xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎ์" ยันไม่ควรนำน้ำยาล้างจานไปผสมน้ำแช่ปลา ชี้อันตรายทำให้เกิดความระคายเคืองสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.เจษฎา อ.ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เผยไม่สนับสนุนให้เอาน้ำยาล้างจานไปผสมน้ำแช่ปลา อันตราย เพราะสารเคมีในน้ำยาจะทำให้เกิดความระคายเคืองสูง ทั้งจากการที่มันเป็นสารซักล้างและความที่มันมีค่า pH เป็นด่าง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนได้

จากกรณีเพจดังเผยคลิปพ่อค้าเทน้ำยาล้างจานใส่ในกระบะขนส่งปลา ทำเอาโลกออนไลน์กล่าวขวัญว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่บริโภค ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว

วันนี้ (31 ม.ค.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า “ไม่สนับสนุนให้เอาน้ำยาล้างจานไปผสมน้ำแช่ปลาครับ เช้านี้มีคนทักหลังไมค์มาหลายคนเลย ถึงกรณีที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ไวรัลกัน เป็นการเอาน้ำยาล้างจานยี่ห้อหนึ่งมาผสมในน้ำที่สำหรับแช่ปลาระหว่างขนส่ง โดยอ้างว่าฟองของน้ำยาจะช่วยให้น้ำมีอากาศเยอะ ปลาจะไม่ตายง่าย แต่ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคปลานั้นหรือไม่ แม้จะอ้างว่าน้ำยานั้นเป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติก็ตาม

น้ำยาล้างจาน แม้จะมีหลายสูตรผสม แต่ก็เป็นสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดครัวเรือน โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว ทำให้คราบไขมันคราบสกปรกหลุดออกจากจานชามได้ง่ายขึ้น และไม่ได้จัดว่าเป็นอาหารสำหรับการบริโภคแต่อย่างใด แม้จะเรียกว่าเป็นแบบ food grade ก็ตาม (ซึ่งหมายถึงใช้กับภาชนะใส่อาหารได้ แต่ไม่ได้แปลว่าให้เอามากินโดยตรง)

การเผลอกินน้ำยาล้างจานเข้าไปโดยตรง ซึ่งมักจะมีข่าวเกิดกับเด็กเล็กๆ นั้นนับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะสารเคมีในน้ำยาจะทำให้เกิดการระคายเคืองสูง ทั้งจากการที่มันเป็นสารซักล้างและความที่มันมีค่า pH เป็นด่าง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่กินเข้าไป และความเข้มข้นของสูตรน้ำยาที่ใช้ด้วย

แม้ว่าบางคนจะอ้างเรื่องที่ในต่างประเทศมีคนใช้น้ำยาล้างจานกัน "แบบล้างแล้วไม่ล้างน้ำเปล่าออก" นำไปคว่ำตากแห้งเลยก็ตาม แต่ในด้านของบริษัทผู้ผลิตนั้นก็จะมีการระบุเตือนว่า จริงๆ แล้วควรจะล้างด้วยน้ำเปล่าออกให้หมด ไม่ควรทิ้งให้เป็นคราบไว้ ซึ่งอาจมีผลต่อร่างกายได้

ดังนั้น การนำเอาน้ำยาล้างจานไปผสมกับน้ำที่ใช้แช่ปลานั้น แม้จะมีไม่มาก (ขึ้นกับปริมาณและความเข้มข้นของน้ำยาที่ใส่ลงไป) ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการใช้น้ำยา และน้ำยาเองก็ไม่ได้แค่เคลือบผิวของตัวปลา แต่จะสามารถเข้าปากปลาไปอยู่ในร่างกายของปลาได้ด้วย

ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำให้เกิดฟองน้ำยาขึ้น แล้วจะกักอากาศไว้ได้นั้น ก็ไม่น่าจะได้มากอย่างที่คิดกัน น่าจะเป็นความเชื่อตามกันมากกว่า การใช้เครื่องปั๊มอากาศลงไปในน้ำ น่าจะได้ประโยชน์ตรงไปตรงมามากกว่าครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น