xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงานประชุม FNM 2024 เวทีรวมนักวิจัยและแพทย์ระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในฐานะผู้นำด้านการบริบาลสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ ได้รับเกียรติจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร The Federation of Neurogastroenterology and Motility Meeting (FNM) 2024

ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 43 ปี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์และนวัตกรรม โดยได้พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยทั่วโลก
การสนับสนุนการจัดงาน FNM 2024 นับเป็นการตอกย้ำถึงความทุ่มเทในการพัฒนาการแพทย์ด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับด้านสาธารณสุขและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุม และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับโลก

ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ ประธานจัดงาน FNM 2024 หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า FNM 2024 เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ the American Neurogastroenterology and Motility Society (ANMS), the European Society of Neurogastroenterology and Motility (ESNM), the Asian Neurogastroenterology and Motility Association (ANMA), Australasian Neurogastroenterology & Motility Association (ANGMA) และ Sociedad Latinoamericana de Neurogastroenterología (SLNG)

การประชุม FNM เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2014 และจัดขึ้นทุกสองปี เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่าย โดยการนำนักวิจัยและแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติกว่า 1,000 คน จากทั่วโลกมารวมตัวกัน โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร เพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เกิดจากทางเดินอาหารทำงานผิดปกติที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร ภาวะกระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้า โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในคนไทยและคนทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประชุม FNM ครั้งที่ 5 จึงถูกเลื่อนจากปี 2022 เป็น 2024

การประชุม FNM 2024 ในปีนี้จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน ร่วมกับทาง the Asian Neurogastroenterology and Motility Association ในฐานะที่ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในด้านวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงต่างชาติให้ความสนใจและไว้วางใจประเทศไทย ทั้งในด้านชื่อเสียงด้านการแพทย์ รวมถึงวัฒนธรรมและอาหาร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทย

ในงานจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่า 100 ท่าน มานำเสนอการค้นพบและผลงานวิจัยล่าสุด ตั้งแต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการปฏิบัติทางคลินิก มีการประชุมสัมมนาเจาะลึกในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ ‘การรับประทานอาหารและจุลินทรีย์ในลำไส้มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคและการจัดการโรคที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของสมองและลำไส้อย่างไร’ และหัวข้อ ‘Asian focus’ ที่รวมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านการทำงานของระบบทางเดินอาหารในเอเชียและตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ผ่านมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อ และสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

ผศ.นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในปัจจุบัน ทำให้พบผู้ที่มีอาการผิดปกติหรือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารและตับมากขึ้นทุกปี เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับ โรคตับอ่อน เป็นต้น

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราตระหนักถึงปัญหา และมุ่งหวังที่จะช่วยรักษาผู้ที่มีอาการหรือมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและตับอย่างครอบคลุม ทั้งโรคทั่วไปและโรคที่มีความซับซ้อน ที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นพัฒนาตัวเราให้เป็นหนึ่งในใจของคนไทยและคนทั่วโลก โดยได้พัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมมือกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจและรักษาความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหารอันดับหนึ่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

และต่อมาในปี 2566 ศูนย์ทางเดินอาหารและตับได้ต่อยอดขยายคลินิกเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาการรักษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และทัดเทียมมาตรฐานโลก โดยมีคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ประกอบไปด้วย คลินิกโรคทางเดินอาหารทั่วไป (General GI Center), ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร (Motility Center), ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy Center), โปรแกรมตับอ่อน (Pancreas program), คลินิกพันธุกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร, คลินิกโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD Center), คลินิกโรคตับ (Liver Center) และคลินิกไมโครไบโอมแบบบูรณาการ (Integrative Microbiome Clinic)

ปัจจุบันเรามีวิวัฒนาการใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการวินิจฉัยรักษาได้ดีขึ้น เช่น การให้บริการตรวจคัดกรองโรคในทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องพร้อมระบบ AI detection ซึ่งช่วยให้สามารถเจอติ่งเนื้อได้มากขึ้นถึง 54% เมื่อเจอติ่งเนื้อในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร แพทย์จะสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุได้ในทันที โดยการส่องกล้องไม่ต้องผ่าเปิดหน้าท้อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยของเรามาโดยตลอด

ในปีนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับเกียรติให้เป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน FNM 2024 นับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะทำให้แพทย์ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีทางวิชาการระดับนานาชาติ และแสดงถึงศักยภาพของไทยในฐานะประเทศที่เป็นผู้นำการประชุมวิชาการระดับโลกที่สำคัญ การประชุมนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ แต่ยังเป็นเวทีสำหรับนวัตกรรมทางการแพทย์และความร่วมมือในอนาคตของประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการแพทย์ในประเทศ และท้ายที่สุดจะยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยทั่วทั้งภูมิภาค
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน FNM 2024 หรือศึกษารายละเอียดและหัวข้อเสวนาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fnm2024.com/














กำลังโหลดความคิดเห็น