xs
xsm
sm
md
lg

ราคาหมูมีขึ้นมีลง ตามวัฏจักรและกลไกตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า “ปัจจัยด้านฤดูกาลและอุณหภูมิ” มีผลต่อผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ ผู้คนยอมรับได้เสมอเมื่อ มะนาว และผักชี มีราคาแพงขึ้นสุดๆ ในช่วงหน้าร้อน เหมือนกับที่รับรู้เสมอว่าไข่ไก่จะมีราคาสูงขึ้นเมื่ออากาศร้อน-แล้ง เพราะแม่ไก่เครียดออกไข่ได้น้อยลง เมื่ออุปทานลด อุปสงค์เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ระดับราคาของสินค้านั้นๆ ขยับ

“เนื้อหมู” ก็เช่นกัน ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ผนวกกับการดำเนินโครงการลดปริมาณผลผลิตส่วนเกินในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาหน้าฟาร์มขยับขึ้นติดต่อกันหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับในช่วงภาวะอากาศร้อนแล้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเพียงแห่งเดียว แต่เกิดกับทุกประเทศในแถบนี้ เช่น กัมพูชา ขายหมูหน้าฟาร์มในราคา 80-85 บาท/กก. เวียดนาม ราคา 82-85 บาท/กก. สปป.ลาว ราคา 73-78 บาท/กก. และจีนตอนใต้ ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 75-82 บาท/กก. (ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันที่ 16 เมษายน 2567)

หากราคาหมูไทยยังต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น โดยอยู่ที่ 72-78 บาท/กก.เท่านั้น ยังไม่ถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ 80 บาท/กก.ด้วยซ้ำ แต่ก็พอช่วยลดขาดทุนสะสมให้เข้าใกล้ต้นทุนมากขึ้น และต่อชีวิตของเกษตรกรได้พอสมควร หลังคนเลี้ยงหมูต้องเผชิญความยากลำบากมาตลอดหลายปี

ที่สำคัญ ราคาในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ยสูงถึง 98.75 บาท/กก. เพราะเป็นปีที่ ASF ระบาดจนผลผลิตหมูหายไปจากระบบกว่า 50% และเป็นที่มาของ ขบวนการหมูเถื่อน ที่เข้ามาทุบตลาดหมูไทย จนเกษตรกรขาดทุนยับเยินต้องเลิกอาชีพไปมากมาย

การจะขึ้นราคาหมูไม่ใช่ใครคิดจะขึ้นก็ขึ้นได้ตามใจ แต่มันจะขึ้น-ลงตามอุปสงค์อุปทาน ขับเคลื่อนผ่านปริมาณผลผลิตและความต้องการซื้อ ส่วนเกษตรกรจะขายหมูหน้าฟาร์มได้ตามราคาประกาศหรือไม่นั้น ยังมีตัวแปรอย่าง “คนกลาง” หรือ “ผู้ค้าหน้าฟาร์ม” หรือ “เขียงหมู” เข้ามาเกี่ยวข้อง หากคนกลางซึ่งเป็น “ผู้ค้าหน้าฟาร์ม” ยังกดราคากับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอยู่ ย่อมทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการช่วยชีวิตเกษตรกรให้ประกอบอาชีพต่อไปได้

เขียง หรือคนกลาง นับเป็นอีกข้อต่อหนึ่งของห่วงโซ่การจำหน่ายหมูให้ถึงมือผู้บริโภค เป็นข้อต่อที่สำคัญไม่น้อย เพราะหากไม่มีเขียง ผู้บริโภคก็คงไม่รู้จะไปซื้อหมูที่ไหน แต่เมื่อในระบบมีปริมาณหมูน้อยลง ราคาหน้าฟาร์มขยับขึ้น คนกลางที่ซื้อมา-ขายไป จำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์เช่นกัน

ปัญหานี้หน่วยงานภาครัฐอาจต้องใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมาเป็นแนวทางในการกำกับดูแลด้วย บนแนวคิดบริหารงานเพื่อเกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ซึ่งเป็นการเดินหน้าร่วมกันไปให้ได้ในทุกข้อต่อของห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคหมู ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเกิดประโยชน์ในองค์รวม

กลไกตลาดทำหน้าที่ของมันเสมอ “ของน้อยราคาสูงขึ้น-ของมากราคาต่ำลง” และครั้งนี้ถือว่าราคาหน้าฟาร์มที่ขยับขึ้นก็เพื่อ “คนไทย” ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูผลิตอาหารให้คนไทยด้วยกันได้กิน ดีกว่าราคาต่ำลง เพราะ “หมูเถื่อน” ที่เข้ามากอบโกยผลกำไรเข้ากระเป๋า “มิจฉาชีพและข้าราชการที่คอร์รัปชัน” เป็นไหนๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น