xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานนักต่อสู้ "เทิดภูมิ ใจดี" นักเคลื่อนไหวแรงงาน สู่บั้นปลายวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประวัติ "เทิดภูมิ ใจดี" นักต่อสู้ทางการเมืองทุกประวัติศาสตร์การเมืองไทย อดีตเด็กวัด เชฟโรงแรม นักเคลื่อนไหวแรงงาน 14 ตุลาฯ เข้าป่าจับปืน ลงสนามการเมืองเป็น ส.ส.ศรีสะเกษ สู่แนวร่วมพันธมิตรฯ ขับไล่นายกฯ ทักษิณ-สมัคร-สมชาย บั้นปลายชีวิตเข้าหาธรรมะ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม วังน้ำเขียว ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อค่ำวันที่ 22 เม.ย. 2567 ที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา รวมอายุได้ 80 ปี โดยจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่คืนวันที่ 23-27 เม.ย. 2567 เวลา 19.00 น. และพิธีฌาปนกิจวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย. 2567 เวลา 10.00 น.

สำหรับนายเทิดภูมิ ใจดี เกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2487 ที่ตำบลโดด อำเภออุทุมพรพิสัย (ปัจจุบันขึ้นตรงต่ออำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ) จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรนายใส ใจดี กำนันตำบลโดด และนางสร้อย ใจดี กระทั่งอายุได้ 11 ขวบย้ายมาเป็นเด็กวัดอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2498 ศึกษาต่อที่โรงเรียนสิริศึกษา โรงเรียนวัดบวรมงคล และโรงเรียนอำนวยศิลป์ เคยทำงานเป็นคนทำความสะอาด (House Boy) ให้หน่วยงานคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAG) ย่านสวนลุมพินี (ขณะนั้น) ก่อนไปเป็นเชฟโรงแรมหลายแห่ง เช่น โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมเชอราตัน โรงแรมนารายณ์ โรงแรมมโนราห์ เป็นต้น

นายเทิดภูมิมีความสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสมัยนั้นอย่างใกล้ชิด โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดตั้งแต่เด็กจากพ่อ รวมทั้งที่วัดหงส์รัตนารามขณะนั้น หลวงพี่และลูกศิษย์วัดมีความสนใจเรื่องการเมือง ทุกวันเสาร์และอาทิตย์หลังฉันเช้าเสร็จจะตั้งวงสนทนาการเมือง เมื่อทำงานเป็นเชฟได้เป็นผู้นำแรงงาน ก่อตั้งสมาคมลูกจ้างโรงแรม เข้าร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวให้การศึกษาทางการเมืองในหมู่ผู้ใช้แรงงานร่วมกับอดีตผู้นำนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม วันที่ 3 มิถุนายน 2518 นายเทิดภูมิถูกลอบสังหารที่ด้านล่างสำนักงานทนายความธรรมรังษี ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ แต่รอดตายราวปาฏิหาริย์ ร่างกายมีเพียงรอยฟกช้ำเท่านั้น ทำให้วันที่ 18 มิถุนายน 2518 นายเทิดภูมิตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศส ตามหลังนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายปรีดี บุญซื่อ และนายเหวง โตจิราการ ต่อด้วยประเทศจีน เวียดนาม ก่อนมาทางประเทศลาว และภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นนักรบปลดแอกกองร้อย 244 ร่วมกับนักศึกษาที่หลบหนีเพราะถูกรัฐบาลไล่ล่าในเวลานั้น กระทั่งเกิดความขัดแย้งภายในพรรค เรื่องปัญหาแนวทางและอุดมการณ์ไม่ตรงกัน จึงตัดสินใจทิ้งป่าเข้าเมือง ตามนโยบาย 66/23 สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นายเทิดภูมิออกจากป่า ปลอมตัวเป็นคนลาวชื่อ “ท้าวอินตอง” หิ้วกระเป๋านั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาขึ้นท่าที่จังหวัดหนองคาย ทำทีเป็นนักท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคายเป็นแฟนประจำติดตามการปราศรัยจำได้ และบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบาย 66/23 ปฏิบัติต่อผู้คืนเมืองเป็นอย่างดี นายเทิดภูมิถูกส่งตัวไปอยู่ที่ศูนย์ซักถาม ถนนเศรษฐศิริ ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อได้รับการปล่อยตัว นายเทิดภูมิไปเปิดร้านอาหารชื่อ พระสังข์-รจนา ที่ถนนแจ้งวัฒนะ

หลังจากนั้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองเหมือนคนเดือนตุลาฯ จำนวนหนึ่ง โดยร่วมงานการเมืองกับนายวัฒนา อัศวเหม นายมั่น พัธโนทัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.ศรีสะเกษ ชนะการเลือกตั้งในปี 2535/1 และ 2535/2 ในนามพรรคความหวังใหม่ ก่อนย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคม และถูกชักชวนจากนายปรีดา พัฒนถาบุตร ให้ไปร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย ยุคนายทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรค กระทั่งปี 2549 จึงลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 ขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และปี 2551 ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และปี 2554 ชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กรณีปราสาทพระวิหาร

นายเทิดภูมิถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏร่วมกับแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ คนอื่นๆ โดยถูกศาลแพ่งสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรณีชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 522 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ร่วมกับแกนนำ 13 คน ซึ่งต่อมาวันที่ 17 ต.ค. 2566 ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หลัง ทอท.ยื่นฟ้องล้มละลาย ขณะเดียวกันถูกศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 สั่งจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีชุมนุมดาวกระจาย ขับไล่รัฐบาลนายสมัครเมื่อปี 2551 ถึงกระนั้น ข้อหาก่อการร้ายที่อำนาจรัฐขณะนั้นมอบให้ จากการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ฟ้องร่วม 20 ข้อกล่าวหา ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ยกฟ้องจำเลยทั้ง 32 คน เหลือแต่ฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลย 13 ราย คนละ 20,000 บาท

ระหว่างจำคุกคดีชุมนุมดาวกระจาย นายเทิดภูมิถูกนำตัวส่งไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 31 ส.ค. 2564 เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยจากการผ่าตัดอยู่ก่อนแล้ว กระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ออกมาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 หลังรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการป่วยโรคไต ในบั้นปลายชีวิต นายเทิดภูมินอนพักรักษาตัวที่วัดป่าทวีทรัพย์ธรรมาราม ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เจ้าอาวาสวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้นายเทิดภูมิได้ปฏิบัติธรรมและอุปสมบทที่วัดนี้มาระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

อนึ่ง นายเทิดภูมิมีผลงานหนังสือเล่ม ชื่อ เทิดภูมิ คนรักแผ่นดิน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เมื่อปี 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น