั่นใจในตัวเองของเด็กๆ ให้เขารู้สึกมีตัวตนขึ้นมามากขึ้น

นิเวศการดูแล จึงเป็นการประชุมความร่วมมือกัน อาจเป็นเครือข่ายในเทศบาล หรือ อบต. ตำบลนั้นๆ มาคุยกันว่า บทบาทของใครจะทำสิ่งไหน

“เมื่อเจอเด็กที่เผชิญปัญหา ชุมชนที่เราทำ ลานเล่น Network เขาก็จะส่งต่อกันว่าเด็กคนนี้ พูดช้า 2 ขวบแล้ว 3 ขวบแล้ว ยังไม่พูดเลย ก็มาช่วยกันกระตุ้นพัฒนาการเด็กทุกๆ วัน อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟังทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ป้าข้างบ้าน ก็เอานิทานมาอ่านตอนเย็น โรงเล่นฯ ของเราขยายแนวคิดนี้ แล้วชวนให้แต่ละพื้นที่ที่เขาพร้อม ที่เขาอยากจะมีนิเวศการดูแลเด็ก ได้ทำไปพร้อมกัน ทำไปด้วยกัน ซึ่งปีนี้ คือปี พ.ศ.2567 เราก็จะทำอีก 5 พื้นที่ค่ะ” จิ๋วระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
ปี 2566 ที่ผ่านมา มีการทำ ลานเล่น Network ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน และที่วัดทาดอยแช่ จังหวัดลำพูนเช่นกัน

“ที่วัดทาดอยแช่นั้น เราใช้พื้นที่หน้าวัด เนื่องจากหลวงพ่อบอกว่าอยากให้เด็กๆ เข้าวัดมากขึ้น ทั้งหลวงพ่อและคณะกรรมการวัด คนในชุมชน ก็เห็นชอบร่วมกัน ในการเปลี่ยนจากศาลาหน้าวัด ให้เป็นลานเล่นฯ พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ เกิดการเล่นแล้วและเกิดนิเวศที่จะช่วยกันดูแลเด็กๆ ค่ะ”










จิ๋วกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ มีผู้มาศึกษาดูงานกันจำนวนมาก ไม่ว่าในส่วนท้องที่ ในท้องถิ่น โดยเฉพาะนักศึกษา ผู้ที่เรียนด้านปฐมวัยก็จะใช้พื้นที่โรงเล่นฯ ในการดูงาน ซึ่งโรงเล่นฯ ก็พร้อมออกแบบการเรียนรู้สำหรับทุกคน

“บอกเรามาได้ค่ะว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไรจากโรงเล่นฯ แห่งนี้ เรายินดีจะออกแบบกิจกรรมให้ตรงโจทย์ให้กับคนที่มาเรียนรู้กับเรา ไม่ว่าคุณจะมีเวลา 1 วัน 3 วัน หรือ 5 ชั่วโมง เราก็จะออกแบบให้ตรงโจทย์กับความต้องการในเวลาที่มี”








เช่นเดียวกัน ไม่ว่าเด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณตาคุณยาย คุณครู นักการศึกษา รวมถึงผู้สนใจเรียนรู้ทุกคน
โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ แห่งนี้ พร้อมยินดีต้อนรับเสมอ
…………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : Fanpage Facebook : โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้, ภาพบางส่วนจาก HOOK learning