xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความลับ 87 ปี ผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ หลังปฏิวัติ 2475

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปานเทพ" เปิดเอกสาร "รายงานกรรมการพิจารณาการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่" ที่ถูกปิดไว้มานาน 87 ปี ชำแหละรายชื่อคนฮุบที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ย้ำไม่ควรอาฆาตแค้นมายุคปัจจุบัน มีหลายกรณีที่ขอพระราชทานอภัยโทษ มีการสำนึกผิดแล้ว ลั่นควรศึกษาประวัติศาสตร์ให้รอบด้าน



วันที่ 27 มี.ค. 2567 อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เปิดความลับ 87 ปี ผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ หลังปฏิวัติ 2475"

อ.ปานเทพกล่าวในช่วงหนึ่งว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ รัชกาลที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ มีการตั้งผู้สำเร็จราชการ เป็นช่วงแย่งชิงทรัพย์สมบัติพระมหากษัตริย์ แต่เรื่องนี้หายไปจากประวัติศาสตร์ ตอนนี้เวลาผ่านไป ตนได้เอกสารมาหนึ่งชิ้น คือรายงานกรรมการพิจารณาการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ รายงานชิ้นนี้ไม่มีใครเห็นมาก่อน เพราะต้องใช้เอกสารไม่ต่ำกว่า 70 กว่าหน้า พิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ทั่วไปคงไม่หมด

เอกสารนี้ถูกปิดล็อกเซฟไว้ 87 ปีที่แล้ว ตนได้มาก็ถือโอกาสเรียบเรียงไว้ในเว็บไซต์ผู้จัดการ (Exclusive!: เปิดความลับ 86 ปี ผลสอบแก๊ง “คณะราษฎร 2475” ปล้นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) จะสรุปโดยรวมให้ฟัง ผลสอบครั้งนั้นออกมา ปรากฏว่ามีคนซื้อที่ดินข้างที่ในราคาถูกและไม่คืน 12 ราย ประกอบด้วย

รายที่ 1 ร้อยเอก ขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร) อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ผู้ช่วยราชเลขานุการ มีการซื้อที่ดิน 2 ครั้ง

รายที่ 2 นายเรือเอก วัน รุยาพร อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๙ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ฟ้องร้องคดีความแพ่ง นายเรือเอก วัน รุยาพร เพื่อทวงคืนที่ดินกลับมา กระทั่งศาลฎีกาตัดสินให้ นายเรือเอก วัน รุยาพร ต้องคืนให้กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ได้มีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

รายที่ 3 พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ (ยม สุทนุศาสน์) รัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่สั่งราชการสำนักพระราชวัง มีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ 2 ครั้ง

รายที่ 4 นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาถ (นาม ประดิษฐานนท์) อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร

รายที่ 5 นายวิลาส โอสถานนท์ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน และเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2

รายที่ 6 นายนาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ รน. (กลาง โรจนเสนา) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ และเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2

รายที่ 7 นายเอก สุพโปฎก ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน และอดีตรองราชเลขานุการในพระองค์

รายที่ 8 นายเรือเอก กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. (กำลาภ กาญจนสกุล) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ

รายที่ 9 นายสอน บุญจูง ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน/สำนักนายกรัฐมนตรี

รายที่ 10 นายร้อยเอก กระวี สวัสดิบุตร

รายที่ 11 นายนาวาโท หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ศาสตระรุจิ) เป็นทหารเรือและต่อมาได้เป็นถึงผู้บัญชาการทหารเรือ

รายที่ 12 พระวิเศษอักษรสาร (เคลื่อน ณ นคร) นายอำเภอราษฎร์บูรณะ ธนบุรี

ใน 12 รายยังไม่คืน มี 1 รายถูกฟ้อง สรุปแพ้ต้องคืน คนที่มีสิทธิทวงคืนได้คือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

อีกปรากฏการณ์คือ ได้พระคลังข้างที่ไปแล้วเรียบร้อย แต่ก่อนซักฟอกและหลังซักฟอกยอมถวายคืน

รายที่ 1 พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475

รายที่ 2 นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (นายเชย รมยะนันท์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรการ อดีตสมาชิกคณะราษฎร 2475 สายทหารบก

รายที่ 3 นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ส.ส.ประเภทที่ 2

รายที่ 4 นายเนรศร์ธิรักษ์ (แสวง ชาตรูปะวณิช) ปลัดกรม แผนกสารบรรณ สำนักพระราชวัง

รายที่ 5 พระพิจิตรราชสาสน์​ (สอน วินิจฉัยกุล) ข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์

รายที่ 6 ขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ) หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินสำนักพระราชวัง

รายที่ 7 นายพันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ หรือ อดุล อดุลเดชจรัส) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

รายที่ 8 หลวงชำนาญนิติเกษตร์ (อุทัย แสงมณี) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน เป็น ส.ส.ประเภทที่ 2 และเป็น หัวหน้าสำนักโฆษณาการ

รายที่ 9 หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน เป็น ส.ส.ประเภทที่ 2

รายที่ 10 พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) อดีตนักเรียนอเมริกา ทุน ก.ต่างประเทศข้าราชการกระทรวงเศรษฐการ

รายที่ 11 นายจำนงราชกิจ (จรัญ บุณยรัตพันธุ์) ข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์

รายที่ 12 นายแสวง มหากายี บุตรชายคนโตของ มหาอำมาตย์ตรีพระยาพระนครพระราม (สวัสดิ์) เลขานุการประจำ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘

รายที่ 13 นายประจวบ บุรานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง

รายที่ 14 นายดิเรก ชัยนาม ส.ส.ประเภทที่ 2

อ.ปานเทพยังกล่าวอีกว่า เราย้อนกลับไปแก้ประวัติศาสตร์ไม่ได้ ขณะนั้นมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มหาศาล เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ในประทศ อาศัยแต่ผู้สำเร็จราชการ แต่ไม่ได้แปลว่าเราควรอาฆาตแค้นมายุคปัจจุบัน ความผิดทั้งหลายมีการขอพระราชทานอภัยโทษ มีการสำนึกผิดในหลายโอกาส บันทึกเหล่านี้เปลี่ยนไปแล้ว เราควรได้รับบทเรียนประวัติศาสตร์ในหลายๆ ด้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น