สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมกับสหประชาชาติ จัดงาน ‘GCNT Forum 2023 : พันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ชวนผู้นำธุรกิจ สมาชิก UNGCNT และพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนศักยภาพทุนมนุษย์ยุค 5.0 โดยมี 5 เวทีเสวนา
5 หัวข้อสำคัญได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของคน (2) ปั้นคนให้ก้าวไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) เปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรมสู่องค์กรสีเขียว (4) ปลุกศักยภาพคนรับการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (5) ยกระดับคน สร้างพลังสังคม และสุดท้าย (6) ตัวแทนเยาวชนได้แชร์มุมมองความยั่งยืนผ่านคนรุ่นอนาคต
๐ เวทีแรก การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของคน
เปิดเวทีแรก เปิดวิสัยทัศน์ของซีอีโอจากองค์กรสมาชิก UNGCNT ได้แก่ ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ในมิติของคน โดยเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกัน เป็น DNA เดียวกัน และทำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง มีฉันทามติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อก้าวไปด้วยกัน โดยผู้บริหารบี.กริม ชี้ว่าเห็นว่าต้องมอง ”คน” ให้เป็นหุ้นส่วนของธุรกิจ ไม่ใช่มองเป็นทรัพยากร ผู้บริหารดับบลิวเอชเอ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ “ผู้นำ” และผู้บริหารยูโอบี ย้ำถึงการสร้างแรงบันดาลใจและบ่มเพาะพนักงานและพาร์ทเนอร์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิตัลและความยั่งยืน เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
“ระบบเศรษฐกิจนับจากวันนี้เป็นต้นไป จะมีเม็ดเงินมหาศาลที่ถูกลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำพาโลกของเราไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และนั่นคือโอาสที่สำคัญสำหรับทุกคน ทุกภาคส่วน”
ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
๐ ปั้นคนให้ก้าวไปข้างหน้า และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เวทีต่อมา ตวงพร บุณยะสาระนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการสื่อสารและการบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชู ลิม รองประธานบริหาร ฝ่ายซัพพลายเชน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และ มาเลเซีย และดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด แลกเปลี่ยนมุมมองในการปั้นคนไปข้างหน้า โดยทุกองค์กรระบุว่า เมื่อกำหนดให้ “ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์องค์กร การพัฒนา ”คน” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และวัดผลได้ ซึ่งจะเริ่มจากภายในองค์กรคือพนักงาน ขยายออกไปยังภายนอกองค์กร ซีเคพาวเวอร์ แบ่งปันประสบการณ์ ในการสร้างความไว้วางใจและสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน โดยส่งเสริมทั้งด้าน Hardware และ Software เพื่อพัฒนาทักษะและนวัตกรรมที่ต่อยอดจาก “ภูมิป้ญญาท้องถิ่น” สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน ยูนิลีเวอร์ ระบุถึงการให้ความสำคัญกับพนักงาน ที่ต้องสร้างทัศนคติให้มองความยั่งยืนเป็นเรื่องเดียวกับการทํางาน ไม่ใช่เรื่องที่แยกออกจากกัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกับลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น ผ่านสินค้ากว่า 400 แบรนด์ทั่วโลก ส่วนหัวเว่ย ส่งเสริมให้เทคโนโลยีเข้าถึงและเป็นพื้นฐานของชีวิตผู้คน โดยเฉพาะชุมชนและผู้สูงอายุ ด้วยการทำ R&D ให้คนมีความรู้ด้านดิจิทัล และสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้
“แม้เราจะใช้เทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้า แต่ในชุมชน เราเลือกจะทำงานร่วมกับชุมชน สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือ การทอผ้า และต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด” ตวงพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการสื่อสารและการบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
๐ เปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรม สู่องค์กรสีเขียว
ในเวทีที่ 3 ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือ ระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด เควิน ตัน (Kelvin Tan) Managing Director and Head of Sustainable Finance & Investment ASEAN ธนาคารเอชเอสบีซี ณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี อีริค โรเดอร์ (Eric Roeder) Technical Specialist on Green Jobs, Climate Action and Resilience through Just Transition องค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ (ILO) สำนักงานประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรม โดย ILO ให้นิยาม “งานสีเขียว ว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างทักษะสีเขียวให้ทุกคนในสังคม
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรสีเขียว ต้องเริ่มด้วยการวางยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทาง และตัวชี้วัด จากภายในองค์กร ก่อนจะขยายไปยังภายนอก ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะกำหนดมุมมองการทำงานร่วมกับ AI จนถึงการจัดทำรายงานที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและโปร่งใส่ เช่นเดียวกับ เอสซีจี ที่แชร์ว่า กำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยขับเคลื่อนการเติบโตสีเขียวจากภายในองค์กรก่อน จากนั้นจึงขยายการขับเคลื่อนออกไปยังส่วนอื่นๆ โดยมี roadmap คือ ESG 4Plus เป็นเป้าหมายร่วมกัน ส่วนเอชเอสบีซี แชร์ว่า สถาบันการเงินดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และโอกาสในการเปลี่ยนผ่านของลูกค้า โดยเฉพาะ SMEs แต่ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกบุคลากรขององค์กรด้วย เพื่อให้เห็นโอกาสงานใหม่ๆ เมื่อก้าวสู่สังคมสีเขียว
“การเปลี่ยนผ่านใดๆ ต้องมีความสมดุล เราควรวาง Roadmap บูรณาการแผนความยั่งยืนและแผนธุรกิจเป็นแผนเดียวกัน บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น โปร่งใส และตรวจสอบได้” ณัฐวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงาน พัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี
๐ ปลุกศักยภาพคน รับการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ต่อด้วยเวทีที่ 4 กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) ดร. วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สุนทร ยงค์วิบูลศิริ ESG and Sustainability Director บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ได้พูดคุยกันถึงการปลุกศักยภาพคนในห่วงโซ่อุปทาน โดยซีพีเอฟ แบ่งปันว่าการพัฒนาศักยภาพคน เริ่มต้นจากภายในองค์กรเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน แล้วจึงขยายไปภายนอก โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งถือเป็นพาร์ทเนอร์ของซีพีเอฟ โดยมีการเสริมองค์ความรู้และทักษะต่างๆอยู่เสมอ เพื่อให้เติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งได้รับประโยชน์จากความยั่งยืนและการช่วยลดโลกร้อนไปพร้อมกัน เช่น ถ้าเกษตรกรหยุดเผาและทำตามระบบของซีพีเอฟ จะได้ราคาขายผลผลิตที่สูงกว่า หรือการตรวจสอบการเผาด้วยเทคโนโลยี และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้มั่นใจผลิตผลทางการเกษตรที่รับซื้อจากเกษตรกร ไม่ได้มาจากการบุกรุกป่าหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับลูกค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เข้าถึงง่าย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยกัน
โดยได้เตรียมทุน 200,000 ล้านบาท สําหรับธุรกิจที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน รวมทั้ง SMEs และ Startup ที่ต้องการลงทุนใน green technology หรือ green product ด้านเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ได้กำหนดให้มี Supplier Code of Conduct เพื่อกำกับดูแลและพัฒนาซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทาน ให้อยู่บนมาตรฐาน ESG ร่วมกัน ควบคู่ไปกับการจัด Supplier Day อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเติมองค์ความรู้ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยด้วย ส่วนเอ็นอาร์เอฟ พยายามสร้าง Food innovation ที่ตอบโจทย์ Net Zero ทั้งในบทบาทที่เป็นซัพพลายเออร์หรือปลายน้ำของคู่ค้าที่มีเป้าหมายนี้ และในบทบาทที่ต้องดูแลซัพพลายเออร์ต้นน้ำ คือ ภาคการเกษตร โดยมีโครงการ decarbonize ชวนเกษตรกรลดการเผา เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการให้ความรู้และใช้เทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายให้เกษตรกรมีส่วนร่วมดำเนินการ
“เพื่อเคลื่อนไปในทิศทางนี้ร่วมกัน ซีพีเอฟเริ่มต้นจากคนภายในบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนในทุก touchpoint มีความเข้าใจเดียวกัน แล้วจึงขยายไปภายนอกองค์กร โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งถือเป็นพาร์ทเนอร์ของซีพีเอฟ” กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน)
“ซัพพลายเออร์ปลายน้ำของ NRF คือซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นคู่ค้าที่มีเป้าหมาย Net Zero ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็เป็นซัพพลายเออร์ต้นน้ำของ NRF เราจึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกับเป้าหมายนี้ไปด้วยกัน” แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)
๐ ยกระดับคน สร้างพลังสังคม
ในเวทีที่ 5 ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการและเลขานุการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคม พัฒนาประชากรและชุมชน และคุณรัชสุรางค์ วงศ์กระแสมงคล ตัวแทนเยาวชน ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานเพื่อยกระดับคน สร้างพลังสังคม ทรู เชื่อว่ารากฐานของความยั่งยืนคือการศึกษา และหัวใจสำคัญคือการพัฒนาคน จึงริเริ่ม ‘โครงการทรูปลูกปัญญา’ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มคลังความรู้คู่คุณธรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงองค์ความรู้ได้จากทั่วโลกและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และต่อยอดสู่ความร่วมมือในการดึงศักยภาพของ 3 ภาคส่วน รัฐ-ประชาสังคม-เอกชน เป็น Public-Private- Partnership (PPP) จัดตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ซึ่งตอนนี้มี 52 องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมสากลและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเรามีเป้าหมายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพเยาวชนของเราให้เป็นเด็กดีมีความสามารถ จนปัจจุบันเรามีหลากหลายโครงการที่เกิดเป็น domino effect ที่สามารถส่งต่อให้ภาครัฐนำไปขยายผลให้กับโรงเรียนและชุมชนต่อยอดพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน แชร์ว่าได้ระบบการศึกษาปัจจุบันดึงคนออกจากชุมชน จึงต้องนำวิทยาการความรู้และเทคโนโลยีเข้าสู่หมู่บ้านให้มากที่สุด โดยสมาคมฯ ได้พัฒนาโรงเรียนที่สร้างนักเปลี่ยนแปลง เริ่มจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน จากชุมชนไปสู่หมู่บ้าน ปลูกฝังให้นักเรียนมีความเป็นผู้ประกอบการ (Entreprenuer) และมีจิตสำนึกที่จะเห็นใจผู้อื่น (Empathy mindset) โดยให้เรียนรู้การทำธุรกิจและพัฒนาโครงการเพื่อสังคมเพื่อขอทุนสนับสนุน รวมทั้งดึงภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม จนได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าเป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมมากที่สุด ด้านตัวแทนเยาวชน ได้แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่ตนเองอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสิทธิของเด็กที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีอากาศและน้ำที่สะอาด รวมทั้งได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ให้รู้เท่าทันและใช้งานเป็น ตลอดจนเพิ่มการจ้างผู้หญิงให้มากขึ้น ให้มีส่วนร่วมตัดสินใจในการให้ความรู้และแก้ไขปัญหาของเด็ก โดยต้องการให้เกิดความร่วมมือตั้งแต่ระดับครอบรัว โรงเรียน ไปสู่ระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ ที่จะให้ความสนใจสิทธิเด็กเพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขและยั่งยืนที่แท้จริง
“รากฐานของความยั่งยืนคือการศึกษา และหัวใจสำคัญคือการพัฒนาคน ทรู ริเริ่มโครงการทรูปลูกปัญญา และร่วมมือกับ 3 ภาคส่วน ขับเคลื่อนมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี พัฒนาการศึกษา สร้างตัวอย่างโมเดลองค์ความรู้ที่ส่งต่อให้ภาครัฐ และสร้าง domino effect ให้เกิดขึ้น” ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการและเลขานุการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation)
“ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากโรงเรียนและครู ซึ่งเป็นระบบที่มีอยู่แล้วของภาคการศึกษา โดยปลูกฝังให้เด็กมี Entreprenuer and Empathy mindset และได้เรียนรู้การทำธุรกิจ และการ Sharing and Giving” คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
๐ มองความยั่งยืนผ่านคนรุ่นอนาคต
ปิดท้าย ด้วย Perspective มองความยั่งยืนผ่านคนรุ่นอนาคต ที่ได้ ณัฐภูมิ พรมสอน ตัวแทนเยาวชน บุณยาพร สายสร้อย ตัวแทนเยาวชน และพัชรพล ลี้อิสสระนุกูล ตัวแทนเยาวชน สะท้อนว่า GCNT Forum 2023 ทำให้เห็นว่าเยาวชนต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร และเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นอนาคตเป็นผู้กำกับดูแล AI และยังได้เรียนรู้ว่าแต่ละบริษัทกำลังขับเคลื่อนงานอะไรที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน และแสดงความเห็นว่าทุกคนต่างให้ความสำคัญในด้านการศึกษา รวมถึงการปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านการใช้เทคโนโลยี
ผู้สนใจสามารถรับชมวิดีโอบันทึกการประชุมของแต่ละเวทีฉบับเต็ม ได้ทาง Social Media ของสมามเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็แห่งประเทศไทย (UNGCNT) www.globalcompact-th.com