จับโกหกคำแถลง กฟผ.อ้างปลูกป่า 1 ล้านไร่ 5 พันล้าน ทำตามหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส แต่ไม่กล้าตอบว่าเป็น “ป่าทิพย์” หรือไม่ ขณะหลักฐานภาพถ่ายพื้นที่จริง มีป่าหรอมแหรม มีต้นไม้เฉพาะด้านหน้า ข้างในเป็นทุ่งโล่ง เป็นที่ทิ้งขยะ แฉซ้ำโครงการปี 65 ตรวจรับ 3 ครั้งแรกไม่ผ่าน จึงสั่งเปลี่ยนกรรมการตรวจรับแล้วผ่านฉลุย โดยพื้นที่เกือบ 1 แสนไร่ มีคนตรวจรับแค่ 2 คน ขณะที่หน่วยงานใหม่ตั้งมาเพื่อรองรับโครงการ ผู้ดูแลได้ดิบได้ดีถ้วนหน้า ฝาก “รมต.พีระพันธุ์” จัดการเรื่องนี้ด้วย
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงโครงการ CSR ปลูกป่าล้านไร่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งลงนามเอ็มโอยูกับกรมป่าไม้ ใช้เงินงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี หรือ คิดเป็นเงินที่เบิกจ่ายกัน 500 กว่าล้านบาทต่อปี หลังจากรายการ"คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ตอนที่ 229 ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เปิดโปงโครงการดังกล่าวว่า มีกลิ่นไม่ดีโชยออกมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ส่อไปในทางจะมีประเด็นสงสัยว่าจะมีการทุจริตครั้งมโหฬาร เพราะเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นคนของ กฟผ.เอง ถึงกับผงะ พื้นที่ป่าที่ปลูกตามโครงการมีแนวต้นไม้แค่ด้านหน้า ลึกเข้าไปกลับไม่มี เป็น "ป่าทิพย์"
หลังจากนั้น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ.ออกเป็นแถลงการณ์ชี้แจงว่า ตั้งแต่ทำมา 2 ปี (2565-2566) สามารถดำเนินการปลูกป่า บำรุงรักษาป่า คิดเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่ มิหนำซ้ำ นายชัยวุฒิ บอกว่า กฟผ. ยึดมั่น ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตลอดมา รวมทั้งพร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สำหรับกระแสข่าวที่ออกมา กฟผ. ไม่นิ่งนอนใจ มีการตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
สรุปนายชัยวุฒิ ยืนยันว่า กฟผ.ทำการปลูกป่าล้านไร่จริง แต่ไม่ยอมตอบคำถามว่าปลูกป่าทิพย์หรือเปล่า พูดทำนองว่า ถ้าสงสัยให้มาตรวจสอบได้ แล้วตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
“เอาล่ะ ท่านผู้ชมครับ ในฐานะสื่อเราจะเกาะติดต่อไป เราส่งทีมงานลงไปอัปเดต สุ่มตรวจในบางพื้นที่หลายๆ จังหวัดแถบภาคอีสาน ที่เป็นพื้นที่ปลูกในโครงการล้านไร่ กฟผ. ดูตามภาพที่ทีมงานผมถ่ายมา จะเห็นได้ชัดว่าป่าทิพย์อีกแล้ว ด้านหน้าเป็นแถว เป็นแนว เดินเข้าไปสำรวจภายในพบแต่ความว่างเปล่า พื้นดินแห้งแล้ง มีหินระเกะระกะเต็มไปหมด ปลูกอะไรก็ปลูกไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ต้นไม้ทิพย์ ท่านผู้ชมดูตามภาพเลยนะครับ ผมเอาภาพมาตบหน้า กฟผ. และคุณชัยวุฒิ” นายสนธิกล่าว
ทั้งนี้ จะเห็นว่าพื้นที่ปลูกป่า 500 ไร่ มีแต่ต้นไม้ขึ้นหรอมแหรมเป็นแนวด้านหน้ากับขอบๆ เท่านั้น ข้างในเป็นทุ่งโล่ง มีคนเอาขยะมาทิ้งอีกต่างหาก
ที่น่ากังวลที่สุดคือ ช่วงนี้หน้าแล้งมาถึง ไฟป่าเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ก็ต้องให้ระวังการเผาป่าทิพย์ ทำลายหลักฐานให้ดี โดยจะมีการอ้างว่าโดน "ไฟป่าเผา" เรื่องนี้เท่าที่รับทราบ ภายใน กฟผ. ก็ว้าวุ่นหนัก ผู้บริหารโบ้ยว่า เกิดจากข่าวหลุดทางรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" เพราะพนักงานชุดตรวจสอบขัดแย้งกัน พูดง่ายๆ ตามสันดานของผู้บริหารระดับสูง โยนบาปให้พนักงาน
เท่าที่ทราบจากคนภายในเช่นกัน นายชัยวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อโครงการนี้ แล้วเขาเป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กของนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ถึงได้ร่วมมือกันชงโครงการนี้มาด้วยกัน ต้องมีคำตอบให้สาธารณชนดีกว่านี้หรือเปล่า
จากที่นายชัยวุฒิชี้แจงมา ยิ่งทำให้ประชาชนสงสัยหนักยิ่งขึ้นว่า กฟผ. นอกจากปลูกป่าทิพย์แล้ว ยังปลูก “ไร่สตรอว์เบอร์รี” ด้วยหรือเปล่า “สตรอว์เบอร์รี” อย่างไร มาดูกัน
ประเด็นที่หนึ่ง การปลูกป่าในโครงการปลูกป่าล้านไร่ กฟผ. เป็นการปลูกป่าเพียงแถวหน้าป้าย ข้างในไม่มีการปลูกป่าจริง ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานไม่ให้ผ่านถึง 3 ครั้ง แต่พอเปลี่ยนคณะกรรมการตรวจงาน กลับผ่านได้ทันที นี่คือความขัดแย้งหรือเปล่า ถ้าจะบอกว่าขัดแย้งก็ใช่ เพราะว่าคณะกรรมการตรวจงานชุดแรกไม่ยอมคอร์รัปชัน แต่ชุดที่สองทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ว่าให้ผ่านๆ ไป
จากการชี้แจงประเด็นนี้ นายชัยวุฒิ หลงประเด็นที่รายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ได้สื่อสารออกมา เพราะที่นำเสนอออกมานั้นเป็นข้อมูลเรื่องการทุจริตงบ CSR การปลูกป่าบกในปี 2565 ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมป่าไม้ 97,000 ไร่ ทุกภูมิภาค
พื้นที่ 97,000 ไร่ แต่มีคณะกรรมการตรวจรับการปลูกป่าทั้งหมด แค่ 2 คน สองคนนี้เป็นพนักงาน กฟผ. 1 คน และอีกคนเป็นลูกจ้างเหมาของบริษัท นี่มันส่อเจตนาอะไรหรือเปล่า
สาระสำคัญของประเด็นนี้คือ เป็นไปได้จริงหรือที่การตรวจป่าจำนวน 97,000 ไร่ มีเพียง 2 คน และคณะกรรมการตรวจรับชุดที่สองนี่ต้องเอาเข้าตะราง ให้ผ่านครบหมดทุกแปลง บอกว่ามีต้นไม้ครบตาม TOR
แต่ตามภาพ มีต้นไม้อะไรที่ไหน ของปลอมทั้งนั้น ถ้าดูจาก TOR เป็นไปได้ยากมากที่จะตรวจได้ครบตามข้อกำหนด จึงเป็นที่มาว่า ไปตรวจรับเฉพาะบริเวณแถวป้าย ก็คือป้ายปักตรงไหนก็ปลูกป่าตรงนั้นสัก 1-2 แถว แล้วถ่ายรูปตรงจุดนั้นให้เป็นหลักฐานในการเข้าพื้นที่ นำเสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชา แท้ที่จริงแล้วกรรมการไม่ได้ลงตรวจพื้นที่จริงและตรวจรับงานตาม TOR เท่ากับคณะกรรมการตรวจรับไม่รักษาผลประโยชน์ให้ กฟผ. สูญเงินไปกว่า 400 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ล่วงเวลา คณะกรรมการตรวจรับทุกที
ส่วนที่ชี้แจงเป็นตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์การตรวจรับคิดเป็นร้อยละเท่านี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เพราะว่าได้จ่ายเงินให้กับผู้จ้างปลูกป่า 97,000 ไร่ ถือว่าเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว นี่คือการคอร์รัปชัน ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กร อาจจะร่วมมือกับกรมป่าไม้ด้วย
ที่เป็นประเด็นเมื่อคณะกรรมการตรวจรับไปตรวจ 3 ครั้งแรก ไม่ผ่าน ตาม TOR ทุกแปลงปลูกป่าในปี 2565 คือ (1) ต้องมีชนิดพันธุ์ไม่น้อยกว่า 5 ชนิด (2) ต้องมีต้นไม้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ต้นต่อไร่ (3) ต้องขึ้นกระจายและเติบโตแข็งแรงแล้ว
แต่ตามรูป อย่าว่าแต่มี 200 ต้นต่อไร่ กระจายเจริญเติบโตแล้ว เป็นขยะ เป็นที่ว่าง แต่คณะกรรมการชุดที่ไปตรวจ 3 ครั้งแรกไม่ให้ผ่าน เพราะไม่มีการปลูกต้นไม้จริงในปี 2565 ไม่ใช่เรื่องของการปลูกใหม่ในปี 2566 จนเกิดดรามาลงโซเชียลผ่านเฟซบุ๊ก คนทำงานก็น้อยอกน้อยใจ
“เวลาตรวจป่าจะมีคน 3 ฝ่าย กฟผ. ป่าไม้ และผู้รับจ้าง นี่แสดงว่าป่าไม้ร่วมมือด้วยใช่ไหม ส่วนเงินของป่าไม้ที่เตะเข้าปากหมาที่ไหน จะเป็นหมาตัวใหญ่ระดับผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้หรือเปล่า ผมไม่รู้ แล้วบอกว่าการตรวจรับงานเป็นการสุ่มตรวจ 1% ของพื้นที่ ท่านผู้ชมดูนะครับภาพปลูกป่าทิพย์อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
“เรื่องการตรวจ 1% ของพื้นที่ ก็ไม่มีระบุใน MOU / TOR คุณไปมั่วสุ่มตัวเลขนี้มาจากไหน คิดเลขง่ายๆ แบบเด็ก ป.1 เขียนว่า 1% ของ 97,000 ไร่ คือ 970 ไร่ สุ่มตรวจเท่านี้ แต่จ่ายเงินมหาศาล คิดแบบนี้ได้หรือ เพราะฉะนั้นแล้ว การตรวจรับงานนี้จึงขาดความเป็นเหตุเป็นผลอย่างสิ้นเชิง” นายสนธิกล่าว
นอกจากนี้แล้ว ด้วยวิธีปฏิบัติของการรับพัสดุ ต้องตรวจตามกายภาพก่อนว่ามีจำนวนครบตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อครบตามจำนวน ค่อยมาตรวจสอบคุณภาพว่าตรงตามคุณสมบัติและข้อกำหนดตาม TOR หรือไม่ อย่างไร แถมยังสุ่มตรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ ต้องไม่น้อยกว่า 85% ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งสามฝ่าย นี่ยิ่งมีความผิดมากขึ้นอีก
นี่เป็นการคอร์รัปชันชั้นมโหฬารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพราะเท่ากับมีการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริต เอาเงิน กฟผ. ไปโดยมิชอบ เป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท เพราะอะไร ? เพราะจ่ายค่าจ้างปลูกเต็มจำนวนแปลง ตามการตรวจรับของกรรมการทั้ง 3 คน ที่ลงนามรับรองแล้ว แต่ไม่มีต้นไม้จริง ไม่ได้เป็นการปลูกป่าตามเงื่อนไข ตามข้อกำหนดการปลูกป่าปี 2565 ก็เลยเป็นที่มาของทุจริตงบ CSR กฟผ.ปลูกป่าทิพย์
สำหรับหนังสือทวงถามจากผู้รับจ้างที่เป็นประชาชนในพื้นที่นั้น ก็ไม่มีจริง เป็นการให้ข้อมูลเท็จ สร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อโยนความผิดให้คณะกรรมการตรวจรับว่าทำงานล่าช้า ทั้งๆ ที่คณะกรรมการตรวจรับเองยังไม่เคยเห็นหรือได้รับรู้หนังสือทวงถามจากผู้รับจ้างเลย คณะกรรมการฯ ได้ถามไปยังผู้รับจ้างแล้ว ได้ยืนยันว่าไม่มีการทำหนังสือเข้ามาแต่อย่างใด แล้วทำไมต้องทำหนังสือ ก็คุยกันเข้าใจ รู้เรื่องแล้ว จึงไม่รู้ว่าผู้บร้ิหารสร้างเรื่องนี้เท็จเพื่อให้ดูดีมีเหตุผลในการชี้แจงหรือไม่
ประเด็นที่สอง คณะกรรมการตรวจรับชุดเก่าถูกสั่งย้ายมาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานปลูกป่า ชุดแรกที่ตรวจแล้วเขาไม่ยอมรับ ก็ย้ายไป เหตุผลที่แท้จริงในการย้ายครั้งนี้ไม่ใช่เพราะสับเปลี่ยนหมุนเวียนภายในกอง ซึ่งเป็นข้ออ้างของผู้ใหญ่ แต่ต้องการกีดกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานโครงการปลูกป่า และไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ดูแลงานปลูกป่าในภาพรวมแต่อย่างใด แม้ยังมีชื่อเป็นกรรมการตรวจรับในส่วนสัญญาจ้างปลุกป่าเช่นเดิม แต่ไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานใดๆ เลยนับตั้งแต่มีคำสั่งสับเปลี่ยนหมุนเวียน เพราะนายใหญ่สั่งมาว่า ไม่ต้องให้มันเข้ามายุ่งเกี่ยว และไม่ต้องให้ใครเข้ามายุ่งด้วย
1 ใน 3 กรรมการมีเพียงคนเดียวที่ถูกสับเปลี่ยน อีก 2 คน ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม พอถามถึงเหตุผลจากผู้บังคับบัญชา ก็ให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกในการทำงานโครงการ และเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงาน ฟังแล้วดูดี มีธรรมาภิบาลจริงๆ
ประเด็นที่สาม ในปี 2565 มีพื้นที่ปลูกป่าที่ต้องตรวจรับประมาณ 97,000 ไร่ แต่มีคณะกรรมการตรวจรับ 2 คน ทั้งประเทศ สมเหตุสมผลหรือเปล่า
จากข้อชี้แจง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ทั้งในสัญญาจ้างปลูกป่า บำรุงรักษาป่า จำนวน 3 คน ซึ่งต้องเป็นพนักงาน กฟผ.ถึง 3 คน และไม่สามารถแต่งตั้งลูกจ้างเป็นกรรมการตรวจรับได้ตามมาตรฐานการจ้างงานภาครัฐทั่วไป นี่เป็นคำตอบที่ชัดเจน
ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ กรรมการตรวจรับซึ่งเป็นพนักงาน กฟผ. อีก 2 คน ไม่ได้ไปตรวจรับงานด้วยเลย แต่ต้องลงชื่อตรวจรับทิพย์ โดยบังคับขู่เข็ญจากผู้บังคับบัญชา หอบเอาไปให้เซ็นตรวจรับทั้งที่ทำงานและไปถึงบ้านพักด้วย อย่างนี้ถือว่าเป็นการผิดไปจากแนวทางปฏิบัติงานตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยหรือเปล่า
ประเด็นที่สี่ โครงการปลูกป่าล้านไร่ของ กฟผ.มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับภารกิจนี้ ทำให้ผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้เจริญเติบโตกันทั่วหน้า ตั้งแต่ระดับหัวหน้ากอง ไปจนถึงระดับสูง โครงการนี้หากบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ จะส่งผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ดังนั้นผู้ที่บ้ริหาร กฟผ. เขียนหนังสือชี้แจงมา พร้อมจะรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งภายใน-ภายนอก ก็หวังว่าขอให้ท่านทำจริงอย่างที่พูด อย่าทำแต่เพียงผักชีโรยหน้าและปลูกไร่สตรอว์เบอร์รีไปวันๆ
ทั้งหมดนี้เป็นการชำแหละโครงการปลูกป่าทิพย์ 5 พันล้านบาท ผู้บริหาร กฟผ. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ครับ อย่าลืมนะครับว่า "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" "ความจริงมีหนึ่งเดียว" ถ้ามีคนไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เตรียมชี้แจงให้ดีก็แล้วกัน ถึงวันนั้นก็ตัวใครตัวมัน
“ผมก็อยากจะฝากถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งดูแล กฟผ. อยู่ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ท่านมีชื่อในเรื่องของการไม่ยอมให้มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด เรื่อง กฟผ.นั้น ไม่ทราบว่าท่านได้เห็น ได้รับทราบหรือยัง และท่านได้ดำเนินการอะไรไปบ้างตามที่ท่านได้สัญญาเอาไว้ตลอดเวลา เป็นสัญญาประชาคมว่า คนอย่างท่านไม่ยอมรับการทุจริตในหน่วยงานใดๆ ที่ท่านดูแลอยู่อย่างแน่นอนที่สุด
“ท่านพีระพันธุ์ ครับ ท่านอย่าพูดแต่ปาก ท่านกระทำ มีแอกชันให้ดู เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดหน่อยได้ไหมครับท่านรัฐมนตรีครับ” นายสนธิกล่าว