xs
xsm
sm
md
lg

ราชทัณฑ์แถลงยัน “บุ้ง” กลับมากินข้าว แต่ปฏิเสธอาหารเสริม-เกลือแร่ ก่อนวูบยังคุยกับ "ตะวัน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชทัณฑ์เปิดโต๊ะแถลง ก่อนเสียชีวิต "บุ้ง ทะลุวัง" กลับมารับประทานอาหารแล้ว แต่ยังมีอาการอ่อนเพลียและทานได้มากขึ้นตามลำดับ แต่ปฏิเสธรับสารบำรุงร่างกายและวิตามินบำรุงเลือด ก่อนเกิดเหตุยังคุยกับ "ตะวัน" ตามปกติ ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบ ต้องรอผลชันสูตร

วันนี้(15 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ชั้น 2 กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวกรณี นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ โดยมี นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมฯ นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และ นายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เข้าร่วมการแถลง

นายแพทย์พงศ์ภัค กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 4 เมษายน ที่กลับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ น.ส.เนติพร ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย สามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ รายละเอียดอาหารที่ น.ส.เนติพร รับประทานในแต่ละวันจะมีการบันทึกเอาไว้ ซึ่งอาจจะต้องไปดูรายละเอียดซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ อาการของ น.ส.เนติพรก็จะมีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้ตามลำดับ เท่าที่เห็นคือ รับประทานข้าวต้มได้ รับประทานไข่เจียว เป็นต้น ซึ่ง น.ส.เนติพรค่อยๆ เริ่มรับประทานขึ้นเรื่อยๆ

นายแพทย์พงศ์ภัค ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้มีการแนะนำให้ น.ส.เนติพรโดยตลอดว่าการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้น.ส.เนติพรรับทราบอย่างต่อเนื่องแต่ยังยืนยันในแนวทางเดิม โดยมีเจตจำนงที่จะปฏิเสธรับเกลือแร่หรือวิตามิน แต่ได้พยายามรักษษตามหลักสากล ก่อนเกิดเหตุไม่มีภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตามในการนำตัว น.ส.เนติพรไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ นั้นไม่ได้ใช้ เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะไม่มีข้อบ่งชี้

นายแพทย์พงศ์ภัค ไม่ได้ตอบถึงประเด็นที่ว่า น.ส.เนติพรกลับมารับประทานอาหารตั้งแต่วันที่เท่าไร แต่ระบุว่า น.ส.เนติพรเริ่มกลับมารับประทานได้ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับอาการว่าแน่นท้องหรือเปล่า อืดท้องหรือเปล่า ซึ่งจากรายงานก็มีการรับประทานเป็นระยะ หากช่วงไหนที่แน่นท้อง ก็จะรับประทานได้น้อยลง

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต นายแพทย์พงศ์ภัค กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ แต่หากมีผลชันสูตรออกมาน่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ยืนยันว่าด้านสารบำรุงร่างกายต่างๆ โรงพยาบาลมีเตรียมไว้ให้ แต่ น.ส.เนติพร ปฏิเสธที่จะรับ


ด้านนายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรม กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับตัว น.ส.เนติพร มาควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 มกราคม โดยขณะนั้น น.ส.เนติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลางได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่ามีอาการอ่อนเพลียจากภาวะอดอาหาร จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลาง

ต่อมาวันที่ 29 ก.พ.-8 มี.ค.ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากอาการอ่อนเพลีย จากนั้นวันที่ 8 ม.ค.-4 เม.ย. ได้ย้ายตัว น.ส.เนติพร ไปรักษาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเวลา 27 วัน และมีรายงานว่าปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือดต่างๆ ด้วยเช่นกัน และยังอยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จนกระทั่งวันที่ 4 เม.ย. แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงได้มีหนังสือส่งตัว น.ส.เนติพร กลับมารักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าสามารถรักษาต่อได้

หลังจากที่ น.ส.เนติพรกลับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ สามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้จัดให้พักในห้องผู้ป่วยรวมที่มี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย

นายแพทย์สมภพ ยืนยันว่าแพทย์และพยาบาลได้เฝ้าตรวจรักษาอาการอยู่ตลอดเวลา พบว่า น.ส.เนติพ รู้สึกตัวดี มีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกระทั่งวันเกิดเหตุคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 06.00 น. น.ส.เนติพรได้เกิดอาการวูบและหมดสติไปขณะกำลังพูดคุยกับ น.ส.ทานตะวัน เจ้าหน้าที่จึงได้ให้การช่วยเหลือและกระตุ้นหัวใจทันที พร้อมประสานส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า ก่อนเกิดเหตุ น.สงเนติพรยังอยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงมองว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และในเช้าวันเกิดเหตุก็ยังสามารถคุยกับ น.ส.ทานตะวันได้ตามปกติ กล่าวเพียงว่ามีอาการปวดหัว

นายแพทย์สมภพ กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังที่มีเจตนารมณ์อดอาหารว่า เริ่มต้นจะส่งนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยและโน้มน้าว แต่หากผู้ต้องขังยังยืนยันเจตนาเดิม ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะใช้แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ ทั้งด้านจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เข้าประเมินร่างกาย หากพบว่าเกิดภาวะที่มองว่าน่าจะเกิดอันตราย เกินศักยภาพของสถานพยาบาลเรือนจำก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย

นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า ลักษณะของคนที่อดอาหารมาระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระเพาะอาหารก็ดี ระบบทางเดินอาหาร จะต้องมีการค่อยๆ รับประทานอาหาร อาจจะเป็นอาหารอ่อนก่อน เหมือนกับพวกเราที่จะไปผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แพทย์ก็จะให้รับประทานอาหารอ่อนก่อน การที่ น.ส.เนติพรได้รับอาหาร คือ บางมื้ออาจจะได้นิดเดียว แต่ รพ.ราชทัณฑ์ได้จัดอาหารให้ 3 มื้อ ว่าจะรับประทานได้มากได้น้อยยังไงก็จะมีการบันทึกปริมาณไว้ อย่างเช่น ยาที่เราจัดให้ จะเป็นวิตามินบำรุงเลือด เพราะจากการตรวจเลือดพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ซึ่งเมื่อไปตรวจก็พบว่า น.ส.เนติพรปฏิเสธที่จะรับประทานตรงนี้

เมื่อถามว่า หลังจาก น.ส.เนติพรปฏิเสธรับประทาน ทางแพทย์ได้ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำหรือไม่ ผู้ตรวจราชการกรมกล่าวว่า โดยปกติ ถ้าสามารถรับประทานอาหารได้ และเรามีการตรวจสภาพร่างกายโดยทั่วๆ ไปของผู้ป่วย ถ้าสามารถรับประทานอาหารเองได้ จะให้รับประทาน ส่วนการให้สารอาหารทางน้ำและหลอดเลือด ปกติเราจะให้ในภาวะเสียน้ำอย่างรุนแรง เหมือนคนท้องเสีย หรือคนที่อยู่ในภาวะของสารน้ำที่ไม่พอ เพราะสารน้ำที่ให้ทางเลือดก็คือน้ำเกลือ ไม่ได้มีสารอาหารเช่นโปรตีน หรืออะไรอยู่ในนั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น