xs
xsm
sm
md
lg

“มะรุม” พืชเพื่อชีวิต อเมริกาให้เป็นซุปเปอร์ฟูด สหประชาชาติใช้ช่วยชีวิตเด็กอดอยาก!..เรื่องนี้ทาสแมวต้องอ่าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



มะรุม หรือ Moringa ถือได้ว่าเป็นพืชมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียและแอฟริกา แต่ก็ปลูกกันอยู่ทั่วไปในโลก มีหลักฐานว่าใช้กันมากว่า ๔,๐๐๐ ปีแล้ว โดยกรีก โรมัน และอียิปต์ สกัดน้ำมันใช้เป็นน้ำหอมและโลชั่นทาผิว คัมภีร์ไบเบิลว่าใช้รักษาได้ทุกโรค คนอเมริกันว่าปลูกไว้ก็เหมือนมีโรงพยาบาลอยู่ในบ้าน และถูกยกย่องให้เป็น “ซุปเปอร์ฟูด ประจำปี ๒๐๒๒” โดยห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่จำหน่ายอาหารประเภทออร์แกนิก หรืออาหารจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี และคาดการณ์ตลาดการบริโภคผลิตภัณฑ์มะรุมของโลกจะเติบโตมีมูลค่าถึงปีละ ๒.๘๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ มีผลิตภัณฑ์ในรูปแคปซูล สกัดเป็นน้ำมัน ผสมในอาหารขบเคี้ยว และเมนูอาหารต่างๆ ตลอดจนเครื่องดื่ม ออกวางตลาดมากมาย

ทั้งนี้จากงานวิจัยต่างๆพบว่า มะรุมเป็นพืชเพื่อชีวิตโดยแท้ ทุกส่วนไม่ว่า ใบ ฝัก ดอก เมล็ด เปลือกของลำต้น จนถึงราก ล้วนอุดมไปด้วยคุณค่าทางด้านโภชนาการและทางการแพทย์ ทั้งยังมีมากกว่าพืชยอดนิยมอื่นๆอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างเช่น

ในใบมะรุม มีวิตามินซี ๗ เท่าของส้ม จึงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ต่อต้านการเป็นหวัดได้ดี และแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน

มีวิตามินเอ ๔ เท่าของแครอท ช่วยในเรื่องของจอประสาทตา และยังช่วยบำรุงผิวพรรณ
มีแคลเซียม ๔ เท่าของนมสด ช่วยเสริมสร้างฟันและกระดูกให้แข็งแรง

มีโพแทสเซียม ๓ เท่าของกล้วยสุก ช่วยบำรุงสมองและประสาท

มีโปรตีน ๒ เท่าของโยเกิร์ต ช่วยเสริมสร้างเซลล์ต่างๆได้ดี

และเมื่อนำใบมะรุมไปตากแห้ง วิตามินซีจะลดลงไปเหลือแค่ ๐.๕ ของส้ม แต่สารอาหารอื่นกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ คือ

วิตามินเอ เพิ่มเป็น ๑๐ เท่าของแครอท
แคลเซียม เพิ่มเป็น ๑๗ เท่าของนมสด
โพแทสเซียม เพิ่มเป็น ๑๕ เท่าของกล้วยสุก
โปรตีน เพิ่มเป็น ๙ เท่าของโยเกิร์ต
และมีธาตุเหล็ก เพิ่มเป็น ๒๕ เท่าของผักขม

ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงสนับสนุนให้ค้นคว้าและวิจัยในเรื่องมะรุมอย่างกว้างขวาง มีการนำใบมะรุมแห้งซึ่งมีโปรตีนสูงมาบดละเอียด แล้วใส่แคปซูลส่งไปช่วยเด็กที่ขาดสารอาหารในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีเด็กพิการหรือตาบอดเนื่องจากขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก แค่ใบมะรุมนี้ก็สามารถช่วยเด็กเหล่านั้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๑๐ ขวบ พ้นจากพิการและตาบอดได้เป็นอย่างดี เติบโตได้อย่างสมบูรณ์

ในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ของ คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง “มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้” กล่าวถึงภาพรวมจากการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า มะรุมมีฤทธิ์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดเนื้องอก ต้านมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับอักเสบ ต้านออกซิเดชัน ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดระดับน้ำตาล และฤทธิ์ต้านการอักเสบ

ในตำรายาพื้นบ้านของไทย ใช้ใบมะรุมพอกแผลช่วยห้ามเลือด ทำให้นอนหลับ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และช่วยแก้ไข้ ใช้ส่วนดอกและผลเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะและแก้ไข้เช่นกัน ส่วนเมล็ดบดพอกแก้ปวดตามข้อและแก้ไข้

ส่วนสรรพคุณของมะรุมที่ค้นพบใหม่และใช้กันในสมัยนี้ก็คือ มะรุมมีส่วนอย่างมากในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย นอกจากจะช่วยให้ปอดแข็งแรง รักษาโรคทางเดินหายใจ รักษาโรคลำไส้อักเสบ กำจัดพยาธิในลำไส้ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าต์ รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้อยู่ในภาวะควบคุมได้แล้ว สหรัฐยังค้นพบว่ามะรุมยังช่วยควบคุมโรคเอดส์ ให้คนเป็นโรคนี้สามารถมีชีวิตอย่างคนทั่วไปได้ และนำไปใช้ได้ผลในอาฟริกา ส่วนคนเป็นมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสี การดื่มน้ำมะรุมก็จะช่วยการแพ้รังสีให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น หรือคนที่ดื่มหรือรับประทานมะรุมสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งได้

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามะรุมหรืออะไรก็ตามที่มีประโยชน์ล้นเหลือ ก็ย่อมมีโทษควบคู่มาด้วย ด้วยถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ถ้ากินมะรุมติดต่อกันนาน ก็จะเป็นอันตรายต่อตับ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคตับอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคเลือด ก็จะทำให้เม็ดเลือดแตกได้ง่าย ผู้ป่วยโรคเกาต์ก็เช่นกัน มะรุมมีโปรตีนสูงมาก จะเป็นอันตรายต่อโรคเกาต์ ส่วนหญิงมีครรภ์ก็ไม่ควรกินมะรุม เพราะอาจทำให้ครรภ์เป็นพิษ เกิดแท้งได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมะรุมหรืออะไรก็ตาม ไม่ควรกินมากเกินไป หรือกินซ้ำซาก ควรกินให้หลากหลายเป็นดีที่สุด

วิธีใช้ ควรรับประทานใบมะรุมสด และใช้ใบที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปจะได้คุณประโยชน์มาก หากจะรับประทานแบบรวก ก็ควรรวกแต่พอควร ไม่ให้ถูกความร้อนมากเกินไปจะทำให้เสียคุณค่า ถ้าจะให้ได้ผลรวดเร็วก็ต้องใช้วิธีคั้นน้ำดื่ม และควรดื่มน้ำคั้นมะรุมข้นๆไม่เกินวันละ ๑ ช้อนโต๊ะสำหรับผู้ใหญ่ เด็กก็ลดขนาดลงไปตามอายุ

ส่วนยอดอ่อน ใบอ่อน ตลอดจนช่อดอกอ่อนๆ ก็นำไปลวกจิ้มน้ำพริก หรือแจ่ว ลาบ ได้ดี

สำหรับฝักมะรุมที่นิยมมาทำเป็นอาหาร จะออกมามากในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้าใจร้อนไม่ต้องรอถึงแก่ ฝักมะรุมอ่อนก็นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง โดยใช้แทนถั่วฝักยาวได้เลย ทั้งแกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ใส่ทอดมันปลา ไข่ยัดไส้ ฯลฯ รสชาติใกล้เคียงกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวไทยใหญ่เรียกฝักมะรุมว่า “ผักเนื้อไก่” เพราะเนื้อของฝักมะรุมมีกลิ่นรสใกล้เคียงกับเนื้อไก่
สำหรับแกงส้มที่ใช้ฝักมะรุม ไม่ว่าจะฝักอ่อนหรือฝักแก่ ก็ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตลงได้ ทั้งจะช่วยป้องกันมะเร็ง ช่วยกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส ทั้งสารฟลาโวนอยด์ในฝักมะรุมยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่

มีอีกเรื่องที่อยากให้เล่าให้ทราบ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงแมว สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก หลานสาวคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงแมวมาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งสังเกตเห็นว่าแมวที่เลี้ยงไว้มีอาการเซื่องซึมไม่กินอาหาร และอาเจียน จึงอุ้มไปหาหมอ คุณหมอตรวจและวิเคราะห์ว่าเป็นโรคหวัดแมวที่เกิดจากเชื้อไวรัสพาร์โวไวรัส ซึ่งพบได้ในสัตว์ตระกูลแมว เช่น แมวป่า เสือ สิงโต ฯลฯ และเป็นโรคที่อันตรายมาก คร่าชีวิตแมวไปปีละมากๆ ถ้ามาหาหมอเร็วเมื่อเริ่มมีอาการก็พอช่วยได้ แต่เป็นมากถึงขั้นอาเจียรแสดงว่าเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหารแล้ว จึงช่วยได้แค่ให้ยาแก้อาเจียรและยาลดไข้ได้เท่านั้น

แต่คนรักแมวไม่ยอมให้น้องแมวจากไปง่ายๆ จึงนึกถึงสมุนไพรเพื่อจะช่วยแมวสุดรัก และนึกขึ้นได้ว่ามะรุมมีคุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่งคือต้านแบคทีเรียและไวรัส จึงไปเด็ดใบมะรุมมา ๑ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วใส่น้ำลงไปคั้น นำน้ำใบมะรุมข้นๆ ๒ ซีซี.ดูดใส่ไซลิงค์ฉีดยา ฉีดใส่ปากน้องแมวที่นอนซม เช้าและเย็น พร้อมกับฉีดอาหารเหลวบำรุงร่งกายให้ด้วย แค่ ๓ วันน้องแมวก็ลุกขึ้นเดินหาน้ำหาอาหารกินเองได้ตามปกติ และไม่ใช่รักษาแมวของตัวเอง แต่ยังไปช่วยรักษาให้แมวของเพื่อนบ้านในซอยที่ตายจากโรคนี้ไปมากแล้ว ช่วยน้องแมวที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทั้งซอย

เรื่องนี้แค่คำบอกเล่า แต่ก็น่าพิจารณาที่ว่า น้ำคั้นสดของใบมะรุมมีสารซึ่งมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและไวรัสได้หลายชนิด เช่นเดียวกับน้ำมันที่สกัดจากเมล็ด เปลือกของต้น และราก ซึ่งวงการแพทย์ใช้หยอดหูช่วยบรรเทาอาการปวดหู การใส่ไซลิงค์ฉีดเข้าปาก จึงเป็นการฆ่าไวรัสในระบบทางเดินอาหารโดยตรง

ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็โปรดพิจารณาดู แต่ถ้าหากเจอสถานการณ์เช่นนี้และไม่มีใครช่วยได้แล้ว ก็ลองใช้ดู ดีกว่าที่จะให้น้องแมวสุดรักตายไปต่อหน้าต่อตา หากใช้แล้วได้ผลอย่างไรก็ช่วยเล่าสู่กันฟังบ้างก็ดี




กำลังโหลดความคิดเห็น