xs
xsm
sm
md
lg

อย่างนี้ก็มีด้วย! กฟผ. “ปลูกป่าทิพย์” ทุจริตงบ CSR ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลูกป่าล้านไร่ กฟผ.โป๊ะแตก พบโครงการของปีงบประมาณ 2565 ส่อทุจริต มีต้นไม้เฉพาะด้านหน้า ไม่เป็นไปตาม TOR กรรมการตรวจรับไม่ให้ผ่านถึง 3 ครั้ง กลับถูกกลั่นแกล้งย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น แล้วรีบตั้งกรรมการตรวจรับชุดใหม่ให้โครงการผ่านทุกพื้นที่ เพื่อเบิกเงินได้ สรุปโครงการ CSR โลกสวย อ้างช่วยแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่เบื้อหลังคือความเน่าเฟะเปิดช่องโกงกินงบประมาณ กฟผ.



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบใน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีผู้ร้องเรียนมายังทีมงาน“สนธิทอล์ก” ระบุว่า พบการทุจริตในโครงการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าอย่างยั่งยืน หรือ“โครงการปลูกป่าล้านไร่”ที่ กฟผ. ทำ MOU ร่วมกับกรมป่าไม้และอื่นๆ

วิธีการทุจริตมีตั้งแต่

- ขั้นตอนของการปลูกป่า ที่พบว่าป่าที่ปลูกกลายเป็น “ป่าทิพย์” เพราะมีต้นไม้เฉพาะด้านหน้า แต่เข้าไปด้านในกลับไม่ได้มีการปลูกป่าเป็นไปตามร่างของเขตของงาน หรือ TOR

- ต่อมาเมื่อ กรรมการตรวจรับงานไม่อนุมัติผ่านถึง 3 ครั้งและได้ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาระบุว่า “พบการทุจริต” ก็ปรากฏว่าถูกกลั่นแกล้งด้วยการสั่งย้ายให้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่น เพื่อกีดกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานโครงการปลูกป่า แล้วรีบเปลี่ยนกรรมการตรวจรับงานชุดใหม่ เพื่อให้การตรวจรับงานของโครงการผ่านทุกพื้นที่และเบิกเงินจาก กฟผ.ได้

-ทั้งที่กรรมการตรวจรับงานเหล่านี้ทำงานให้กับ กฟผ. อายุงานแต่ละคนหลายสิบปี หลายคนใกล้จะเกษียณอายุงานในอีกไม่กี่ปี แต่การช่วยรักษาผลประโยชน์ขององค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้เงินทองรั่วไหลไปกับ กระบวนการทุจริตอันแสนอุบาทว์นี้ กลับถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่ง


ที่มาที่ไปของเรื่องราว เริ่มจาก กฟผ.มีแผนปลูกป่าปีละ 100,000 ไร่ เป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 1 ล้านไร่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลนโดยต้องเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่มีบ้านคนอาศัยอยู่ และไม่ใช่ที่ดินทำกินของชาวบ้าน

กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น ป่าชายเลน รับผิดชอบโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็จะเป็นของกรมอุทยานฯ) จะจัดสรรและส่งมอบพื้นที่ป่าให้ กฟผ. แล้วรับไปดำเนินการจ้างชาวบ้านในพื้นที่ปลูกป่า จากนั้นจะมีกรรมการตรวจรับงานของทั้งกรมป่าไม้และ กฟผ. ลงพื้นที่ตรวจ ถ้าตรวจรับผ่าน ก็เบิกจ่ายงบประมาณตามปกติ

ร่างขอบเขตของงาน (Terms Of Reference หรือ TOR) นั้นกำหนดว่า
1.ต้องปลูกป่าให้ได้ 200 ต้นต่อ 1 ไร่
2.โดย 100 ไร่ เท่ากับ 20,000 ต้น
3.มีการทำแนวกันไฟ เส้นทางตรวจการ และต้นไม้ต้องโตไม่น้อยกว่า 85%(หรือยืนต้นตายได้ไม่เกินประมาณ 20 ต้นต่อไร่)
4.ส่วนการปลูกป่าไม่ใช่ว่าจะปลูกตอนไหนก็ได้ นึกอยากจะปลูกก็ปลูก โดยต้องปลูกก่อนช่วงฤดูฝนอย่างน้อย ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นกล้าไม้มีโอกาสยืนต้นได้ เพราะหากปลูกใน “ช่วงฤดูแล้ง” ต้นกล้าไม้ก็จะตายหมด ซึ่งจะไปขัดกับเงื่อนไข TOR


สำหรับ “โครงการปลูกป่าล้านไร่” ของ กฟผ. นี้มีการจัดสรรงบประมาณ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก ค่าปลูกต้นไม้ในปีแรก ตั้งราคากลางไว้ที่ 4,020 บาทต่อไร่ เพราะฉะนั้นถ้าปลูกปีละ 100,000 ไร่ ก็เท่ากับใช้งบประมาณปีละ 402 ล้านบาท โดยถ้าปลูกต่อเนื่อง 10 ปี รวมแล้วก็ต้องใช้งบประมาณ 4,020 ล้านบาท !!!

ส่วนที่สอง ค่าบำรุงรักษาต้นไม้เป็นเวลา 10 ปี ตั้งราคากลางไว้ที่ 1,250 บาทต่อไร่ ถ้าสมมติว่าปลูก 100,000 ไร่ เท่ากับปีละประมาณ 125 ล้านบาท ดูแลไปต่อเนื่อง 10 ปี รวมแล้วประมาณ 1,250 ล้านบาท

เท่ากับว่าทั้งหมดแล้ว“โครงการปลูกป่าล้านไร่”กฟผ. ต้องใช้งบประมาณในการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่า จำนวน 1,000,000 ไร่ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2574 รวมแล้วประมาณ 5,270 ล้านบาท !!!

ทั้งนี้ทั้งนั้นงบประมาณ 5,270 ล้านบาทดังกล่าว ยังไม่นับรวมงบประมาณส่วนอื่น เช่น งบประมาณของทีมงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจทั่วประเทศ ที่จะต้องมีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าโอที ค่าเดินทาง และค่าตั๋วเครื่องบินให้


“โครงการปลูกป่าล้านไร่” นี้ กฟผ. ได้ตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมาใหม่ คือ กองส่งเสริมมาตรการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม (กสป-ย.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับภารกิจนี้โดยตรง

ในปี ปีงบประมาณ 2565 กรมป่าไม้ได้มีการจัดสรรพื้นที่ให้ กฟผ. ดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่ จำนวน 97,000 ไร่ และได้ทำการปลูกป่าไปแล้วทั้งหมด ก่อนที่ กฟผ. จะตรวจรับงาน ทว่าการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2565 กลับมีความผิดปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ

ความผิดปกติแรก คือ ในปีงบประมาณ 2565 กรรมการตรวจรับ พื้นที่ปลูกป่าจำนวน 97,000 ไร่ ทั้งประเทศมีเพียง 2 คน คือ หนึ่งคนจาก กฟผ. ได้แต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือและอีก หนึ่งคนเป็น“ลูกจ้างจ้างเหมาบริษัท”

ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่า ป่าที่ปลูกตาม“โครงการปลูกป่าล้านไร่” ในปีงบประมาณ 2565 กรรมการตรวจรับ “ผ่านหมดทุกแปลงแบบไม่มีปัญหา” และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่เบิกจ่ายงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ 2565 งานปลูกป่าล้านไร่จ่ายเงินไปแล้วจำนวน 394 ล้านบาท ให้กับผู้รับจ้างปลูก

การตรวจรับแต่ละครั้ง ปกติถ้าต้องตรวจอย่างละเอียด ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ TOR ยกอย่างเช่น
-พื้นที่ป่า 100 ไร่ ต้องเดินเท้าประมาณ 500 เมตร
- พื้นที่ป่าก็ต้องไม่ใช่ทางเรียบ แต่เป็นภูเขา มีโขดหิน มีเหว ต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์ หรือนั่งรถไถเข้าไปยังจุดที่มีการปลูก
-ด้วยเหตุนี้แต่ละแปลงปลูกจึงต้องใช้เวลาอย่างน้อยแปลงปลูกละประมาณ 4 ชั่วโมง

ทว่า ผลงานการตรวจรับของกรรมการที่ให้ผ่านพบว่า แค่ไปถ่ายรูปหน้าป้ายแปลงปลูกป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจจริง


คำถามที่น่าสนใจมาก ก็คือ ในปีงบประมาณ 2565 กรรมการตรวจรับมีเพียงแค่ 2 คน แต่ต้องตรวจรับงานพื้นที่ป่าทั้งประเทศมากมายถึง 97,000 ไร่!
-เป็นไปได้หรือไม่?
-สมเหตุสมผลหรือไม่?

หรือ แท้จริงแล้ว กรรมการตรวจไม่ได้ตรวจอย่างละเอียดตามข้อกำหนดของ TORจริง แค่เซ็นชื่อไปให้จบๆ ?!?

ปีถัดมา ในปีงบประมาณ 2566 โครงการปลูกป่าล้านไร่ กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการจัดสรรพื้นที่ให้ กฟผ. อีกจำนวน 98,000 ไร่ แต่มีการเปลี่ยนชุดผู้บริหารโครงการฯ เนื่องจากมีการเลื่อนตำแหน่ง และแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่เข้ามารับหน้าที่ดูแลโครงการนี้แทน โดยงบประมาณแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก งานปลูกต้นไม้ ตั้งงบประมาณ 1 ไร่ = 4,020 บาท ได้รับการจัดสรรพื้นที่ 98,000 ไร่รวมประมาณ 393.96 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 งานบำรุงต้นไม้ ที่ปลูกในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 97,000 ไร่(ซึ่งจ่ายเงินไปเมื่อปีที่แล้ว 394 ล้านบาท)ตั้งงบประมาณ 1 ไร่ = 1,250 บาท รวมประมาณ 121.25 ล้านบาท

รวมงบประมาณในปี 2566 ทั้งสิ้น 515.21 ล้านบาท

แล้วก็เช่นเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้น งบประมาณปี 2566 งานปลูกต้นไม้และงานบำรุงต้นไม้ รวมประมาณ 515.21 ล้านบาทแต่ ไม่นับรวมงบประมาณส่วนอื่น เช่น งบประมาณออกตรวจทั่วประเทศของทีมงานเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องมีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าโอที ค่าเดินทาง และค่าตั๋วเครื่องบินให้


ปี 2566 นี้ การตรวจรับงานไม่ได้มีแค่ คน 2 คน คือ คนของ กฟผ. หนึ่งคน กับ ลูกจ้างจ้างเหมาอีกหนึ่งคนเหมือนในปี 2565 แล้ว แต่คราวนี้ กฟผ. แต่งตั้งกรรมการตรวจรับ 3 ชุด ได้แก่
ชุดที่ 1 นำโดยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ
ชุดที่ 2 นำโดยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภาคอีสาน และ
ชุดที่ 3 หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการภาคใต้

การตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานในปีที่ 2 นี่เองจึงนำมาสู่การ “โป๊ะแตก”

คือ มีคณะกรรมการตรวจรับอยู่ชุดหนึ่ง (ซึ่งมีอยู่ 3 คน) ลงพื้นที่ เฉพาะ จังหวัดแพร่ และ จังหวัดน่าน พบว่า พื้นที่แปลงบำรุงรักษา 4,570 ไร่ ผ่านการตรวจ 3,304 ไร่ ไม่ผ่านการตรวจ 1,446 ไร่ หรือคิดเป็นจำนวนพื้นที่มากกว่า 30% โดยปัญหาที่พบคือ

- หลายแปลง ไม่มีต้นไม้ครบถ้วน ตามจำนวนไร่ที่ระบุในสัญญาจ้าง

- บางแปลงปลูกต้นไม้เฉพาะด้านหน้าแปลงปลูก แต่พอเข้าไปด้านในลึกๆ กลับไม่พบว่ามีต้นไม้ที่แปลงปลูกเลย หรืออาจเรียกได้ว่า “ปลูกป่าทิพย์” ก็ได้

-นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่แปลงปลูก ไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้จริง เช่น พบไร่มันสำปะหลัง หรือ สวนยางพารา อยู่ในพื้นที่แปลงปลูก

-นอกจากนี้ งานปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาต้นไม้ไม่เป็นไปตาม TOR ของ กฟผ. ได้แก่ ไม่มีต้นไม้ตามจำนวนไร่ที่ระบุในสัญญาจ้าง ไม่มีแนวกันไฟและเส้นทางตรวจการ ไม่มีหลักไม้ หรือมีแต่ “หลักไม้” แต่ไม่มี “ต้นไม้” เลย เป็นต้น


ลักษณะการตรวจรับงานบำรุงรักษาไม่สอดคล้องกับการตรวจรับงานปลูกป่าปีงบประมาณ 2565 ที่กรรมการตรวจรับ 2 คน ตรวจรับงานผ่านทุกแปลง (จำนวน 97,000 ไร่) จึงสันนิษฐานกันว่ากรรมการตรวจรับชุดที่แล้วในปี 2565 อาจไม่มีการตรวจรับงานจริง

ความผิดปกติประการต่อมาคือ เมื่อมีการตรวจรับงานไม่ผ่านเพราะบางแปลงมีปัญหา กรรมการจึงตรวจแบบไม่ให้ผ่าน แม้จะมีการขยายระยะเวลาสัญญา คือ งานบำรุงป่า ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และขยายระยะเวลาสัญญางานปลูกใหม่ ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 แล้วก็ตาม กรรมการพบว่ายังไม่มีการแก้ไขให้เป็นไปตามที่ TOR กำหนด จึงยืนยันตรวจไม่ให้ผ่านเหมือนเดิม

สุดท้าย ผู้บริหาร กฟผ. กลับแก้ปัญหา “ปลูกป่าทิพย์” ด้วยการ “เปลี่ยนกรรมการยกชุด” เพื่อให้ตรวจรับงานผ่านทุกแปลง เพื่อให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณได้หมด !?!


นอกจากนี้ ชุดกรรมการตรวจรับที่ไม่ให้ผ่าน ที่พบเห็นความผิดปกติกลับมีคำสั่่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เพื่อกีดกันไม่ให้เข้าไปตรวจสอบโครงการได้อีก ทั้ง ๆ ที่กรรมการตรวจรับเหล่านี้ ยอมลำบากเดินเข้าป่า เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพื่อทำหน้าที่ตามได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ และช่วยรักษาผลประโยชน์ของ กฟผ. ไม่ให้งบประมาณรั่วไหล

พฤติกรรมผิดปกติดังกล่าว 2-3 ข้อของ “โครงการปลูกป่าล้านไร่” ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรับงาน และจ่ายเงินทั้ง ๆ ที่งานไม่ได้เสร็จจริง หรือ เป็นไปตาม TOR นั้น ในทางปฏิบัติก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต(เนื่องจาก กฟผ. นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน)

นอกจากนี้ยัง มีความผิดตามข้อบังคับ กฟผ. ฉบับที่ 428 และฉบับแก้ไขที่ 353 คือ“ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้ กฟผ. เสียหายอย่างร้ายแรง และทุจริตต่อหน้าที่”


สรุปแล้ว โครงการปลูกป่าล้านไร่ของ กฟผ. หากมองอย่างผิวเผิน แบบคนโลกสวยแล้ว ก็ถือเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR อย่างหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ, เพิ่มพื้นที่สีเขียว, สร้างประโยชน์จากการดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ, ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ สังคมของคนในชุมชน รวมทั้งดำเนินนโยบายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน

แต่เบื้องหลัง ของเหตุผลที่สวยหรูเหล่านี้ กลับเป็นความเน่าเฟะ และมีวาระซ่อนเร้น ในการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตงบประมาณของ กฟผ.ทำให้ กฟผ. สูญเสียงบประมาณนับร้อยนับพันล้านบาท

“เงินพวกนี้เป็นเงินค่าไฟที่พวกเราจ่ายกัน จากการขายส่งไฟ กฟผ. ที่แพงหูฉี่ เราจ่ายเงินค่าไฟแพง เพื่อให้ กฟผ. ไปทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้ผู้ใหญ่ใน กฟผ. ทำมาหารับประทานกับผลประโยชน์เต่างๆ เหล่านี้ ท่านผู้ชมฟังแล้วคิดว่าเป็นตลกร้ายของสังคมไทยหรือเปล่า มันบัดซบไปหมดแล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรที่ควรที่จะมีคุณธรรม ความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการทำงาน อย่างเช่น กฟผ.ครับ” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น