xs
xsm
sm
md
lg

CIBA ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผนึกบริษัท พลัสวัน อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด พร้อมแชร์เทคนิค Business Set-up “กุญแจ4ดอก” ไขประตูความสำเร็จ ให้นศ.หลักสูตรการจัดการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลักสูตรการจัดการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำโดย ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ดร.ศิวะนันท์ ศิวพิทักษ์ หัวหน้าหลักสูตรปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) กับ คุณวิษณุ ทวีชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พลัสวัน อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Business Set-up” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการเลือกธุรกิจ การจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงการต่อยอดและขยายธุรกิจ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 อีกด้วย ภายใต้โครงการบูรณาการ การเรียนการสอนร่วมกันของวิชาเอก ในกลุ่มวิชา “การบริหารการตลาดและความมั่งคั่งในการประกอบการ” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ อาคาร 6 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ด้วยปัจจุบันการเรียนการสอนมีความจำเป็นต้องจัดให้มีความเชื่อมโยงในภาคทฤษฎีและปฏิบัติเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองให้พร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมมือกันกับ ‘บริษัทพลัสวัน อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด’ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางวิชาการ จะเป็นประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาในการพัฒนาความรู้ และทักษะต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ยังสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาความรู้ ทักษะร่วมกันในการฝึกประสบการณ์ภายใต้การถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถานการณ์จริง เพื่อสร้างบัณฑิต นักปฏิบัติ อันสมควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ


โดยเมื่อเสร็จสิ้นในช่วงพิธีการ “คุณวิษณุ” CEO หนุ่มที่เริ่มต้นธุรกิจจากในโรงจอดรถ แล้วเติบโตจนกระทั่งเป็นองค์กรทางด้านที่ปรึกษาและพัฒนาบุคลากรให้กับองค์กรใหญ่ชั้นนำเมืองไทย ที่แม้เจอวิกฤติ COVID-19 ก็สามารถผ่านมาได้ ได้มาบรรยายความรู้โดยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Business Set-up’ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการเลือกธุรกิจ การจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงการต่อยอดและขยายธุรกิจ โดยสรุปถึง ‘กุญแจ 4 ดอก’ ที่จะไขความสำเร็จในยุคดิจิทัล ได้แก่

1.มองให้เจอปัญหาและสร้างโซลูชั่น : หาปัญหาที่ผู้คนเผชิญในสังคมหรือตลาดอยากได้อะไร และพัฒนาสินค้าหรือบริการที่แก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น หมู่บ้านนี้ไม่สะดวกที่จะตากผ้าเลย เพราะฉะนั้นเราก็จะสร้างร้านที่มีเครื่องอบผ้าแห้งขึ้นมากลางหมู่บ้าน หรือ จากปัญหารถติดหน้าโรงเรียนเยอะมาก เราสร้างแอปพลิเคชันเพื่อจับสัญญาณรถผู้ปกครองว่า อีกกี่เมตร รถที่มารับ จะเคลื่อนที่ถึงหน้าโรงเรียนและให้เด็กนักเรียนได้ออกมารอขึ้นรถ

2.มองให้เจอขนาดเหมาะในการเริ่ม : พิจารณาการตั้งธุรกิจในนามของบุคคล หุ้นส่วน หรือ นิติบุคคล เพราะบางที การเริ่มทำสินค้าที่สั่งผลิตแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นรูปแบบบริษัทเสมอไป สามารถเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กไปธุรกิจขนาดใหญ่ได้

3.มองให้เจอเงินทุน : ธุรกิจที่จะทำขนาดเล็กหรือใหญ่สิ่งที่เราจะทำ ถ้าใหญ่ต้องใช้เงินทุน ต้องกลับไปดูที่เงินทุน ข้อควรระวังคือ ‘อย่าเอาเงินทุนมาเป็นตัวตั้ง ธุรกิจมันจะไม่เกิด’ ถ้าเรารู้สึกว่าเงินทุนไม่พอก็ให้เริ่มจากขนาดเล็ก หรือหาผู้ร่วมทุน หรือถ้ามีทรัพย์สินก็อาจจะใช้สถาบันการเงินได้

4.มองให้เจอแผนธุรกิจ : Business Model รู้ว่าต้องขายใคร วิธีการขายอย่างไร ต้นคืออะไร และตั้งกลยุทธ์แผนปฏิบัติการ Set-up Action ในระดับปฏิบัติการ


ส่วนกลยุทธ์ทางด้านการต่อยอดและขยายธุรกิจให้ ‘พิจารณาเมื่อธุรกิจมีลูกค้าเพิ่มขึ้น’ จนธุรกิจเดิมรองรับไม่ไหว หรือ มีช่องทางใหม่ๆ เข้ามาและเมื่อประเมินโอกาสแล้วเห็นตัวเลขความคุ้มค่าผลลัพธ์เกิน 1 เท่า เช่น เพิ่มพนักงาน 10 คน กำไรเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งต้องพิจารณากรณีแบบนี้เป็นพิเศษ ว่าหากเพิ่มพนักงานกี่คน และ กำไรเพิ่มขึ้นพอตัวหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องขยายธุรกิจเมื่อพร้อม มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ไม่ควรขยายเพียงเพราะกลัวตกขบวน ส่วนการดำเนินกิจการเพื่อให้ธุรกิจ Fast Forward อย่างมั่นคงในโลกที่มีคู่แข่งเกิดขึ้นทุกวัน

“คุณวิษณุ” เสริมอีกว่า ต้องคำนึงถึง ‘ความเชี่ยวชาญ’ และ ‘คอนเนคชั่น’ โดยคอนเนคชั่นเปรียบกับประตูที่ถ้าไม่เปิดเราก็หมดสิทธิ์อยู่ต่อตั้งแต่แรก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญนั้นคือโซลูชันที่ช่วยเราแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้เราได้อยู่ต่อ

“เครือข่ายตอนนี้ ถ้าไม่มีต้องรีบหา ยกตัวอย่างบริษัทผมตอนนี้ที่มีอบรม 15-16 รุ่น ศิษย์เก่าทั้งนั้น แทบจะไม่ต้องมีมาร์เก็ตติ้งใหม่ ทุกธุรกิจมีกลุ่มก้อนของตัวเองเฉพาะ และในปัจจุบันธนาคารหรือธุรกิจขนาดใหญ่มักจะจัดหลักสูตรที่รวมธุรกิจและผู้ประกอบการมานั่งเรียนร่วมกัน แชร์หลักสูตร ข้อมูลหรือองค์ความรู้ เราต้องหาให้เจอและเข้าไป”

ในฐานะผู้ประกอบการ “คุณวิษณุ” ย้ำทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ ‘บัณฑิตพึ่งมีเพื่อให้เป็นที่ต้องการขององค์กร’ คือ 1.ความรู้ความสามารถในระดับมาตรฐาน มีสกิลเซ็ตที่ตรงไม่จำเป็นต้องเก่งกาจ 2.ทัศนคติที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาสัมภาษณ์งานควรแสดงทัศนคติที่เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ อดทนและไม่มุ่งเน้นแต่เรื่องค่าจ้าง 3.ทักษะที่จำเป็นตัวตัดสินจะได้งานหรือไม่ได้งาน อาทิ ทักษะการพูด การนำเสนอ เจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ ความคิดวิเคราะห์ตัดสินใจ 4.พัฒนา Soft Skills คือ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking), การวิเคราะห์ปัญหา (Systematic Problem Solving), ภาวะผู้นำ (Leadership) โดยทั้ง 3 ทักษะจะช่วยให้ได้งานดีในยุคดิจิทัล










กำลังโหลดความคิดเห็น