เปิดความลับ 86 ปี รายละเอียดผลสอบสวนสมาชิกคณะราษฎร 2475 ฉ้อฉลซื้อที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในราคาถูกเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว ชี้ชัดเป็นวิธีการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การซื้อขายไม่มีผล แต่จนบัดนี้หลายคนยังไม่ยอมถวายคืน ยกตัวอย่างที่ดินตระกูล “นิรันดร” ที่แม้ "พล.ท.สรภฏ" ประกาศเจตนารมณ์แล้ว แต่ลูกหลานคนอื่นๆ ยังเฉย แนะสำนักงานทรัพย์สินฯ ฟ้องเรียกคืน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดเผยเอกสารประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน หลังถูกเก็บเป็นความลับมา 86 ปี เป็นผลสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ หรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันเป็นรายงานที่ทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2480 เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิธีการของสมาชิกคณะราษฎรซึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ในการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกมาเป็นกรรมสิทธิของตัวเองและพวกพ้อง ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต
หลักฐานชิ้นนี้ ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เป็นข้อมูลลายลักษ์อักษรอย่างเป็นทางการ ที่ชี้ให้เห็นถึงความฉ้อฉล ของกลุ่มบุคคลที่หลอกลวงสังคมไทยมาตลอดว่าเป็น“ฮีโร่”เป็นปูชนียบุคคลที่ล้มล้าง“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” และนำ“ระบอบประชาธิปไตย”มาสู่ประเทศไทย จนเด็กรุ่นหลังไม่ว่าจะเป็น ม็อบ 3 นิ้ว, ม็อบปลดแอก, แก๊งทะลุวัง, แก๊งทะลุแก๊ส นำมาเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะ “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำนักศึกษา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ถึงกับเชิดชู จอมพล ป.พิบูลยสงครามว่า เป็นฮีโร่ วีรบุรุษประชาธิปไตย
“น้องธนาธร” ติดสินบนหวังเช่าที่ดินพระมหากษัตริย์ราคาถูก
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของผลการสอบสวนดังกล่าว บังเอิญในช่วงนี้มีข่าวที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่อง ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นั่นคือ คดีของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และบริษัทในเครือของตระกูลคือ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งไปพัวพันกับกรณีการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ได้เช่าที่ดินย่านชิดลม
จากคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในเดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงวันนี้เวลาผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้วจำเลย 2 คนคนที่รับสินบนโดนคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ติดคุกจนออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่คนที่ให้สินบนกลับยังสามารถลอยนวลได้อยู่
ในตอนนั้น ในชั้นตำรวจไม่ได้มีการสอบสวนนายสกุลธร ส่วนพอชั้นอัยการก็บอกว่าตำรวจไม่ได้กล่าวหามาตั้งแต่แรก เลยไม่ได้สั่งฟ้อง ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริงก็คือเมื่อมี “คนรับสินบน” ก็ต้องมี “คนให้สินบน”
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวหลังจากที่ยืดเยื้อคาราคาซังมาเกือบ 4 ปี คดีของนายสกุลธร ก็มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน ได้นัดสอบคำให้การจำเลย คดีที่พนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ในความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้กระทำการ และประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่” และ “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบ ด้วยหน้าที่ และได้กระทำไปในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล และเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล”
โดยกรณีนายสกุลธร มีพฤติการณ์กระทำผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน และนายหน้าเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แปลงในซอยร่วมฤดี และ ย่านชิดลม โดยนายสกุลธร พร้อมทนายความ เดินทางมาศาล ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายสกุลธร ได้ออกจากห้องพิจารณา และเดินทางกลับขึ้นรถยนต์ออกจากศาลทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนแต่อย่างใด
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายสกุลธร เป็นจำเลย กรณีนายสกุลธรติดสินบนเงินจำนวน 20 ล้านบาทเจ้าหน้าที่และนายหน้าในการเช่าที่ดิน จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวม 2 แปลง ในซ.ร่วมฤดี และย่านชิดลม โดยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี
ทั้งนี้ศาลได้นัดตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. และ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น.
ความลับ 85 ปี ใครปล้นที่ดินพระคลังข้างที่?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 หลังการปฏิวัติ 2475 ได้ราว 5 ปี นายเลียง ไชยกาล ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องที่นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลซึ่งรวมถึงอดีตผู้ก่อการคณะราษฎร และรวมถึงข้าราชการ ประมาณ 38 คนได้แห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ
หลังจากตั้งกระทู้ถามแล้ว นายไต๋ ปาณกบุตร ส.ส.จังหวัดพระนคร ก็ได้เข้าชื่อเพื่อการอภิปรายกรณีเดียวกันนี้เพื่อรุกไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
การอภิปรายในครั้งนั้น นายเลียง ไชยกาล พาดพิงไปถึงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ซึ่งได้ขายที่ดินส่วนตัวของพระองค์ คือโรงเรียนการเรือนในราคาแพงๆ คือตารางวาละ 35 บาทให้กับสำนักพระคลังข้างที่ ทั้ง ๆ ที่ราคาที่ดินใกล้เคียงมีราคาเพียงตารางวาละ 15 บาท
ปรากฏในวันรุ่งขึ้นต่อมาคือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2480 พระยามานวราชเสวี (ปลอดวิเชียร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุม 2 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แจ้งใคร่จะขอลาออกจากตำแหน่ง โดยทรงอ้างว่าเพราะถูกพาดพิงในสภามาก และเป็นผลทำให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก 2 ท่านลาออกด้วย คือ เจ้าพระยายมราช และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
เรื่องที่ 2 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ
ต่อมา วันที่ 4 สิงหาคม 2480 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้คณะผู้สำเร็จราชการกลับมาดำรงตำแหน่งเหมือนเดิม
ต่อมา วันที่ 7 สิงหาคม 2480 สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม
ต่อมา วันที่ 11 สิงหาคม 2480 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้เปิดวาระการลงมตไว้วางใจคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และอภิปรายต่อในเรื่องคดีการรุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูก ๆ ของอดีดคณะผู้ก่อการคณะราษฎรและข้าราชการ โดยยังไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี จึงได้ยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา โดยไม่ใช่คนของรัฐบาล แต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังจากนั้นที่ประชุมจึงมีมติเสียงข้างมากไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้
ต่อมา วันที่ 12 สิงหาคม 2480 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ 5 คนโดยมี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมการ ต่อมาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ได้ขอถอนตัวออกจากการเป็นประธานกรรมการ คณะรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) เป็นประธานแทน
ผ่านไปอีก 8 เดือน ข้ามไปเป็นปี 2481 ผลการสอบก็ยังไม่เผยแพร่ออกมา
ปรากฏว่า วันที่ 8 มีนาคม 2481 นายเลียง ไชยกาล ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี
ซึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงอ้างว่าคณะกรรมการวินิจฉัยหมดแล้วและรัฐบาลก็ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยเกือบหมดแล้ว(หมายถึงคืนที่ดินกลับเกือบหมดแล้ว)
นายเลียง ไชยกาล จึงเรียกร้องให้โฆษณาเผยแพร่รายงานการสอบ แต่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ้างว่า เนื่องจากรายงานต่อประธานสภาไปแล้ว จึงแล้วแต่สภา
ปรากฏว่า พระยามานนวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตัดบทแจ้งว่าจะไม่แจกรายงานฉบับเต็มนี้ในที่ประชุม โดยอ้างว่าให้อ่านแบบสรุปตามที่รัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ในรายละเอียดแล้ว
โดยพระยามานนวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างต่อว่า “ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ ข้าพเจ้าได้รับรายงานก่อนใครๆ หมด เมื่อกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว รัฐบาลชุดเก่าได้ส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้อ่านเสร็จแล้วก็เก็บใส่กุญแจไว้”
ต่อมาทราบว่า รัฐบาลได้ลงคำแถลงผลการสอบสวนโดยสรุปในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 แต่ไม่มีการเปืดเผยรายละเอียดผลการสอบสวนทั้งหมดที่ไหนอีกเลย
ด้วยเหตุนี้ รายงานทั้งหมดได้เป็นความลับมานานถึง 8 ทศวรรษครึ่ง หรือ 86 ปี ตั้งแต่ปี 2480 จนถึงปัจจุบันปี 2566 จึงไม่มีใครได้เคยเห็นเอกสารผลการสอบสวนของคณะกรรมการอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
“แต่คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต เพราะ ภายหลังที่ผม และ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เผยแพร่หนังสือเรื่อง “ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2475 จากปล้นพระราชทรัพย์ถึงคดีสวรรคต ร.8” ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ปี 2564 เราได้พยายามตามหาผลการสอบสวนชิ้นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน
“เพราะหากไม่มีเอกสารชิ้นนี้ ประวัติศาสตร์การปล้นแย่งชิงทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นของส่วนตัว ในกลุ่มอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรก็จะสูญหายไป
“และคนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต อ.ปานเทพ ได้ทำงานร่วมกับ พล.ท.สรภฏ นิรันดร บุตรชายที่เหลืออยู่ของ “ขุนนิรันดรชัย” ซึ่งพล.ท.สรภฏ นิรันดร ได้สารภาพตามเจตนารมณ์ของขุนนิรันดรชัย ว่าได้แย่งชิงทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์มาเป็นของตัวเอง ปรากฏว่าได้หลักฐานเอกสารชิ้นสำคัญนี้จนได้” นายสนธิ กล่าว
เปิดคำแถลงการณ์ส่วนที่มีการลงโฆษณา “โกหก”
เอกสารชิ้นนี้ ค้นได้มาจากหอสมุดดำรงราชนุภาพ กรมศิลปากร เป็นเอกสารของสำนักนายกรัฐมนตรี ออกคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2480 (ก่อนที่จะมีการตั้งกระทู้ทวงถามในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 มีนาคม 2481) โดยการลงโฆษณาอย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า
“คำแถลงการณ์ เรื่องผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่
ด้วยตามที่ได้มีกระทู้ถามขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องแล้วนั้นบัดนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเสร็จสิ้นลงแล้ว
คณะกรรมการฯ จึงส่งรายงานซึ่งแสดงผลของการพิจารณามายังคณะรัฐมนตรี ดั่งความพิศดารแจ้งอยู่ในรายงาน ซึ่งโฆษณาพร้อมกับคำแถลงการณ์นี้แล้ว
คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามแนะนำของคณะกรรมการฯ ไปทุกประการแล้ว
คือในส่วนเกี่ยวกับข้าราชการซึ่งต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ก็ได้สั่งให้ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ออกจากราชการไปแล้ว
ส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์นั้น ผู้ที่ซื้อไปก็ได้ขอคืนทุกรายแล้วนอกจากนี้ผู้ที่ขายที่ดินให้แก่พระคลังข้างที่ก็ได้ขอรับกลับคืนด้วย
ทั้งนี้ ได้แจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบแล้ว
สำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ 4 ธันวาคม 2480”
เปิดรายละเอียดรายงานที่ถูกปิดลับมา 86 ปี!
ขออธิบายความหมายเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น นักการเมืองอดีตสมาชิกคณะราษฎรที่ก่อการรัฐประหารปี พ.ศ. 2475 พร้อมด้วยข้าราชการ ได้เร่งซื้อโอนที่ดิน ตัดหน้าก่อนที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับในวันที่ 19 กรกฎาคม 2480
เพราะการโอนหรือจำหน่ายที่ดินพระคลังข้างที่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ จะต้องทำโดยพระบรมราชานุมัติเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพวกอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎร
เหล่านักการเมืองและข้าราชการที่มี “พฤติกรรมเยี่ยงโจร” จึงใช้วิธีชิงตัดหน้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวในราคาถูกๆ ก่อนกฎหมายฉบับใหม่ประกาศบังคับใช้
ตัวอย่างการปล้มที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์แถว ๆ รอบ ๆ พระราชวังสวนจิตรลดา เคยเล่าอย่างละเอียดใน รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ EP.156 ตอน คณะโจรปล้มสมบัติเจ้า ภาค 2 ออกอากาศในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565
ในช่วงเวลานั้นพระมหากษัตริย์คือในหลวงรัชกาลที่ 8ยังทรงพระเยาว์ จึงยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อำนาจทั้งหลายจึงขึ้นอยู่กับคณะผู้สำเร็จราชการที่แต่งตั้งมาโดย ส.ส. ซึ่งมี ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่คณะราษฎรผู้ก่อการรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นมาเอง
เปรียบเสมือน ส.ว.ในยุคนี้ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. ที่แท้มีก็ต้นแบบมาจาก“คณะราษฎร 2475”ที่เหล่าด้อมส้มทั้งหลายเทิดทูน
รายงานผลการสอบสวนดังกล่าวได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 7 ในรายงานความบางตอนที่น่าสนใจความว่า
“มีกรณีที่พระคลังข้างที่ให้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปรวม 28 ราย ได้มีบัญชาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ขายแล้ว แต่ยังมิได้กระทำการโอนทะเบียนการซื้อขายรวม 10 ราย
รวมแล้วมีคนที่มีความผิดสำเร็จไปแล้วมากถึง 28 ราย และยังมีเกือบจะสำเร็จอีก 10 ราย รวมคณะโจรที่ยังไม่เคยเปิดเผยชื่อและสกุลมาก่อนในประวัติศาสตร์รวม 38 ราย
คงมีที่พระคลังข้างที่รับซื้อไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 รายเท่านั้น คือ ซื้อจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา รายหนึ่ง กับ ซื้อจากนายจิตตะเสนปัญจะอีกรายหนึ่ง…..”
ความบางตอนใน หน้าที่ 7 ยังได้รายงานเพิ่มเติมอีกด้วยว่า….
“ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ ในกรณีที่พระคลังข้างที่เป็นผู้ขายปรากฏว่าผู้ซื้อได้ถวายหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณายื่นต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข้อความในหนังสือนั้นเป็นในทำนองเดียวกัน คือ ปรารภถึงความจำเป็นในส่วนตัวและหน้าที่ราชการว่าจะต้องมีที่อยู่เป็นหลักฐาน และขอซื้อที่ ที่นั่นที่นี่
บางรายก็เสนอราคาขึ้นไป บางรายก็มิได้เสนอราคา
โดยขอเป็นทำนองเดียวกันว่าจะผ่อนใช้ราคาเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ หรือปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้”
และความบางตอนระบุเอาไว้หน้าที่ 8 ว่า
“เมื่อเรื่องพร้อมด้วยคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่และความเห็นของนายกรัฐมนตรี ขึ้นไปถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ทุกเรื่องได้มีบัญชาสั่งเป็นทำนองเดียวกันมีความว่า
ผู้ขอพระมหากรุณาเป็นผู้มีความดีความชอบในราชการแผ่นดินและนายกรัฐมนตรีก็ได้ถวายความเห็นว่าควรอยู่ในข่ายพระมหากรุณา จึงให้ขายที่ๆของพระราชทานเป็นราคาเท่านั้นเท่านี้ (คือราคาที่เจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่ตีขึ้นมาก) …”
ข้อความสำคัญคือ “และเกือบทุกรายให้ลดราคาลง 1 ใน 3 ในฐานพระมหากรุณา แล้วให้โอนโฉนดให้ไป ส่วนราคาให้ผ่อนใช้ตามส่วนที่ขอพระราชทานขึ้นมา”
สรุปเนื้อหาของรายงานส่วนนี้ได้ว่า
1. ทรัพย์สินที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ถูกลดราคาลงไปถูกๆ ลดราคาให้ถึง 66% เพื่อให้พวกนักการเมืองอดีตคณะราษฎรและข้าราชการแห่ซื้อกันในราคาถูกๆ
2. ผู้ซื้อทั้งหมดไม่ต้องซื้อเงินสดแต่ได้โอนที่ดินมาก่อน และสามารถทยอยผ่อนที่หลังตามที่เสนอ(และปรากฏต่อมาบางรายเมื่อโอนที่ดินให้แล้วด้วยว่ามีการไม่ผ่อนด้วย แต่ได้รับทรัพย์สินที่โอนชื่อมาแล้ว)
นอกจากนั้นในรายงานหน้าที่ 9 ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้ดำเนินกันไปอย่าง “ลับ” และ “ด่วน” ความว่า…
“การซื้อขายที่ดินได้กระทำกันภายในเดือนกรกฎาคมนั้น ได้ความตามคำเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวังว่า
เอกสารราชการที่มีใบมาเกี่ยวข้องแก่การนี้เกือบทุกฉบับมีคำว่า “ลับ” และ “ด่วน” และปรากฏว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังได้มีบัญชาสั่งมาทางสำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2480 อีกด้วยว่า
“โดยที่วันนี้มีเรื่องที่ขอพระมหากรุณาเสนอขึ้นมาหลายรายรวมด้วยกัน และอนุญาตให้ขายได้ตามที่ขอพระมหากรุณาขึ้นมา
ว่าด้วยตามทางการแล้ว เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีมติแล้ว จะต้องทำหนังสือส่งสำนักงานพระคลังข้างที่ แต่ทั้งนี้เพื่อจะให้เรื่องเหล่านี้ได้ดำเนินไปโดยรวดเร็ว
ให้ราชเลขานุการในพระองค์เชิญบัญชาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งนี้ ไปให้เลขาธิการพระราชวังเพื่อดำเนินการต่อไปให้ทันการ”
ในบัญชาสั่งฉบับนี้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนาม 2 ท่านคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน โดยปราศจากการลงนามจากเจ้าพระยายมราช
การสอบสวนได้สรุปว่าการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในครั้งนั้น ปรากฏว่าไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทำให้การโอนที่ดินกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยในรายงานฉบับดังกล่าวหน้าที่ 65-69 ระบุว่า
“ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ว่าพระบรมราชโองการที่โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อและขายนั้น จะต้องมีรัฐมนตรีนายหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ”
ปรากฏว่าในช่องคำสั่งนั้น มีรัฐมนตรีนายหนึ่งคือ พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง เขียนคำว่า“ทราบ”ลงไปคำเดียวแล้วลงนามและวันที่หน้าในบันทึกเรื่อง แทนที่จะลงนามต่อท้ายพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกับทุกพระราชบัญญัติ
คณะกรรมการพิจารณาลงความเห็นในหน้า 67 ความว่า
“การลงนามว่า “ทราบ” หน้าบันทึกเรื่องของพระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นการรับสนองพระบรมราชโองการ ผลทางกฎหมายจึงทำให้การซื้อขายที่ดินเหล่านี้ ยังหาได้มีพระบรมราชโองการซึ่งมีผลเป็นการสมบูรณ์ในทางกฎหมายให้ซื้อให้ขายได้ไม่”
และคณะกรรมการยังให้ความเห็นต่อในรายงานหน้า 68 ด้วยว่า
“ในกรณีที่พระคลังข้างที่ขายที่เหล่านี้ ไม่ต้องด้วยลักษณะการซื้อโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1330, 1332 และ 1333 จึงเห็นว่าผู้ซื้อทุกคนไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตนรับซื้อ
และเห็นว่าเจ้าของทรัพย์สิน คือพระมหากษัตริย์ย่อมมีสิทธิที่จะติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336”
และข้อความสุดท้ายคณะกรรมการได้ปิดท้ายในรายงานหน้าที่ 71 เอาไว้ว่า
“ข้อที่ให้มีการสนองพระบรมราชโองการนี้เป็นกฎหมาย เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order) อีกด้วย สัญญาซื้อขายที่กระทำแล้วนั้นจึงเป็นการเสียเปล่า ไม่บังเกิดผลผูกพันแก่ฝ่ายใดเลย คู่กรณีย่อมคืนสู่ฐานะเดิม
วันที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2480
ลงนามโดย
นลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) ประธานกรรมการ
อรรถการียนิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) กรรมการ
อชราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์) กรรมการ
พลางกูรธรรมพิจัย (เผดิม พลางกูร) กรรมการ
พระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) กรรมการ”
เปิดรายงานสรุปรายชื่อสกุลบันทึกไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์
เนื่องจากรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องมีทั้งสิ้นมากถึง 38 ราย เพื่อความง่ายต่อการแบ่งหมวดหมู่ ผมของบันทึกรายละเอียดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่คณะกรรมการสอบสวนระบุว่าได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้วและยังไม่ได้คืนที่ดินจำนวน 12 ราย
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่คณะกรรมการสอบสวนระบุว่าได้ซื้อและได้รับโอนที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้ว (กระทำผิดสำเร็จแล้ว) แต่ต่อมาได้ยอมถวายคืนหรืออยู่ระหว่างการคืนจำนวน 14 ราย
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่คณะกรรมการสอบสวนระบุว่าได้เตรียมซื้อที่ดินเอาไว้แล้วแต่ยังไม่ทันได้รับโอนที่ดิน จำนวน 10 ราย
รายชื่อกลุ่มแรก ที่บันทึกรายงานระบุว่ายังไม่คืนที่ดิน จำนวน 12 ราย
รายที่ 1 ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร) อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกผู้ช่วยราชเลขานุการ มีการซื้อที่ดิน 2 ครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน 2478 ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร)ซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 2176 เนื้อที่ 400 ตารางวา ริมถนนราชวิถีอำเภอดุสิต ซื้อราคา 4,000 บาท โดยผ่อนใช้เดือนละ 100 บาท โดยในรายงานระบุเอาไว้หน้า 10 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน” ปัจจุบันคือพื้นที่ รร.โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส ดุสิต บริเวณหัวมุมหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา
ครั้งที่ 2 วันที่ 7 มกราคม 2479ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร)ซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 2306 เนื้อที่ 191 1/2 ตารางวา ริมถนนราชวิถี อำเภอดุสิต ซื้อมาในราคา 3,915 บาท โดยผ่อนใช้เดือนละ 100 บาท โดยในรายงานระบุเอาไว้หน้า 11 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน” โดยระบุหมายเหตุในรายงานในหน้า 11 อีกด้วยว่า
“การที่นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ขอพระราชทานซื้อที่ดินรายนี้ ก็เพื่อขยายที่ ๆ นายร้อยเอก ขุนนิรันดรชัยมีอยู่แต่เดิม และที่ขอพระราชทานซื้อครั้งแรกให้กว้างขวางขึ้นเพราะที่เหล่านี้เป็นที่ติดต่อกัน”
โดยขณะเกิดเหตุร้อยเอกขุนนิรันดรชัย เป็นอดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกเป็นคนสนิทและป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับหลวงพิบูลสงคราม (ก็คือ จอมพล ป. นั่นเอง)โดยในขณะเกิดเหตุได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ของคณะผู้สำเร็จราชการ
ผ่านไป 87 ปี จนถึงปัจจุบัน แม้ พล.ท.สรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัยได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ และต้องการที่จะถวายที่ดินคืน แต่จนถึงวันนี้ลูกหลานคนอื่นๆ ก็ยังไม่ยินยอมที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ก็ยังไม่ได้ถวายคืน และถึงตอนนี้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงย่อมเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทำหน้าที่ในการทวงคืนตามกฎหมาย
รายที่ 2 นายเรือเอกวัน รุยาพร อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือผู้ช่วยผู้อำนวยการพระคลังข้างที่
วันที่ 17 มกราคม 2480 (นับแบบปีปัจจุบัน)นายเรือเอกวัน รุยาพรซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 603 เนื้อที่ 364 ตารางวา ราคา 4,400 บาท โดยผ่อนใช้เงินไม่น้อยกว่าปีละ 800 บาท โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 12 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
สำหรับ นายเรือเอกวัน รุยาพร เป็นอดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ถูกส่งเข้าไปรับราชการในสำนักพระราชวังตั้งแต่ปี 2478 โดยในขณะเกิดเหตุได้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ แล้วยังหน้าด้านโอนที่ดินของพระมหากษัตริย์เข้าเป็นทรัพย์สินของตัวเองด้วย
นอกจากนายเรือเอกวัน รุยาพร ได้ปล้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปแล้ว ก็ไม่ได้คืนทรัพย์สินจริงตามคำโกหกแถลงการณ์ของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาอีกด้วย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ฟ้องร้องคดีความแพ่งกับ นายเรือเอกวัน รุยาพร เพื่อทวงคืนที่ดินกลับมา
จนกระทั่งคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินคดีความแพ่งที่ 784/2516 ในวันที่ 18 เมษายน 2516 ให้การได้ทรัพย์สินของ นายเรือเอกวัน รุยาพร เป็นโมฆะ ต้องคืนให้กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ได้มีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
“ลองคิดูนะครับ นายเรือเอกวัน รุยาพร อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร มาทำงานเป็นข้าราชการในวัง แต่หน้าด้านถึงครองทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ จากวันที่ 17 มกราคม 2480 จนถึงคำตัดสินคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 18 เมษายน 2516 รวมแล้ว 36 ปี” นายสนธิกล่าว
รายที่ 3 พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ (ยม สุทนุศาสน์) รัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่สั่งราชการสำนักพระราชวัง มีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ 2 ครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 14 เมษายน 2478พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ (ยม สุทนุศาสน์) ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 6609 เนื้อที่ 247 ตารางวา ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง ในราคา 7,000 บาท ผ่อนใช้เงินเดือนละ 300 บาท หรือปีหนึ่งเป็นเงิน1,000 บาท ชำระเสร็จใน 7 ปี ต่อมาได้คืนที่ดินให้กับพระคลังข้างที่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2480 เพื่อเปลี่ยนขอพระราชทานซื้อที่อื่น เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งที่ดินราคาแพงกว่า
ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กรกฎาคม 2480พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ (ยม สุทนุศาสน์) ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดที่ 2486 เนื้อที่ 403 ตารางวา พร้อมส่งปลูกสร้างตึก 2 ชั้นห้องแถว 3 ห้อง และโรงรถ 2 ชั้น ถนนรองเมือง ตำบลปทุมวัน ในราคา 14,000 บาท (ลดราคาจาก 26,475 บาท) โดยผ่อนชำระราคาปีละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 13 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 4 นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาถ (นาม ประดิษฐานนท์) อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร
วันที่ 21 มิถุนายน 2480นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาถ (นาม ประดิษฐานนท์)ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 4238 เนื้อที่ 720 ตารางวา ราคา 7,200 บาทโดยขุนนามนฤนาถขอซื้อราคาตารางวาละ 8 บาท ทั้งๆที่เจ้าพนักงานพระคลังข้างที่ตีราคามาตารางวาละ 10 บาท โดยผ่อนชำระปีละไม่น้อยกว่า 600 บาท
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 15 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 5 นายวิลาส โอสถานนท์ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน และเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2
วันที่ 15 กรกฎาคม 2480นายวิลาส โอสถานนท์ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 3845 เนื้อที่ 784 ตารางวา ริมถนนงามดูพลี ตำบลสาธร อำเภอบางรัก มีเรือนใหญ่ 1 หลัง มีครัวกับเรือนคนใช้ 1 หลัง ราคา 6,000 บาท ลดราคาจากที่พระคลังประเมินราคาในเวลานั้น 9,000 บาท โอนที่ดินก่อนแต่ผ่อนชำระปีละไม่น้อยกว่า 1,200 บาท ทั้ง ๆ ที่พระคลังข้างที่ปล่อยเช่าได้อยู่แล้วเดือนละ 100 บาท นายวิลาศ โอสถานนท์ จึงเหมือนที่ได้ที่ดินพระคลังข้างที่มาเป็นทรัพย์สินโดยมีผู้เช่าผ่อนให้
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 17 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 6 นายนาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ รน. (กลาง โรจนเสนา) ผู้ก่อการคณะราษฎร2475 สายทหารเรือ และเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 19 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 7 นายเอก สุพโปฎก ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน และ อดีตรองราชเลขานุการในพระองค์
วันที่ 16 กรกฎาคม 2480นายเอก สุพโปฎกได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 1336 เนื้อที่ 474 ตารางวา ตำบลบางไส้ไก่ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี ในราคา 2,844 บาท โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 4,266 บาท
โดยระบุว่าหากนายเอก สุพโปฎกยังรับราชการอยู่ให้ผ่อนปีละ 600 บาท แต่ถ้าไม่รับราชการประจำให้ผ่อนได้ไม่น้อยกว่า 300 บาท
ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏในรายงานหน้าที่ 20 อีกด้วยว่า นายเอก สุพโปฎก ได้ขอกู้เงินจากพระคลังข้างที่ 6,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย เพื่อสร้างบ้านใหม่บนที่ดินเดียวกันนี้ และให้ผ่อนใช้คืนได้อีกเดือนละ 50 บาท
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 19 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 8 นายเรือเอก กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. (กำลาภ กาญจนสกุล) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2480 นายเรือเอก กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. (กำลาภ กาญจนสกุล) ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 429, 490, 560, 2469 เนื้อที่ 190 1/2 ตารางวา หลังตึกแถวถนนหลวง ตำบลสามยอด อำเภอสำเพ็ง สามยอด (ป้อมปราบ) พระนคร มีสิ่งปลูกสร้าง คือ เรือนปั้นหยา 2 ชั้น 1 หลัง เรือนทรงโบราณ 1 หลัง ห้องชั้นเดียว 1 หลัง โรงรถ 1 หลัง ราคา 6,734 โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 10,100 บาท โดยให้ผ่อนชำระปีละไม่น้อยกว่า 500 บาท
โดยในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุเอาไว้ในหน้าที่ 22 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน”
รายที่ 9 นายสอน บุญจูง ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน/สำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ 17 กรกฎาคม 2480นายสอน บุญจูง ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 2383, 2395, 2400 เนื้อที่ 524 ตารางวา ถนนซอยจากถนนรองเมือง ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน พระนคร มีเรือน 2 ชั้นใหญ่ 1 หลัง เรือน 2 ชั้น 1 หลัง เรือนชั้นเดียว 1 หลัง กับโรงรถ 1 หลัง ราคา 4,584 บาท โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 8,734 บาท โดยให้ผ่อนชำระปีละไม่น้อยกว่า 600 บาท
ในรายงานคณะกรรมการในหน้าที่ 23 ไม่ได้กล่าวถึงว่ามีการคืนหรือไม่หรือยังไม่คืน
รายที่ 10 นายร้อยเอกกระวี สวัสดิบุตร
วันที่ 17 กรกฎาคม 2480 นายร้อยเอกกระวี สวัสดิบุตรได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่โฉนดเลขที่ 380 เนื้อที่ 264 ตารางวา (ของพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ 6) ถนนจักรพรรดิพงศ์ เชิงสะพานโสมนัสอำเภอนางเลิ้ง พระนคร มีเรือน 2 หลังแฝด มีนอกชานระหว่างเรือนกับครัวและชานด้านสะกัด 1 หลัง ราคา 5,480 บาท โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 8,220 บาท ทั้ง ๆ ที่พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินมาในมูลค่า 16,000 บาท แถมให้ผ่อนชำระราคาปีละไม่น้อยกว่า 600 บาท
ในรายงานคณะกรรมการในหน้าที่ 23 ไม่ได้กล่าวถึงว่า “ผู้ซื้อยังมิได้ถวายคืน” หรือไม่
รายที่ 11 นายนาวาโทหลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ศาสตระรุจิ) เป็นทหารเรือและต่อมาได้เป็น ถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2480นายนาวาโทหลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ศาสตระรุจิ) ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 6128 เนื้อที่ 1,909 ตารางวา ริมถนนองครักษ์ ตำบลบางกระบือ อำเภอบางซื่อ พระนคร มีเรือน 1 ชั้น 1 หลัง เรือนทรงมะนิลา 1 หลัง เรือนคนใช้ 2 หลัง ราคา 10,303 บาท โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 14,454 บาท โดยให้ผ่อนชำระราคาปีละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท
ในรายงานคณะกรรมการในหน้าที่ 24 ไม่ได้กล่าวถึงว่า “ผู้ซื้อยังมิได้ถวายคืน”
รายที่ 12 พระวิเศษอักษรสาร(เคลื่อน ณ นคร) นายอำเภอราษฎร์บูรณะ ธนบุรี
วันที่ 17 กรกฎาคม 2480 พระวิเศษอักษรสาร(เคลื่อน ณ นคร) ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 1825 เนื้อที่ 249 ตารางวา ถนนซอยจากกรุงเกษม ตอนเชิงสะพานเทเวศร์ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอนางเลิ้ง มีเรือนปั้นหยา 2 ชั้น 1 หลัง ราคา1,557 บาท โดยลดราคาจากที่พระคลังข้างที่ตีราคาไว้ในเวลานั้นที่ 5,335 บาทโดยให้ผ่อนชำระราคาปีละ 200 บาท
ในรายงานคณะกรรมการในหน้าที่ 24 ไม่ได้กล่าวถึงว่า “ผู้ซื้อยังมิได้ถวายคืน”
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่บันทึกรายงานว่าได้เคยได้ที่ดินพระคลังข้างที่มาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมาแล้ว ต่อมาได้คืนแล้ว หรือกำลังจะคืนจำนวน 14 ราย
รายที่ 1 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475
รายที่ 2 นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (นายเชย รมยะนันท์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรการ อดีตสมาชิกคณะราษฎร 2475 สายทหารบก
รายที่ 3 นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ส.ส.ประเภทที่ 2
รายที่ 4 นายเนรศร์ธิรักษ์ (แสวง ชาตรูปะวณิช) ปลัดกรม แผนกสารบรรณ สำนักพระราชวัง
รายที่ 5 พระพิจิตรราชสาสน์ (สอน วินิจฉัยกุล) ข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์
รายที่ 6 ขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ) หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินสำนักพระราชวัง
รายที่ 7 นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ หรือ อดุล อดุลเดชจรัส) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
รายที่ 8 หลวงชำนาญนิติเกษตร์ (อุทัย แสงมณี) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน เป็น ส.ส.ประเภทที่ 2 และเป็น หัวหน้าสำนักโฆษณาการ
รายที่ 9 หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) ผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน เป็น ส.ส.ประเภทที่ 2
รายที่ 10 พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) อดีตนักเรียนอเมริกา ทุน ก.ต่างประเทศข้าราชการ กระทรวงเศรษฐการ
รายที่ 11 นายจำนงราชกิจ(จรัญ บุณยรัตพันธุ์) ข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์
รายที่ 12 นายแสวง มหากายี บุตรชายคนโตของ มหาอำมาตย์ตรีพระยาพระนครพระราม (สวัสดิ์) เลขานุการประจำ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8
รายที่ 13 นายประจวบ บุรานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง
รายที่ 14 นายดิเรก ชัยนาม ส.ส. ประเภทที่ 2
กลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่กำลังจะโอนทรัพย์สินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นทรัพย์สินสมบัติส่วนตัวแต่ยังทำไม่เสร็จ จำนวน 10 ราย
รายที่ 1 นายสุรินทร ชิโนทัย
รายที่ 2 นายเรือเอกชั้น รัศมิทัต
รายที่ 3 นายพันตรีหลวงอภัยสรสิทธิ์ (ธม จันทราภัย)
รายที่ 4 นายร้อยเอกขุนพิพัฒน์สรการ (เท้ง พัฒนศิริ หรือ ร้อยเอก พิพัฒน์ พิพัฒน์สรการ)
รายที่ 5 นายร้อยเอกขุนวิมลสรกิจ (วิมล เก่งเรียน)
รายที่ 6 หลวงอนงค์ลีลาศ (แสวง โรหิตจันทร์)
รายที่ 7 นายเลี่ยม จุลกสิกร
รายที่ 8 ขุนสุวรรณปราสาท (วิเศษ จ่าง)
รายที่ 9 ขุนพิจารณ์ราชหัตถ์ (ปลอบ โรจนกุล)
รายที่ 10 ขุนสันธานธนานุรักษ์ (ชัยประสิทธิ์ สันธานธนา)
“เฉพาะกลุ่มแรกนั้น เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด กลุ่มคนพวกนี้เป็นคนที่ลูกหลานที่เจริญเติบโตต่อมาทีหลัง ผมไม่ได้เจตนาจะให้ร้ายใครแต่นี่คือหลักฐานที่ชัดเจน หาได้จากบันทึกของการตรวจสอบ และได้มีการฟ้องร้องเป็นตัวอย่างไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 9 และได้ชนะคดี
“เมื่อได้มีการฟ้องร้องเป็นตัวอย่างแล้วสมัยรัชกาลที่ 9 แล้วศาลฎีกาพิพากษาให้คนที่ยึดทรัพย์ของพระเจ้าอยู่หัวไป เอามาคืนซะ เป็นตัวอย่างแล้ว ทำไมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ฟ้องร้องบ้าง จะฟ้องร้องทรัพย์สินของขุนนิรันดรชัย เป็นตัวอย่างก็ได้ เพราะลูกหลานก็อวดร่ำอวดรวยกันทุกคน โคตรรวยเลย มีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน แต่มันบาดแผลที่สร้างเอาไว้ ความผิดพลาดของต้นตระกูลตัวเอง มีแค่ พล.ท.สรภฎ เท่านั้นเองที่รู้สึกสำนึกและพร้อมจะคืนให้ แต่บรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้องตัวเอง ไม่ยอมคืนให้ อย่างนี้ผมไม่รู้ว่าพูดคำว่า มันเกินกว่าความหน้าด้านไปแล้วใช่ไหม
“และนี่ไง คณะราษฎร 2475 ที่พวกม็อบสามนิ้วเชิดชูว่าเป็นฮีโร่ และผมก็เป็นคนแรกที่ออกมาตระหน้าพวกนี้ว่า คณะราษฎร แท้ที่จริงแล้วก็คือคณะโจร วันนี้มีเอกสารที่ตอกฝาโลงปิดให้เรียบร้อยแล้ว ว่าสิ่งที่ผมพูดว่าคณะราษฎรนั้น แท้ที่จริงเป็นคณะโจรนั้น เป็นคำพูดที่พูดไม่ผิด” นายสนธิกล่าว